คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6967/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีอายุ 15 ปีเศษ และเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออก ไปกิจธุระนอกบ้าน จำเลยที่ 2 ได้นำรถจักรยานยนต์ คันเกิดเหตุเข้าไปเก็บไว้ในบ้านพร้อมกับใส่กุญแจล๊อก คอรถจักรยานยนต์เพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ออกไปใช้ และจำเลยที่ 2 นำเอากุญแจติดตัวไปด้วยการที่จำเลยที่ 1 ได้นำกุญแจรถยนต์กระบะไปไขออก ได้โดยบังเอิญแล้วนำไปให้เพื่อนรุ่นพี่ต่อสายไฟตรงติดเครื่องยนต์ให้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่มีนิสัยหรือความประพฤติไม่ดีมาก่อน เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นเหมาะสมกับอุปนิสัยและความประพฤติของจำเลยที่ 1ผู้เป็นบุตรแล้วทุกประการ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน61,275 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน42,275 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะคดีจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 42,275 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีอายุ 15 ปีเศษ และเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4ของโรงเรียนโพธิ์ทองวิทยาคาร ตอนเกิดเหตุจำเลยที่ 2ไม่อยู่บ้านโดยได้ออกจากบ้านไปกับนางไสว วิกล ภริยาซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 เพื่อไปทำกิจธุระที่ตัวจังหวัดร้อยเอ็ดตั้งแต่ตอนเช้าของวันเดียวกัน ครั้นกลับมาบ้านไม่พบจำเลยที่ 1 จึงได้ออกไปตามหาและต่อมาทราบว่าจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ชนรถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ขับสวนทางมาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองและนางไสวมารดาจำเลยที่ 1 เบิกความในทำนองเดียวกันว่าก่อนที่จำเลยที่ 2 กับนางไสวจะออกไปกิจธุระที่ตัวจังหวัดร้อยเอ็ดจำเลยที่ 2 ได้นำรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุเข้าไปเก็บไว้ในบ้านพร้อมกับใส่กุญแจล็อกคอรถจักรยานยนต์ เพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ออกไปใช้และนำเอากุญแจติดตัวจำเลยที่ 2 ไป โดยจำเลยที่ 1 เบิกความต่อไปว่าหลังจากพยานเดินกลับจากโรงเรียนตอนเวลา 15.30 นาฬิกาแล้วพยานได้ไปดูการแข่งขันฟุตบอลที่โรงเรียนใกล้บ้าน กลับมาบ้านเพื่อหุงอาหารอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วได้ทดลองนำเอากุญแจรถยนต์กระบะไปไขล๊อกคอรถจักรยานยนต์ปรากฏว่าสามารถใช้ไขได้พยานจึงเข็นรถจักรยานยนต์ไปหาเพื่อนที่เตะฟุตบอลเสร็จและกำลังฉลองกันอยู่ที่บ้านนางอุดม ลาสมศรี หลังจากนั้นนายจิระศักดิ์ โกมาล ขอร้องให้พยานขับรถจักรยานยนต์ไปส่งที่บ้านหนองผักแว่น โดยมีนายเต้เพื่อนรุ่นพี่จัดการต่อสายไฟตรงติดเครื่องรถจักรยานยนต์ให้พยาน พยานขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปส่งนายจีระศักดิ์และกลับมาเกิดอุบัติเหตุซึ่งได้ความสอดคล้องกับคำเบิกความของนางอุดมพยานจำเลยโดยเป็นบุคคลภายนอกว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 เดินจูงรถจักรยานยนต์มาที่บ้านพยาน และเมื่อรับประทานอาหารเลี้ยงฉลองการแข่งขันฟุตบอลเสร็จ เห็นจำเลยที่ 1 กับเพื่อนช่วยกันถอดสายไฟและสามารถติดเครื่องรถจักรยานยนต์ได้โดยความเรื่องนี้จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำให้การแก้คดีฟ้องโจทก์ไว้เป็นที่ชัดแจ้งแล้วตั้งแต่วันยื่นคำให้การในวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 แต่โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือสืบพยานให้เห็นเป็นอย่างอื่น และหากว่าจำเลยที่ 1 ใช้กุญแจรถจักรยานยนต์ไขแก้ล็อกคอรถจักรยานยนต์ออกเองเนื่องจากจำเลยที่ 2 ทิ้งกุญแจไว้ จำเลยที่ 1 ก็มิพักต้องเข็นรถจักรยานยนต์ไปที่บ้านนางอุดมเช่นนั้น หรือถ้าจำเลยที่ 1 เป็นคนซุกซนต่อสายไฟตรงเองได้ก็ไม่ต้องเข็นรถจักรยานยนต์ไปเช่นเดียวกันสำหรับข้อที่โจทก์และนายท่อน พะโยธร พยานโจทก์ เบิกความในทำนองว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปโรงเรียนและขับรถไปจีบผู้หญิงที่บ้านหนองผักแว่นในเวลากลางคืนเป็นประจำนั้น นอกจากโจทก์จะมิได้ถามค้านจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว จำเลยที่ 1 มีอายุเพียง 15 ปีเศษเป็นคนหุงหาอาหารอยู่กับบ้านและไม่สามารถต่อสายไฟตรงติดเครื่องรถจักรยานยนต์เองได้ ปกติจึงน่าจะเป็นผู้มีความประพฤติดีอีกทั้งนายท่อน เบิกความว่า พยานเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับจำเลยที่ 2หรือจำเลยทั้งสอง ซึ่งขัดกับภูมิลำเนาตามคำให้การของพยานว่าพยานอยู่บ้านเลขที่ 101 หมู่ที่ 8 ตำบลโพธิ์ทอง หมู่บ้านเดียวกับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 หรือจำเลยทั้งสองอยู่บ้านเลขที่ 53 หมู่ที่ 4 ตำบลโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นคนหมู่บ้านกัน ฉะนั้นหากไม่ปรากฏความเป็นอย่างอื่น ปกติการรู้เห็นกิจกรรมประจำวันของแต่ละคนที่อยู่ต่างหมู่บ้านกันน่าจะเป็นไปได้น้อย พฤติการณ์พยานจำเลยที่ 2จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ระมัดระวังเก็บรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุและล็อกกุญแจคอรถจักรยานยนต์ไว้อย่างดีแล้ว หากแต่จำเลยที่ 1ได้นำกุญแจรถยนต์กระบะไปไขออกได้โดยบังเอิญแล้วนำไปให้เพื่อนรุ่นพี่ต่อสายไฟตรงติดเครื่องยนต์ให้โดยความไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่มีนิสัยหรือความประพฤติไม่ดีมาก่อนทั้งยังเป็นที่น่าสังเกตว่าจำเลยที่ 1 ได้จัดการหุงหาอาหารเสร็จแล้วจึงหาโอกาสยามว่างไปสนุกกับเพื่อน ๆ ตามวิสัยแล้วนำรถจักรยานยนต์ไปเกิดเหตุ กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นเหมาะสมกับอุปนิสัย และความประพฤติของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรแล้วทุกประการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429
พิพากษาแก้เป็นว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share