คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 549/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีไม่มีการชี้สองสถาน แม้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ฝ่ายโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนแล้วไม่มีฝ่ายใดสืบพยาน การที่ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดีก็จะต้องถือหน้าที่นำสืบที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลัก ฟ้องโจทก์บรรยายว่า ขณะโจทก์ใช้ชื่อว่า ส. ได้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาท โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยและบริวารเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารพิพาทโดยมิชอบจำเลยให้การตอนแรกว่าโจทก์ในขณะนั้นจะใช้ชื่อว่า ส. และจะได้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทหรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง คำให้การของจำเลยเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธคดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องนำสืบในเรื่องชื่อของโจทก์ ที่จำเลยให้การต่อมาว่า โจทก์ได้สมคบกับ ร. และ ป.ฉ้อโกงจำเลย โดย ร. ผู้ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมอาคารพิพาทให้แก่จำเลย ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทให้แก่ป. และ ป. ได้โอนให้โจทก์โดยโจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายที่ได้ทำไว้กับ ร. ดังนี้คำให้การของจำเลยในตอนต่อมานอกจากจะถือว่ารับข้อเท็จจริงในเรื่องชื่อของโจทก์แล้ว ยังถือว่ารับข้อเท็จจริงต่อไปว่าโจทก์คดีนี้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอีกด้วย แต่จำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้ว่าโจทก์สมคบกับ ร. และป.โอนที่ดินพร้อมอาคารพิพาทเป็นของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทให้แก่จำเลย อันเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมอาคารพิพาทโดยไม่สุจริตซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริต จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามข้อกล่าวอ้างของจำเลย เมื่อคดีนี้ไม่มีการชี้สองสถานและศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำสืบก่อน และเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์โจทก์ขอเลื่อนคดี ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลไม่รับบัญชีพยานโจทก์ไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบต่อไปทั้งหมดและให้นัดสืบพยานจำเลย แต่จำเลยกลับแถลงไม่ติดใจสืบพยานดังนี้ คดีจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนที่ดินพร้อมอาคารพิพาทโดย ไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2533 โจทก์ขณะนั้นใช้ชื่อเดิมว่านางสาวสมหวัง ชาญชัยวานิช ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 97298เนื้อที่ 12 ตารางวาเศษ พร้อมด้วยบ้านเลขที่ 1032/66 เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมด้วยบ้านพิพาทดังกล่าวแล้วมีจำเลยและบริวารใช้สิทธิโดยมิชอบเข้าไปอยู่ในบ้านดังกล่าว โจทก์แจ้งให้จำเลยและบริวารทราบถึงสิทธิของโจทก์ จำเลยและบริวารเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายออกจากบ้านเลขที่ 1032/66และจัดการให้บ้านอยู่ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าขนย้ายออกไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้ชื่อว่านางสาวสมหวัง ชาญชัยวานิชซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จริงหรือไม่จำเลยไม่ทราบเพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใด แสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เอกสารท้ายฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้แสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยมีสิทธิเข้าไปอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทเนื่องจากเมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2525 จำเลยตกลงซื้อที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1064 แขวงบางซื้อฝั่งเหนือ เขตบางซื่อกรุงเทพมหานคร โดยได้แบ่งยกออกมาเป็นแปลงย่อย ๆ เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 97298 พร้อมด้วยบ้านพิพาทจากบริษัทราชามาเก็ตติ้งจำกัด ในราคา 800,000 บาท โดยชำระเงินในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย 100,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระกันในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2530 จำเลยได้เข้าครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทมาจนถึงปัจจุบัน และได้ชำระเงินให้กับบริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด อีกเป็นเงิน 300,000 บาท ต่อมาเมื่อกลางปี 2527 บริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด ปิดสำนักงานของตนเองและได้ขนย้ายทรัพย์สินหลบหนีไปโดยไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายให้จำเลย