คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9931/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่1มีนาคม2534และข้อ5วรรคหนึ่งบัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา9วรรคสี่และวรรคห้ามาตรา10ทวิและมาตรา28วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้นการจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วยกรณีของโจทก์ทั้งสองนี้โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แล้วโจทก์ทั้งสองไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนจึงได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่2มีนาคม2534และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็ได้ใช้สิทธิฟ้องคดีขณะที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้นั้นเป็นเวลาภายหลังจากที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44มีผลใช้บังคับแล้วศาลย่อมมีอำนาจพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนโดยอาศัยกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา9วรรคสี่ที่แก้ไขใหม่ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44โดยพิจารณาค่าทดแทนตามมาตรา18,21,22และ24ได้มิต้องพิจารณาเฉพาะมาตรา21(2)หรือ(3)ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์และไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขราคาค่าทดแทนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ บัญชีพยานที่จำเลยขอระบุเพิ่มเติมเป็นพยานหลักฐานที่จะนำสืบว่าโจทก์ที่2ได้ขายที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนไปเมื่อวันที่30มีนาคม2537โดยจดทะเบียนขายตามราคาประเมินตารางวาละประมาณ2,500บาทแต่ปรากฏจากฎีกาของจำเลยเองว่าราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมิใช่ราคาซื้อขายกันจริงตามท้องตลาดราคาซื้อขายกันจริงอาจสูงกว่าตารางวาละ5,000บาทมากดังนั้นแม้จำเลยนำสืบได้ตามพยานหลักฐานที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวก็ไม่เป็นประโยชน์ในการที่นำมาประกอบการพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ต่ำลงกว่าที่ศาลกำหนดได้จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะอนุญาตให้จำเลยระบุพยานนั้นเพิ่มเติม แม้เจ้าหน้าที่ของจำเลยเสนอสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้อัยการจังหวัดขณะอัยการจังหวัดไม่อยู่ก็ต้องมีพนักงานอัยการอื่นที่รักษาราชการแทนและสามารถดำเนินการแทนกันได้และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนับวันของเจ้าหน้าที่รับสำนวนคดีแพ่งประจำสำนักงานอัยการจังหวัดของทนายจำเลยเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยการที่ทนายจำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกซึ่งจำเลยกำหนดเวลายื่นคำให้การ1วันเพราะเหตุทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้นมิใช่เหตุสุดวิสัยจำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนดเพราะเกิดจากความบกพร่องของฝ่ายจำเลยถือได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 2มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีสำนวนหลังแทน โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 14673 จังหวัดสงขลาโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19191, 19192จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2532 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 414สายน้ำกระจาย-บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (ควนลัง) และตอนทางแยกเข้าอำเภอหาดใหญ่ และเพื่อสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4135 สายทางแยกเข้าท่าอากาศยานหาดใหญ่ ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 414 – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4พ.ศ. 2532 และต่อมามีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 414สายน้ำกระจาย – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (ควนลัง)และตอนทางแยกเข้าอำเภอหาดใหญ่ และเพื่อสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4135 สายทางแยกเข้าท่าอากาศยานหาดใหญ่ ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 414 – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน ที่ดินของโจทก์ที่ 1โฉนดเลขที่ 14673 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 ไร่ 38.3 ตารางวาที่ดินของโจทก์ที่ 2 โฉนดเลขที่ 19191 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 งาน23.1 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 19192 ถูกเวนคืนจำนวนเนื้อที่2 งาน 43.5 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องถูกเวนคืนได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โดยกำหนดว่าที่ดินติดถนนกาญจนวนิชในระยะ 40 เมตรไร่ละ 500,000 บาท ระยะห่างออกไปไร่ละ 30,000 บาท โจทก์ที่ 1ได้เงินค่าทดแทนเป็นเงิน 381,650 บาท โจทก์ที่ 2 ได้เงินค่าทดแทนรวมเป็นเงิน 580,312.50 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดที่ขายกันไร่ละ 4,400,000 บาท และไม่เป็นธรรมโจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งพิจารณาเพิ่มเงินค่าทดแทนเป็นไร่ละ 525,000 บาท และไร่ละ131,250 บาท แต่ยังไม่เป็นธรรม โจทก์ที่ 1 ควรได้รับค่าทดแทนทั้งสิ้น 9,221,300 บาท จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1แล้ว 564,375.21 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 ควรได้รับค่าทดแทนทั้งสิ้น5,132,600 บาท จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว613,804.63 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1เพิ่มขึ้นอีก 8,656,924.79 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 2 เพิ่มขึ้นอีก4,518,795.