แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ที่เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล โดยมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไม่จดทะเบียนโอนมรดกให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ไม่เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างมาในคำฟ้องว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกถ้อยคำของทายาทที่แสดงเจตนาไม่รับมรดกที่ดินดังกล่าวว่าผู้ฟ้องคดีได้ตกลงกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าจะไม่รับมรดกที่ดินพิพาท โดยตกลงรับเงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แทน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้นำหนังสือแสดงการไม่รับมรดกที่ผู้ฟ้องคดีพร้อมทายาทอื่นแสดงเจตนาไม่ขอรับมรดกที่ดินพิพาท โดยยินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นผู้รับมรดกที่ดินดังกล่าวแทนมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นทายาทยังมีข้อพิพาทกันในเรื่องที่ว่าด้วยทรัพย์มรดกอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในที่ดินพิพาทจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๕๙
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเวียงสระ
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ นายสุรศักดิ์ ทวีศักดิ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาบ้านนาสาร ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี นางล้อมศรี ชูทรัพย์ ผู้ร้องสอดในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๙๒/๒๕๕๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์และเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ตำบลนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ ๖๑ ไร่ ๒ งาน ๔๕ ตารางวา ของนางบุญสม ทวีศักดิ์ มารดาของผู้ฟ้องคดี ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ มีคำสั่งไม่เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินของนางบุญสม ตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินดังกล่าวเป็นไปโดยมีเจตนาทุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแก้ไขเอกสารในคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ท.ด. ๑ ก.) ฉบับลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๔ (ที่ถูกคือ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๔) และแบบบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดก (ท.ด. ๘) ประเภทโอนมรดก ฉบับลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๔ โดยเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิได้ใช้น้ำยาลบคำผิดชื่อผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ขอรับโอนมรดกร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เพื่อจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แต่ผู้เดียว ทั้งที่ในวันยื่นคำร้องขอโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้แสดงความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และลงนามในเอกสารที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และเข้าใจว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อขอรับมรดก โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบเกี่ยวกับข้อความในเอกสารดังกล่าว แต่ความปรากฏในภายหลังว่าผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อในบันทึกแสดงความประสงค์ไม่รับมรดก ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือแจ้งว่าการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วและไม่อาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกดังกล่าวได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกถ้อยคำของทายาทที่แสดงเจตนาไม่รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ตกลงกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าจะไม่รับมรดกที่ดินแปลง น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ โดยตกลงรับเงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แทน ดังนั้นเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิจึงได้แก้ไขเอกสารให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง แต่มิได้แก้ไขประกาศ (ท.ด. ๒๕) เรื่อง โอนมรดก ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๔ นอกจากนี้ในแบบ ท.ด. ๑ ก. และแบบ ท.ด. ๘ ก็มีเพียงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ลงลายมือชื่อเป็นผู้ขอรับมรดกและผู้ให้ถ้อยคำเท่านั้น โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้ลงลายมือชื่อแต่อย่างใด และในระหว่างประกาศการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้นำหนังสือแสดงการไม่รับมรดกที่ดิน ฉบับลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ ที่ผู้ฟ้องคดีพร้อมทายาทรายอื่นแสดงเจตนาไม่ขอรับมรดกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ และยินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นผู้รับมรดกในที่ดินแปลงดังกล่าวไปแสดงเจตนาต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาส่วนแบ่งมรดกที่ดินดังกล่าวได้ตามมาตรา ๑๗๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการลงนามในบันทึกแสดงความประสงค์ไม่รับมรดกที่ดินของผู้ฟ้องคดีก็ถูกต้องตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีแล้ว มิได้เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์แต่อย่างใด คำกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีไม่อาจรับฟังได้ ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกดังกล่าว ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมแจ้งสิทธิในการฟ้องคดีปกครองให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งไม่เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะดำเนินการจดทะเบียนโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานและไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย การกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีทำความตกลงกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่จะไม่ขอรับมรดกเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยและมีขึ้นภายหลังการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนมรดกซึ่งชอบที่จะดำเนินการสอบสวนให้แน่ชัดเสียก่อน ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ได้อ้างว่าการดำเนินการแก้ไขเอกสารการจดทะเบียนเป็นเพียงความผิดพลาดบกพร่องของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ระหว่างนางบุญสม ทวีศักดิ์ ผู้ตาย และนางล้อมศรี ชูทรัพย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ตามนัยมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า การจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ขอรับมรดกเพียงผู้เดียวนั้น