จนกระทั่งจำเลยถูกโจทก์ฟ้อง จำเลยจึงทราบว่า โจทก์สมคบกับบริษัทราชามาเก็ตติ้งจำกัด และบริษัทปณิธานพัฒนา จำกัด หลอกลวงฉ้อโกงจำเลยโดยบริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยบ้านพิพาทมาเป็นของบริษัทปณิธานพัฒนา จำกัด แล้วบริษัทปณิธานพัฒนา จำกัด โอนมาเป็นของโจทก์และให้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาจะซื้อขายเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม จำเลยได้เข้าครอบครองทำกินและอยู่อาศัยตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2525 ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่1032/66 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและสืบพยานโจทก์ต่อไป ถึงวันนัดโจทก์ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลไม่รับบัญชีพยานของโจทก์ไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบทั้งหมด คำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์เป็นอันตกไป ให้นัดสืบพยานจำเลยครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า คำให้การจำเลยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทเพื่อให้เกิดประเด็นแห่งคดีจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ที่ศาลล่างทั้งสองแปลความหมายคำให้การจำเลยว่าจำเลยรับในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ซึ่งการที่บุคคลใดมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นเพียงพยานหลักฐานแห่งการควบคุมสารบัญที่ดินเท่านั้นหาใช่เป็นการแสดงหลักฐานทางกรรมสิทธิ์เสมอไปไม่ ดังนั้นจึงถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ และคดีไม่มีการชี้สองสถาน หน้าที่นำสืบจึงตกแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้สืบพยานจึงไม่มีหลักฐานใด ๆที่ฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาท เห็นว่าคดีไม่มีการชี้สองสถาน แม้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ฝ่ายโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนแล้วไม่มีฝ่ายใดสืบพยานดังกล่าวมา การที่ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดีก็จะต้องถือหน้าที่นำสืบที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลัก ฟ้องโจทก์บรรยายว่า ขณะโจทก์ใช้ชื่อว่านางสาวสมหวัง ชาญชัยวานิช ได้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2533 โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทแล้วปรากฏว่ามีจำเลยและบริวารเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารพิพาทโดยมิชอบ ส่วนจำเลยให้การตอนแรกว่าประมาณเดือนสิงหาคม 2533 โจทก์ในขณะนั้นจะใช้ชื่อว่านางสาวสมหวัง ชาญชัยวานิชและจะได้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทหรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง ดังนี้คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธคดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องนำสืบในเรื่องชื่อของโจทก์ ทั้งจำเลยให้การต่อมาว่า โจทก์คดีนี้ได้สมคบกับบริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด และบริษัทปณิธานพัฒนา จำกัดฉ้อโกงจำเลย โดยบริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด ผู้ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมอาคารพิพาทให้แก่จำเลย ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทให้แก่บริษัทปณิธานพัฒนา จำกัด และบริษัทปณิธานพัฒนา จำกัด ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทเป็นของโจทก์โดยโจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายที่ได้ทำไว้กับบริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด ดังนี้คำให้การของจำเลยในตอนต่อมานอกจากจะถือว่ารับข้อเท็จจริงในเรื่องชื่อของโจทก์ตามฟ้องแล้วยังถือว่ารับข้อเท็จจริงต่อไปว่าโจทก์คดีนี้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอีกด้วยแต่จำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้ว่าโจทก์สมคบกับบริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด และบริษัทปณิธานพัฒนา จำกัดโอนที่ดินพร้อมอาคารพิพาทเป็นของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทให้แก่จำเลยอันเป็นการกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมอาคารพิพาทโดยไม่สุจริต ซึ่งการที่โจทก์ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตเมื่อจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมอาคารพิพาทโดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามข้อกล่าวอ้างของจำเลย แต่จำเลยกลับแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนที่ดินพร้อมอาคารพิพาทโดยไม่สุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าที่ดินพร้อมอาคารพิพาทเป็นของโจทก์ และให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาทนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน

Share