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินอัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญารับเงินค่าทดแทนจากจำเลยคือวันที่17 ธันวาคม 2533 ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าทดแทนกับดอกเบี้ยดังกล่าวจนถึงวันฟ้องแก่โจทก์ที่ 1 รวมจำนวน 10,7.9,873.79 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน8,656,924.79 บาท นับแต่วันฟ้องสำนวนแรกจนกว่าชำระเสร็จและใช้เงินค่าทดแทนกับดอกเบี้ยดังกล่าวจนถึงวันฟ้องแก่โจทก์ที่ 2รวมจำนวน 5,606,066.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 4,518,795.37 บาท นับแต่วันฟ้องสำนวนหลังจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การสำนวนแรกว่า จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ถูกต้อง โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ซึ่งกำหนดให้ยึดถือหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(2) หรือ (3) แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากันที่ดินโจทก์ที่ 1 ถูกเวนคืนไปเมื่อ พ.ศ. 2532จึงไม่อาจนำประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534มาใช้คิดเงินค่าทดแทนได้ การยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นการยื่นอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 ซึ่งต้องอาศัยข้อเท็จจริงและหลักฐานชุดเดียวกับที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นพิจารณา โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่โจทก์ที่ 1 ซื้อที่พิพาทมาในราคาถูกเพื่อขายเก็งกำไร เงินค่าทดแทนที่เรียกมาจึงสูงเกินส่วน จากการเวนคืนของจำเลยทำให้ที่ดินส่วนที่มิได้ถูกเวนคืนของโจทก์ที่ 1 มีราคาสูงขึ้น จึงต้องนำราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยสำนวนหลังขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 974,850 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 1,752,727 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นข้างต้น แต่ไม่เกินอัตราที่โจทก์ทั้งสองขอ นับตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 พฤศจิกายน2535) ตามที่โจทก์ขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ ทั้ง สอง สำนวน และ จำเลย ทั้ง สอง สำนวน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 3,627,124.79 บาท และให้โจทก์ที่ 2จำนวน 1,719,195.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ทั้ง สอง สำนวน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกเวนคืนได้กำหนดค่าทดแทนโดยปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการแล้ว ศาลจะนำประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มาใช้บังคับปรับเพิ่มค่าทดแทนใหม่อีกไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายที่ออกใช้ภายหลังจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้จ่ายค่าทดแทนไปแล้วตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 10 ทวิ ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 2 จะทำได้ต่อเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขค่าทดแทน แต่กรณีนี้รัฐมนตรีมิได้ดำเนินการแก้ไขโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด เห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม2534 และข้อ 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่และวรรคห้า มาตรา 10 ทวิ และมาตรา 28 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาด ในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย กรณีของโจทก์ทั้งสองนี้โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แล้ว โจทก์ทั้งสองไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนจึงได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่2 มีนาคม 2534 และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้ใช้สิทธิฟ้องคดี ขณะที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้นั้นเป็นเวลาภายหลังจากที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 9 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 โดยพิจารณาค่าทดแทนตามมาตรา 18, 21,22 และ 24 ได้ มิต้องพิจารณาเฉพาะมาตรา 21(2) หรือ (3)ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ และไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขราคาค่าทดแทนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่
