แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามหลักกฎหมายถือว่า สิทธิทางทะเบียนตามชื่อในโฉนดย่อมเหนือกว่าสิทธิครอบครองแม้จะมีคำพิพากษาว่าโฉนดทับที่ของจำเลยถ้าโจทก์รับโอนโฉนดมาจากคู่ความเดิมคำพิพากษานั้นก็ไม่มัดโจทก์ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีเดิมโดยมิได้มีคำพิพากษาให้ทำลายโฉนดนั้นโจทก์จึงยังคงเป็นผู้รับโอนทางทะเบียนหาใช่รับโอนดุจเป็นที่ดินมือเปล่าไม่แต่ถ้าโจทก์ซื้อที่ดินนั้นมาโดยรู้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของโจทก์ก็ไม่สุจริตจะอ้างสิทธิทางทะเบียนยันจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
คดีเรื่องนี้โจทก์ฟ้องกล่าวความว่า โจทก์ทั้งสองกับผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2281, 2282, 2283, 2284 และ 2285 รวม 5 โฉนดติดต่อเป็นผืนเดียวกัน รวมเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ที่ตำบลโยธกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อพ.ศ. 2493 นายพัดจำเลยแต่ผู้เดียว ได้มาตกลงเช่าที่ดินของโจทก์ทำนาส่วนหนึ่งกินที่ทั้ง 5 โฉนดเป็นเนื้อที่รวมกัน 170 ไร่ ค่าเช่าไร่ละ 3 ถังข้าวเปลือกแล้วนายพัดจำเลยเอาไปจัดการแบ่งให้นายจ้อยจำเลยกับพวกเช่าทำอีกต่อหนึ่ง การเช่าของนายพัดสิ้นสุดเพียงฤดูเก็บเกี่ยว พ.ศ. 2493 ส่วน พ.ศ. 2494 จำเลยมิได้มาตกลงเช่าที่ดินต่อโจทก์อีก แต่เดือน 6 พ.ศ. 2494 จำเลยกับบริวารได้พากันเข้าไปไถคราด และหว่านข้าวในที่ดินประมาณ 170 ไร่เดิมนั้นโจทก์ไปเตือนให้มาตกลงในเรื่องเช่าเสียก่อนกลับบิดพริ้วผัดเพี้ยนไม่มีกำหนดแน่นอน ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรจะได้ปีละ 4,080 บาท จึงขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 4,080 บาท และต่อไปปีละ 4,080 บาท จนกว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป
นายพัดจำเลยให้การรับรองสมฟ้องโจทก์
นายจ้อยจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่า ไม่เคยเช่าที่นาจากผู้ใดที่นาพิพาท ที่จำเลยทำอยู่เป็นของปู่ ย่า ตกทอดมาถึงบิดาและตัวจำเลยเองได้ครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมาโดยเปิดเผยรวมเวลาไม่น้อยกว่า 80 ปี ซึ่งโจทก์ก็ทราบดีอยู่แล้ว บรรพบุรุษของจำเลยเคยเป็นความกับผู้อื่นในเรื่องที่ดินรายนี้และชนะคดีมาแล้วหลายเรื่องโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตสมคบกับนายพัดจำเลยเจตนาฉ้อฉลเอาที่ดินของจำเลยเท่านั้น และแม้โจทก์จะมีชื่อในโฉนด โจทก์ก็รับโอนมาโดยไม่สุจริตและรู้อยู่ว่าที่ดินดังกล่าวถูกรอนสิทธิมานานแล้ว
ระหว่างพิจารณานายจ้อย จำเลยถึงแก่ความตาย นางบุญธรรมภรรยาของนายจ้อยจำเลยร้องขอเข้ารับมรดกความ ศาลอนุญาต
คู่ความรับรองกันว่า ที่พิพาทในคดีเรื่องนี้อยู่ภายในบริเวณเส้นสีน้ำเงินหมาย ก.ข.ค.ง. ในแผนที่วิวาทหมาย จ.ล.1 เนื้อที่ประมาณ 68 ไร่ 1 งาน 80 วา
ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้ว เห็นว่า ที่นารายพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินรวม 5 โฉนดของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้รับโอนมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำพิพากษาตามสำนวนเก่าคดีแดงที่ 158/2472 ไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกได้ ฝ่ายจำเลยมิได้มีหลักฐานทางทะเบียนแต่ประการใด และการนำสืบในเรื่องครอบครองก็ไม่น่าเชื่อจึงต้องรับฟังว่าเป็นที่ดินของโจทก์ เมื่อจำเลยเข้าไปทำนาในที่พิพาทก็เป็นการละเมิด และคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ปีละ 1,632 บาท จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,632 บาทและปีต่อ ๆ ไปอีกปีละ 1,632 บาทจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาท และห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องต่อไป
นางบุญธรรมผู้รับมรดกความของนายจ้อย จำเลยแต่ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่นารายพิพาทนี้ ศาลฎีกาได้พิพากษาแล้วตามสำนวนแพ่งคดีแดงที่ 158/2472 ว่าโฉนดที่ดินทั้ง 5 โฉนดนี้ทับที่ดินของนางใยมารดาจำเลยซึ่งครอบครองอยู่ จึงไม่มีผลให้ผู้รับโฉนดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวนี้ โจทก์ซึ่งอาศัยสิทธิจากโฉนดดังกล่าวแล้วจึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยซึ่งได้ครอบครองที่พิพาทสืบต่อมาจากนางใย มารดาเท่ากับว่าโจทก์รับโอนมามือเปล่า ข้อวินิจฉัยจึงมีต่อไปว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2491 ซึ่งโจทก์ได้รับโอนโฉนดมานั้นใครเป็นผู้ครอบครองที่ดินรายพิพาท ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ครอบครองมาฝ่ายเดียว โจทก์หาได้เคยครอบครองไม่ ที่อ้างว่านายพัดเช่าทำก็รับฟังไม่ได้ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ยกฟ้องของโจทก์
โจทก์ทั้งสองฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์ของทนายโจทก์จำเลยและตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว
ปัญหาในชั้นนี้คงมีเฉพาะข้อพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนายจ้อยจำเลยคนเดียวเท่านั้น
ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิม หลวงโยธาณัติการได้ซื้อที่ดินตามใบกรอกของบริษัทขุดคลองและคูนาสยามรวมผืนใหญ่เนื้อที่ 1,000 ไร่เศษแล้วขอออกโฉนดที่ดินโดยตัดแบ่งเป็นแปลง ๆ มีเนื้อที่โฉนดละประมาณ 100 ไร่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกันกับที่นารายพิพาทนี้ก็คือโฉนดที่ 2281, 2282, 2283, 2284 และ 2285 รวม 5 โฉนดติดต่อกัน ซึ่งมีรูปที่ดินขวางตะวัน คือยาวจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ส่วนที่นาพิพาทรูปที่ดินยาวตามตะวันพาดกลางที่ดินทั้ง 5 โฉนดนั้นเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดเหล่านี้ให้แก่หลวงโยธาณัติการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2464 และได้ทำการโอนกันต่อ ๆ มา จนถึงพระยาอรสุมพลาภิบาลรับซื้อไว้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2470 และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2471 พระยาอรสุมพลาภิบาลได้ฟ้องนางใยขับไล่ออกจากที่นาแปลงพิพาทนี้ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามที่มีชื่อในโฉนดที่ดินเหล่านั้น ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่า “โฉนดที่ดินทั้ง 5 โฉนด ออกทับที่ดินของนางใยซึ่งได้ปกครองอยู่ก่อนเกินกว่า 10 ปี และโดยที่นางใยไม่ได้ยินยอมให้ผู้อื่นเข้ารับโฉนดในที่ดินของตน จึงเป็นการออกโฉนดทับที่ของผู้อื่นผู้รับโฉนดหาได้กรรมสิทธิ์ไม่” ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 969/2473 ในสำนวนแพ่งคดีแดงที่ 158/2472 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทราที่จำเลยอ้างมานั้น
ตั้งแต่นั้นนางใยก็คงครอบครองที่นารายพิพาทตลอดมาเช่นเดิมเมื่อนายจอนสามีและตัวนางใยตายไปแล้ว นายจ้อย จำเลยผู้บุตรเป็นคนรับมรดกและได้ครอบครองเรื่อยมาจนบัดนี้ ฝ่ายเจ้าของโฉนดก็คงยึดถือโฉนดและโอนกันต่อ ๆ มาอีก จนถึงวันที่ 22 กันยายน 2491 โจทก์ทั้งสองกับพวกรวม 13 คน ร่วมกันซื้อที่ดิน 5 โฉนดนี้มาแล้วโจทก์ได้เป็นความฟ้องร้องนายจ้อย จำเลยเป็นคดีเรื่องนี้
คู่ความในคดีเรื่องนี้ต่างโต้แย้งและอ้างสิทธิของตนไปคนละทางคือฝ่ายโจทก์อ้างสิทธิทางทะเบียนโดยที่มีชื่อในโฉนดที่ดิน ส่วนนายจ้อยจำเลยอ้างทางสิทธิครอบครอง ซึ่งตามหลักกฎหมายถือว่าสิทธิทางทะเบียนโดยที่มีชื่อในโฉนดที่ดินนั้น ย่อมเหนือกว่าสิทธิครอบครอง ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 และ 1373 เป็นอาทิ
ตั้งแต่นางใยชนะคดีเรื่องก่อนมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2473 ตลอดมาเป็นระยะเวลาถึง 20 ปี นางใยก็ดี สืบต่อมาจนถึงนายจ้อย จำเลยเองก็ดีไม่ได้สนใจที่จะก่อตั้งสิทธิของตนทางทะเบียนเสียเลย ไม่พยายามที่จะจัดการขอหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินของตนเป็นประการต้น และทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ดีแล้วว่าโฉนดที่ดินของคนอื่นออกทับที่ดินของตนอยู่ แต่ก็มิได้สนใจที่จะดำเนินการร้องขอต่อศาล หรือเจ้าพนักงานที่ดินให้ทำลายโฉนดที่ดินตอนที่ออกทับที่ของตนนั้นเสีย คงปล่อยปละละเลยเรื่อยมาซึ่งฟังว่าเป็นความผิดของตนโดยไม่มีข้อแก้ตัวประการใดเลย จำเลยจะถือแต่เพียงว่าศาลเคยพิพากษาให้นางใยมารดาของจำเลยชนะคดีมาแล้ว โฉนดที่ดินย่อมใช้ไม่ได้ไปเองในตัวนั้นไม่ได้และเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่า “เมื่อโฉนดที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ไม่มีผลตามกฎหมาย ให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทมาตั้งแต่แรกแล้ว โจทก์ผู้รับโอนมาก็เท่ากับรับโอนมามือเปล่า” นั้น ศาลฎีกาก็ไม่เห็นพ้องด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเหตุว่าคำพิพากษาในคดีเรื่องก่อน ศาลชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างพระยาอรสุมพลาภิบาลกับนางใยว่าใครเป็นผู้มีสิทธิดีกว่ากันในที่พิพาทแปลงนี้เท่านั้น หาได้พิพากษาให้ทำลายโฉนดที่ดินเหล่านั้นประการใดไม่ หลักฐานทางทะเบียนที่หอทะเบียนที่ดินก็ดีหลักฐานตามโฉนดที่ดินก็ดี คงเป็นอยู่ตามเดิมนั้นเองตลอดมาจำเลยสมควรที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเองบ้าง ตามแนวทางที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ฝ่ายจำเลยก็มิได้กระทำประการใดเลยแม้แต่น้อยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนโฉนดเหล่านี้มาโดยได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วโดยชอบ โฉนดเหล่านี้จึงยังเป็นประโยชน์แก่โจทก์อยู่
สุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” ดังที่จำเลยกล่าวอ้างมานั้นจะนำมาใช้ในคดีเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินรายพิพาทของจำเลยนี้ยังหาได้จดทะเบียนไว้ไม่จึงไม่อาจใช้ยันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้จดทะเบียนสิทธิไว้แล้วเช่นนี้ได้ เว้นไว้แต่จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่สุจริตหรือไม่ได้เสียค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองอันเป็นทางแก้ประการเดียวในคดีเรื่องนี้
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองกับพวกรวม 13 คนร่วมกันออกเงินซื้อจากเจ้าของโฉนดที่ดินเดิม และลงชื่อในโฉนดที่ดินเหล่านี้ทั้ง 13 คน ปัญหาในเรื่องเสียค่าตอบแทนนั้นเป็นอันรับฟังได้ว่าเป็นความจริงคดีคงเหลือปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไป ก็คือในเรื่องความสุจริตของโจทก์
ปัญหาข้อนี้ จำเลยนำสืบว่าฝ่ายจำเลยก่นสร้างและครอบครองที่นารายพิพาทนี้สืบต่อเนื่องกันมาประมาณ 80 ปีแล้ว ไม่เคยเช่าต่อผู้ใดบ้านโจทก์อยู่ห่างที่นารายพิพาทระยะทางประมาณ 20 เส้นเศษและโจทก์รู้จักที่นาของจำเลยดี และจำเลยนำนายจ้อย พวงลำใย เข้ามาสืบนายจ้อย พวงลำใย คนนี้เป็นคนหนึ่งในจำนวน 13 คน ที่ซื้อที่ดิน 5 โฉนดนี้ร่วมกับโจทก์ และยังมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ในโฉนดเหล่านี้เช่นเดียวกันกับโจทก์และบุคคลอื่น ๆ นายจ้อยพวงลำใย ให้การยืนยันว่าที่นารายพิพาทเป็นของจำเลย ฝ่ายจำเลยครอบครองมานานแล้วตั้งแต่ครั้งบิดามารดาของจำเลย โฉนดที่ดินออกมาทับที่ของจำเลย นางใยมารดาของจำเลยจึงต้องเป็นความกับพระยาอรสุมพลาภิบาล ตอนที่พยานกับโจทก์และคนอื่น ๆ รวมเงินกันซื้อที่ตามโฉนดที่ดินมานั้น พยานยืนยันว่าการซื้อไม่ได้เกี่ยวกับที่นารายพิพาทนี้เลย ที่นารายพิพาทของจำเลยเป็นอยู่อย่างไรก็คงเป็นอยู่ตามเดิม คงเอาแต่ที่ดินนอกที่รายพิพาท คือทางตอนเหนือและตอนใต้แบ่งปันกันไปตามส่วนที่ต่างคนออกเงินซื้อ พยานได้ที่ตอนหนึ่งติดกับที่รายพิพาทนี้ทางด้านใต้ และโจทก์ทั้งสองไม่เคยเข้าครอบครองที่รายพิพาทนี้เลย ซึ่งแสดงว่าผู้รับโอนโฉนดที่ดินรู้อยู่แล้วว่าที่นารายพิพาทเป็นของจำเลย จึงไม่ได้เกี่ยวข้องประการใดในที่นารายนี้
ตัวโจทก์เองก็เบิกความรับว่าก่อนซื้อเห็นจำเลยทำนาแปลงพิพาทนี้อยู่ตลอดมาจนบัดนี้ แต่เลี่ยงไปเสียว่าตอนก่อนซื้อนั้นทราบว่าจำเลยเช่าจากภรรยาพระสุนทรซึ่งเป็นเจ้าของโฉนดเดิม และตอนหลังซื้อแล้วจำเลยเช่าจากนายพัดจำเลยที่ 1
