คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลแรงงานหรือไม่นั้นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าอย่างไรคำวินิจฉัยย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา9วรรคสองและย่อมผูกพันคู่ความเฉพาะในคดีที่ได้มีการวินิจฉัยเท่านั้นหาผูกพันคู่ความที่พิพาทกันในคดีอื่นไม่ดังนั้นแม้จะได้ความว่าคู่ความในคดีนี้กับคดีก่อนของศาลแรงงานกลางเป็นคู่ความเดียวกันและมูลคดีเป็นอย่างเดียวกันก็ตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีก่อนที่ว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานจึงไม่มีผลถึงคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นแพทย์ปริญญาและได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าขาย โจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยในสถานพยาบาลของจำเลยที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้าง (ค่าตอบแทน) ให้แก่โจทก์เดือนละ3,000 บาท โจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างและจำเลยมีฐานเป็นนายจ้างตามกฎหมาย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า จำเลยมีแพทย์เพียงพอในการให้บริการแก่พนักงานแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ได้ทำงานให้แก่จำเลยติดต่อกันมาเป็นเวลา 22 ปี 3 เดือน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยรบโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปในหน้าที่เดิม และจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างที่ได้รับครั้งสุดท้าย และหากจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ในโอกาสต่อไป ให้จำเลยยื่นคำร้องขอเลิกจ้างต่อศาลแรงงานกลางก่อน หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปได้ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 3,208,500 บาท ให้แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องคดีนี้มีมูล คดีเป็นอย่างเดียวกันกับคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 3213/2538 ของศาลแรงงานกลาง และคู่ความในคดดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความรายเดียวกันซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดีหมายเลขแดงที่ 3213/2538 ว่าคดีดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นคดีแรงงานตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังศาลแรงงาน การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังศาลแรงงานอีกจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางซึ่งถึงที่สุดแล้วที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้ และมีคำสั่งใหม่ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน จึงไม่รับฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งศาลแรงงานที่ให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องคดีไว้และมีคำสั่งใหม่ว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานจึงไม่รับฟ้องไว้พิจารณา จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะมีอำนาจวินิจฉัยสั่งว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ส่วนผู้พิพากษาอื่น ๆไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยหรือสั่งว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานได้ ทั้งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ จะมีขึ้นได้ต่อเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น และศาลนั้น ๆ ได้ส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเท่านั้น แต่กรณีของโจทก์ไม่ปรากฎว่ามีปัญหาเช่นว่านี้เกิดขึ้นการที่ศาลแรงงานกลางได้ประทับรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องแล้วและไม่ผิดระเบียบใด ๆ นอกจากนี้คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นคำวินิจฉัยที่มีผลบังคับเฉพาะคดีเรื่องที่ขอให้มีการวินิจฉัยเท่านั้นจะนำไปใช้กับคดีอื่นที่ไม่ได้ขอให้มีการวินิจฉัยไม่ได้ เพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่” คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีก่อนของโจทก์จึงนำมาวินิจฉัยใช้กับคดีนี้ไม่ได้ ที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องใหม่อีกจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางแต่อย่างใด ส่วนที่กฎหมายบัญญัติให้คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุดตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 นั้น จะเป็นที่สุดเฉพาะคดีที่ขอให้มีคำวินิจฉัยเท่านั้นแต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางอาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยใหม่ได้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในคดีใหม่ ซึ่งมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากเดิมหรือมีคำวินิจฉัยไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงบางประการนั้น
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด” ซึ่งมีความหมายว่า หากกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลแรงงานหรือไม่นั้น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าอย่างไร คำวินิจฉัยย่อมเป็นที่สุดและย่อมผูกพันคู่ความเฉพาะในคดีที่ได้มีการวินิจฉัยเท่านั้น หาผูกพันคู่ความที่พิพาทกันในคดีอื่นไม่แม้จะได้ความว่าคู่ความในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 321/2538 ของศาลแรงงานกลางเป็นคู่ความเดียวกันและมูลคดีเป็นอย่างเดียวกัน แต่ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องในลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน ซึ่งถ้าฟังได้ว่าเป็นการจ้างแรงงานดังที่โจทก์อ้าง คดีก็ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีก่อนไม่มีผลที่จะถือได้ว่าคดีนี้ไม่อยู่อำนาจของศาลแรงงาน และศาลแรงงานกลางก็ไม่มีอำนาจสั่งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานเพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น คำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงไม่ชอบ อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 4 กันยายน 2538 ที่สั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา โดยให้ดำเนินการพิจารณาคดีของโจทก์ต่อไป

Share