มีปัญหาตามฎีกาจำเลยต่อไปว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์ตารางวาละ 5,000 บาท ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้นโดยพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5)ทั้งห้าอนุมาตรา การกำหนดเงินค่าทดแทนโดยถือตามราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6เพียงอย่างเดียว ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) เท่านั้น ไม่ชอบและกรณีของโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 14673 เมื่อ พ.ศ. 2531ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้สำรวจและวางแนวเขตทางแล้วและโจทก์ที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าถูกเขตทางแต่ยังซื้อไว้เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและซื้อมาเพื่อค้าขายเก็งกำไร ทำให้ราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามท้องตลาดเพิ่มสูงมาก และการกำหนดราคาค่าทดแทนในราคาเดียวกันตลอดทั้งแปลง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับประโยชน์ฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นธรรมแก่รัฐและสังคม ทั้งโจทก์ทั้งสองได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและการสร้างถนนสายพิพาทเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะนอกจากนี้โจทก์ทั้งสองได้รับประโยชน์จากการสร้างทางหลวงสายพิพาทยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป ค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดโดยแบ่งที่ดินออกเป็นโซนนั้นชอบแล้ว พิเคราะห์แล้วจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่26 มีนาคม 2534 นางพวงแก้ว สุทธิมาลา ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 11251 เนื้อที่ 1 งาน 5.2 ตารางวา ซึ่งอยู่ใกล้กับที่พิพาททั้งสามแปลงให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยจดทะเบียนซื้อขายกันทั้งแปลงในราคา 4,400,000 บาท เฉลี่ยตารางวาละ10,858.83 บาท และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2534 เจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสงขลา ได้ตรวจสอบสภาพที่ดินโฉนดเลขที่ 127966, 36583, 31485 และ น.ส.3 ก. เลขที่ 1912ซึ่งอยู่ติดต่อกันบางแปลงติดถนนกาญจนวนิชแต่บางแปลงไม่ติดถนนที่ดินดังกล่าวนี้อยู่ใกล้กับที่พิพาททั้งสามแปลงเช่นกัน แล้วได้ทำการประเมินราคาที่ดินดังกล่าวเฉลี่ยกันตารางวาละ 10,000 บาทเพื่อใช้เป็นราคาในการรับจดทะเบียนจำนองจากโจทก์ทั้งสองที่ดินที่ซื้อขายและจำนองกันดังกล่าวอยู่บริเวณใกล้กันและอยู่ใกล้กับที่พิพาททั้งสามแปลงทั้งระยะเวลาและราคาที่กระทำการซื้อขายและจำนองก็ใกล้เคียงกันจึงน่าเชื่อว่าใน พ.ศ. 2534ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินในบริเวณดังกล่าวซึ่งอยู่ติดถนนกาญจนวนิชซึ่งรวมทั้งที่พิพาททั้งสามแปลงด้วยมีราคาตารางวาละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท แม้ราคาดังกล่าวนี้เป็นราคาภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ประมาณ 2 ปี และเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นเพราะจะมีการสร้างและขยายถนนเดิมให้กว้างขึ้นด้วยก็ตามแต่เดิมที่พิพาททั้งสามแปลงอยู่ติดกับถนนกาญจนวนิชซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดินอยู่แล้ว ดังนั้นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่พิพาททั้งสามแปลงในวันที่ 29 สิงหาคม 2532อันเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ คงต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดใน พ.ศ. 2534ไม่มากนัก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนได้อาศัยหลักเกณฑ์เดียวกับคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น โดยถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเกณฑ์กำหนดราคาค่าทดแทนที่ดิน ไม่ชอบ แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคำนึงถึงมาตรา 21(1), (4), (5) เข้ามาประกอบกับราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นใช้กำหนดตามมาตรา 21(2), (3) และได้พิจารณาสภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามที่ศาลชั้นต้นได้ไปเดินเผชิญสืบ ประกอบราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดที่โจทก์ที่ 1 ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 14673 เมื่อ พ.