คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินบำเหน็จในการขายสินค้าก็ดี เงินบำเหน็จในผลกำไรของร้านค้าก็ดี ซึ่งนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรายปีนั้น คือ “สินจ้างชนิดอื่นเพื่อการงานที่ทำ” ตามป.พ.พ. มาตรา 165(8), สิทธิเรียกร้องเหล่านี้จะต้องฟ้องร้องเสียภายในกำหนดอายุความ 2 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเคยแต่งตั้งนายเอ็ม.อาร์.เซเนล เป็นผู้ช่วยผู้จัดการและเป็นผู้จัดการฝ่ายสินค้าเข้า นายเซเนลในฐานะตัวแทนจำเลยได้จ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งเสมียนตั้งแต่ 1 กันยายน 2493 โจทก์ลาออกจากงานเมื่อสิ้นกรกฎาคม2495 ตลอดปี 2494 โจทก์มีสิทธิตามข้อตกลงที่จะได้รับบำเหน็จในการขายเวชภัณฑ์เป็นเงิน 23,821.23 บาท ค่าบำเหน็จจากผลกำไรเท่ากับเงินเดือน 2 เดือนเป็นเงิน 3,000 บาท และในต้นปี 2495 โจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จค่าขายเวชภัณฑ์อีก 1,264.07 บาท จึงขอให้จำเลยใช้เงินที่จำเลยยังมิได้จ่ายรวม 28,085.30 บาท

จำเลยต่อสู้หลายประการและตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อต่อสู้ประการอื่นของจำเลยฟังไม่ขึ้นเว้นแต่

1. ค่าบำเหน็จในการขายเวชภัณฑ์ปี 2494 เป็นเงินที่จะต้องจ่ายเมื่อสิ้นปี 2494 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ 30 ก.ค. 2497 คดีจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 ข้อ 9 ประกอบด้วย มาตรา 169

2. เงินค่าบำเหน็จผลกำไรปี 2494 นั้นไม่มีข้อความปรากฏในเอกสารที่โจทก์ว่าเป็นเช่นนั้น จึงเรียกร้องไม่ได้

พิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ เฉพาะค่าบำเหน็จปี 2495 จำนวน1,264.07 บาท ซึ่งเป็นความจริงและคดียังไม่ขาดอายุความ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยศาลชั้นต้นเว้นแต่เรื่องอายุความนั้นพิพากษาแก้เป็นขาดอายุความตาม มาตรา 165(8)

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าบำเหน็จการขายเวชภัณฑ์ที่โจทก์เรียกร้องในปี 2494 นั้นเป็นสินจ้างชนิดอื่นเพื่อการงานที่ผู้รับจ้างได้กระทำตรงตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 165(8) ไม่มีทางจะปรับบทกับ มาตรา 166 ได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงขาดอายุความแล้วสำหรับเงินบำเหน็จผลกำไรเท่ากับเงินเดือน 2 เดือนนั้นก็เห็นว่าเป็นสินจ้างชนิดอื่นเพื่อการงานที่ผู้รับจ้างได้กระทำเช่นเดียวกันสิทธิเรียกร้องข้อนี้จึงขาดอายุความไปเหมือนกัน ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share