เป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุอื่นใดที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขรายการจดทะเบียน อันเนื่องจากเป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า ที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ เป็นที่ดินมรดกของนางบุญสม ทวีศักดิ์ มารดา ในระหว่างทายาทได้มีการตกลงกันเรื่องมรดกซึ่งไม่มีพินัยกรรม โดยที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ทายาททุกคนยินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นผู้รับมรดกในที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรคนที่ ๓ ไม่ขอรับมรดก แต่ขอเงินสดจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท แทน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และได้ให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดูแลที่ดินซึ่งทำเป็นสวนยางพาราร่วมกับสามีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๕๔ แต่ในปี ๒๕๕๕ ผู้ฟ้องคดีทำความเสียหายในกิจการสวนยางพาราหลายเรื่อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงห้ามผู้ฟ้องคดีเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินแปลงพิพาท ข้อกล่าวอ้างตามฟ้องไม่เป็นความจริง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินตามกฎหมายอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งไม่เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เพียงผู้เดียว โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ วินิจฉัยยืนตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินดังกล่าว กรณีจึงเป็นการฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับประเด็นพิจารณาว่าการจดทะเบียนโอนมรดกมีรอยลบข้อความสำคัญหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีมีการตกลงกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าไม่รับมรดกที่ดินแปลงพิพาทตามหนังสือยินยอมไม่รับมรดกหรือไม่ เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะพิจารณาในเนื้อหาคดี อันเป็นประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการจดทะเบียนโอนมรดกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาแต่เพียงประเด็นย่อยดังกล่าวก็ไม่อาจจะวินิจฉัยได้ว่าการจดทะเบียนโอนมรดกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีต้องพิจารณาประกอบกับประเด็นปัญหาอื่นอีกจึงจะสามารถวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมายของการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวได้ นอกจากนี้ แม้คดีนี้มีประเด็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและสิทธิในทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่การพิจารณาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจศาลใด ทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเวียงสระพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคดีมีประเด็นเกี่ยวกับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายที่แท้จริงของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนมีสิทธิรับมรดกและสิทธิครอบครองร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยคดีมีการโต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและยังต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อในหนังสือแสดงการไม่รับมรดก อันเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒ ซึ่งมีผลผูกพันผู้ฟ้องคดี หรือผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อในหนังสือแสดงการไม่รับมรดกโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมว่าเป็นการรับมรดกที่ดินพิพาทร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่มีผลทำให้หนังสือแสดงการไม่รับมรดกที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีจึงเห็นได้ว่าเป็นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทางแพ่งและสิทธิในทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งโต้แย้งสิทธิกันระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้นจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้ได้ความเป็นที่ยุติเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเพียงประเด็นย่อยที่เป็นปลายเหตุของคดี คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์และเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ตำบลนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ ๖๑ ไร่ ๒ งาน ๔๕ ตารางวา ของนางบุญสม ทวีศักดิ์ ร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แต่ในวันจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กลับจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เพียงผู้เดียว ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีแสดงความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ การจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินดังกล่าวเป็นไปโดยทุจริตและไม่ชอบด้วยมาตรฐานการปฏิบัติงาน ระเบียบและกฎหมาย มีการแก้ไขเอกสารในคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและเจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อในเอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมาทราบในภายหลังว่าเป็นบันทึกแสดงความประสงค์ไม่รับมรดก ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือแจ้งว่าการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วและไม่อาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกดังกล่าวได้ ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ วินิจฉัยยืนตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล โดยมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๔ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไม่จดทะเบียนโอนมรดกให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ไม่เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างมาในคำฟ้องว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกถ้อยคำของทายาทที่แสดงเจตนาไม่รับมรดกที่ดินดังกล่าวว่าผู้ฟ้องคดีได้ตกลงกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าจะไม่รับมรดกที่ดินพิพาท โดยตกลงรับเงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แทน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้นำหนังสือแสดงการไม่รับมรดกที่ผู้ฟ้องคดีพร้อมทายาทอื่นแสดงเจตนาไม่ขอรับมรดกที่ดินพิพาท โดยยินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นผู้รับมรดกที่ดินดังกล่าวแทนมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นทายาทยังมีข้อพิพาทกันในเรื่องที่ว่าด้วยทรัพย์มรดกอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในที่ดินพิพาทจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสุรศักดิ์ ทวีศักดิ์ ผู้ฟ้องคดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาบ้านนาสาร ที่ ๓ นางล้อมศรี ชูทรัพย์ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