ศ. 2531และราคาที่ซื้อขายที่ดินใกล้เคียงหลังจากพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว 2 ปี ราคาเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นประชุมแก้ไขแต่ได้ยกเลิกในภายหลังราคาไร่ละ1,450,000 บาท ประกอบกันแล้วกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 5,000 บาท เหมาะสมและเป็นธรรมแล้วและราคาดังกล่าวย่อมเป็นราคาของที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งหมด การวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยได้คำนึงถึงมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แล้ว และเป็นราคาที่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองผู้ถูกเวนคืนและสังคมชอบด้วยมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) หาใช่กำหนดเงินค่าทดแทนโดยถือตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) เพียงอย่างเดียวไม่ และการกำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่โจทก์ที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามโฉนดเลขที่ 14673 นั้น ต้องเป็นไปตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) มิใช่ราคาที่ดินที่โจทก์ที่ 1ซื้อมาหรือสร้างขึ้นใหม่ การฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1 เป็นการใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมายไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและที่พิพาททั้งสามแปลงแต่ละแปลงมีเนื้อที่ไม่มาก ทั้งโฉนดเลขที่ 14673, 19191 และ 19192 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 ไร่38.3 ตารางวา, 2 งาน 23.1 ตารางวา และ 2 งาน 43.5 ตารางวาตามลำดับ ปกติทั่วไปการซื้อขายที่ดินโดยเฉพาะที่ดินแปลงเนื้อที่ไม่มากจะซื้อขายกันเฉลี่ยราคาเดียวกันทั้งแปลง ที่พิพาททั้งสามแปลงสามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของที่ดินในลักษณะเดียวกันได้และเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนสูงสุดเพียง 2 ไร่ 38.3 ตารางวาไม่มากจนถึงกับมีความจำเป็นจนถึงกับมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆ ดังที่จำเลยฎีกา แม้ว่าการเวนคืนที่พิพาททั้งสามแปลงเพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดินอันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเสียหายของโจทก์ทั้งสองผู้ถูกเวนคืนที่ดินได้รับด้วยจะยกข้ออ้างเรื่องทำประโยชน์ของรัฐที่ต้องการบริการสาธารณะแล้วกำหนดค่าทดแทนที่ดินโดยไม่ยึดถือบทบัญญัติของกฎหมายหาได้ไม่
จำเลยฎีกาต่อไปว่า ดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ศาลวินิจฉัยให้เพิ่มขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองต้องเริ่มคิดจากวันฟ้องนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นและมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซื้อได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2533 ตามบันทึกข้อตกลงฯ เอกสารหมาย จ.34 และ จ.35 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 16 เมษายน 2534 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ12.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี คงที่ นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์2534 อันเป็นวันที่มีการจ่ายเงินค่าทดแทนเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง
สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมและขอนำพยานเข้าสืบเพิ่มเติมกรณีโจทก์ที่ 2 ได้ขายที่ดินส่วนที่เหลือภายหลังจากมีการฟ้องคดีนี้แล้วนั้น เห็นว่า บัญชีพยานที่จำเลยขอระบุเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่จะนำสืบว่าโจทก์ที่ 2 ได้ขายที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2537 โดยจดทะเบียนขายตามราคาประเมินตารางวาละประมาณ 2,500 บาท แต่ปรากฏจากฎีกาของจำเลยเองว่าราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าว มิใช่ราคาซื้อขายกันจริงตามท้องตลาดราคาซื้อขายกันจริงอาจสูงกว่าตารางวาละ 5,000 บาทมาก ดังนั้นแม้จำเลยนำสืบได้ตามพยานหลักฐานที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวก็ไม่เป็นประโยชน์ในการที่นำมาประกอบการพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ต่ำลงกว่าที่ศาลกำหนดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมนั้นชอบแล้ว
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลควรอนุญาตให้จำเลยในสำนวนหลังยื่นคำให้การแก้คดี โดยอ้างว่า นายธีระ วรรณวีระ เจ้าหน้าที่รับสำนวนคดีแพ่งประจำสำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา รับสำเนาคำฟ้องและหมายนัดจากนิติกรจำเลยในวันที่ 24 ธันวาคม 2535 และเข้าใจผิดว่านับ 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2535 มิใช่วันที่ 9ธันวาคม 2535 การที่นายธีระเสนอสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้อัยการจังหวัดสงขลาขณะไม่มีตัวอยู่และความเข้าใจผิดของนายธีระดังกล่าวแล้ว ทนายจำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2535 ซึ่งเลยกำหนดเวลายื่นคำให้การ 1 วันจึงเป็นเหตุสุดวิสัย เห็นว่า แม้อัยการจังหวัดสงขลาไม่อยู่ก็ต้องมีพนักงานอัยการอื่นที่รักษาราชการแทนและสามารถดำเนินการแทนกันได้และความเข้าใจผิดดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทนายจำเลยเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลย เหตุทั้งสองประการตามที่จำเลยอ้างข้างต้นมิใช่เหตุสุดวิสัย ที่จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนดเกิดจากความบกพร่องของฝ่ายจำเลยถือได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การในสำนวนหลัง ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การในสำนวนหลังนั้นชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยชำระเพิ่ม แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share