เฉพาะตอนก่อนซื้อ ที่อ้างว่าจำเลยเช่าจากภรรยาพระสุนทร โจทก์ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันว่าเป็นความจริงเช่นนั้น นายระเบียบโจทก์ที่ 1 ให้การว่าทราบจากนายเหรียญบิดาของตนเป็นคนบอกเท่านั้นเอง เป็นการซัดทอดไปหานายเหรียญผู้ซึ่งตายไปแล้วตั้งหลายปีพิเคราะห์ตามคำให้การของนายเหรียญซึ่งเคยให้การไว้ในสำนวนเรื่องก่อนที่จำเลยอ้างมาประกอบกลับได้ความว่านารายพิพาทเป็นของนายจอน นางใยมาช้านานแล้ว นางปุ่นบุตรของหลวงโยธาณัติการเคยขอให้นายเหรียญไปห้ามนางใย นายเหรียญยังโต้เถียงว่าเป็นที่ของเขาจะไปห้ามเขาได้อย่างไรดังนี้เป็นต้น ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้
นอกจากนี้โจทก์เบิกความรับรองว่า ที่ดินที่ร่วมกันซื้อมานั้นได้จัดแบ่งปันกันไปหมดสิ้นทั้ง 13 คนแล้ว แต่ยังคงเหลือที่พิพาทนี้อยู่ ซึ่งนายระเบียบโจทก์ที่ 1 ให้การว่ายกเอาไว้เป็นกองกลางคือผู้ซื้อทั้ง 13 คน ยังเป็นเจ้าของอยู่ และนายระเบียบมอบให้นายหมาโจทก์ที่ 2 จัดการให้คนเช่าทำต่อมา ได้ค่าเช่าเท่าใดก็แบ่งปันกันระหว่างโจทก์ 2 คนเท่านั้นเพราะเจ้าของอีก 11 คน ยอมยกให้ไม่เอาส่วนแบ่ง คำให้การเช่นนี้ไม่เห็นมีเหตุผลที่จะกระทำให้น่าเชื่อได้ประการใด เมื่อแบ่งกันแล้วก็ควรที่จะแบ่งปันกันเสียให้สิ้นตอนหมดภาระไปเลยทีเดียว จะยกเอาไว้เป็นกองกลางทำไมกันอีกมากมายเช่นนั้น และจำเพาะจะยกเอาไว้เป็นกองกลางเฉพาะในวงที่พิพาทกันนี้ ซึ่งไม่ใช่ที่ดินเพียงเล็กน้อย แต่นายหมา โจทก์ที่ 2 ให้การไปเสียอีกทางหนึ่งว่าเจ้าของอีก 11 คน ไม่เอาที่ดินตอนนี้ตกลงให้เป็นของโจทก์ทั้งสองทั้งหมดเลยทีเดียว เหตุผลของโจทก์ทั้งสองคนจึงไม่ตรงกันกลับรับสมกับคำให้การของนายจ้อยพวงลำใย พยานจำเลยที่ว่าผู้ซื้อต่างรู้กันอยู่ดีแล้วว่าที่นารายพิพาทเป็นของจำเลย จึงไม่มีใครเข้าไปเกี่ยวข้องคงแบ่งปันกันเฉพาะที่ดินนอกที่นารายพิพาทเท่านั้น หากแต่โจทก์ทั้งสองเกิดความโลภหวังว่าจะรวบเอาได้โดยยึดถือโฉนดที่ดินเป็นหลัก จึงเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นเช่นนี้
อนึ่ง น่าสังเกตรูปเรื่องตามฟ้องของโจทก์อ้างว่าให้นายพัดจำเลยที่ 1 เช่าไป แล้วนายพัดจำเลยที่ 1 เอาไปให้นายจ้อย จำเลยเช่าต่อหลักฐานในการเช่าดังที่กล่าวอ้างนี้ โจทก์ก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นได้ประการใดนายระเบียบ โจทก์ที่ 1 ไม่รู้เห็นในการเช่าเช่นว่านั้นเลย โยนเรื่องไปให้นายหมา โจทก์ที่ 2 โดยอ้างว่ามอบให้นายหมาไปจัดการ ส่วนนายหมาโจทก์ที่ 2 อ้างต่อไปว่า ให้นายพัด จำเลยที่ 1 เช่าไปทั้งหมด สัญญาเช่าก็ไม่มี พยานบุคคลประกอบก็ไม่มี แม้แต่ตัวนายพัดจำเลยที่ 1 ก็ไม่กล้าอ้างเข้ามาสืบดังนี้แล้ว จะให้เชื่อได้อย่างไรว่านายจ้อย จำเลยที่ 2 เช่าที่รายพิพาทนี้จากนายพัด จำเลยที่ 1 ดังข้อหาของโจทก์
อาศัยเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวมา ศาลฎีกาเห็นว่าที่นารายพิพาทนี้เป็นของนายจ้อย จำเลยครอบครองสืบต่อเนื่องจากบิดามารดามาช้านานหลายสิบปีแล้ว โจทก์รับโอนโฉนดที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วเป็นการจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่มีสิทธิในที่รายพิพาทนี้ดีกว่านายจ้อย จำเลย
เหตุฉะนี้ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนในผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องของโจทก์สำหรับนายจ้อย จำเลยนี้ ให้ยกฎีกาของโจทก์และให้โจทก์เสียค่าทนายชั้นนี้แก่นายจ้อย จำเลยเป็นเงิน 150 บาท