คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 มีข้อความว่า “ผู้จะขายยอมตกลงขายที่นาฝากไว้… เป็นราคาเงิน 200,000 บาท มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาถึงวันที่ 1 เมษายน 2543 หากไม่มีเงิน 200,000 บาท มาคืนให้ผู้ซื้อ ผู้ขายยอมให้ที่นาจำนวน 15 ไร่ ตามสัญญาให้แก่ผู้จะซื้อ ณ วันที่ 1 เมษายน 2543” มีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะยอมให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงิน 200,000 บาท คืนแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อถึงเวลาที่กำหนด มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 อาจไถ่ที่นานั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนหนึ่งไปจากโจทก์ทั้งสองและตกลงว่าจะชำระคืนให้ อันเข้าลักษณะเป็นการกู้เงิน และหนังสือสัญญาดังกล่าวย่อมใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวมาในคำฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง ก็เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเท้าความถึงข้อความที่ปรากฏในหนังสือสัญญา ซึ่งโจทก์แนบสำเนามาท้ายคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าต้องด้วยบทกฎหมายใด โดยเฉพาะโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องขอให้บังคับคดีเกี่ยวกับที่ดิน คงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนท่านั้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนหากวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะ ก็ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 บังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่โจทก์ในฐานะที่เป็นลาภมิควรได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฎีกาว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์มิใช่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น เพราะเป็นการฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยตรง มิใช่เป็นฎีกาที่ต้องห้าม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 15 ไร่ แก่โจทก์ทั้งสองในราคา 200,000 บาท มีกำหนด 2 ปี โดยจะชำระเงิน 200,000 บาท เป็นการไถ่คืนภายในวันที่ 1 เมษายน 2543 หากไม่ชำระยอมให้ที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสำเนาหนังสือสัญญาท้ายฟ้อง จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำนาในที่ดินนับแต่วันขายฝาก ครั้นครบกำหนด จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง และไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำนาในที่ดิน โดยจำเลยที่ 1 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเสียเอง โจทก์ทั้งสองประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 200,000 บาท และได้ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อประมาณปี 2537 นายธรรมนอง พิงสูงเนิน ซึ่งเป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 1 และเป็นบุตรชายของจำเลยที่ 2 กู้เงินโจทก์ที่ 1 จำนวน 310,000 บาท ต่อมาปลายปี 2539 นายธรรมนองชำระหนี้บางส่วน คงค้างชำระเงินต้น 210,000 บาท จึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินให้ไว้แก่โจทก์ที่ 1 ตามยอดเงินดังกล่าวหลังจากนั้นนายธรรมนองชำระเงินต้นอีก 10,000 บาท คงค้างชำระเงินต้น 200,000 บาท โจทก์ที่ 1 เกรงว่านายธรรมนองจะไม่สามารถชำระดอกเบี้ย จึงติดต่อจำเลยทั้งสองเพื่อขอทำนา 15 ไร่ ต่างดอกเบี้ย และเพื่อเป็นหลักฐาน โจทก์ทั้งสองได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำมาให้จำเลยที่ 1 ลงลายพิมพ์นิ้วมือ และให้จำเลยที่ 2 ลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งโจทก์ทั้งสองกับพวกกรอกข้อความไม่ตรงกับเจตนาที่ได้ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้เงินหรือรับเงินจากโจทก์ทั้งสอง และไม่เคยตกลงแปลงหนี้หรือรับสภาพหนี้แทนนายธรรมนอง จำเลยที่ 1 เพียงแต่ครอบครองที่ดินไว้แทนบิดาไม่มีสิทธินำที่ดินไปทำนิติกรรมกับโจทก์ทั้งสอง สัญญาขายฝากไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องนายธรรมนองให้รับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ แต่แถลงรับว่าเป็นผู้ค้ำประกันเงินจำนวน 200,000 บาท ตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2539 นายธรรมนอง พิงสูงเนิน ซึ่งเป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 1 และเป็นบุตรชายของจำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ที่ 1 จำนวน 210,000 บาท โดยมอบที่นาเนื้อที่ 31 ไร่ ให้โจทก์ที่ 1 ยึดถือไว้เป็นประกัน ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากับโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับที่นาแปลงดังกล่าวในเนื้อที่ 15 ไร่ และจำเลยที่ 1 ได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสอง ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 คดีมีปัญหาที่เห็นควรวินิจฉัยในชั้นนี้เสียก่อนว่า ข้อตกลงในหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 เข้าลักษณะเป็นสัญญาขายฝากหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองจะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนโดยอาศัยหนังสือสัญญาดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ของหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำที่มีช่องว่างเว้นไว้สำหรับกรอกข้อความ จำเลยที่ 1 ลงลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้จะขายโจทก์ทั้งสองลงลายมือชื่อในช่องผู้จะซื้อ และในข้อ 1 ของหนังสือสัญญามีข้อความว่า “ผู้จะขายยอมตกลงขายที่นาฝากไว้ เป็นที่นาห้วยยางชุม… เป็นราคาเงิน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) โดยจะขายที่นาไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาถึงวันที่ 1 เมษายน 2543 หากไม่มีเงิน 200,000 บาท มาคืนให้ผู้ซื้อ ผู้ขายยอมให้ที่นาจำนวน 15 ไร่ ตามสัญญาให้แก่ผู้จะซื้อ ณ วันที่ 1 เมษายน 2543″ ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะยอมให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงิน 200,000 บาท คือแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อถึงเวลาที่กำหนดมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 อาจไถ่ที่นานั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 การที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ทั้งสองโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันก็แสดงอยู่ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินคืนแก่โจทก์ทั้งสอง มิฉะนั้นคงไม่ต้องมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน เพราะหากเป็นการขายฝากจำเลยที่ 1 ย่อมมีแต่สิทธิที่จะไถ่ที่นาคืนหรือไม่ก็ได้เท่านั้น การทำสัญญาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 จึงมุ่งหมายเพียงให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท คืนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นสำคัญ ส่วนข้อที่ว่าหากไม่ชำระเงินคืนแล้วโจทก์ทั้งสองจะบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่นาให้แก่โจทก์ทั้งสองได้หรือไม่นั้นเป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่งต่างหากข้อตกลงในหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาขายฝาก แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนหนึ่งไปจากโจทก์ทั้งสองและตกลงว่าจะชำระคืนให้ อันเข้าลักษณะเป็นการกู้เงิน และหนังสือสัญญาดังกล่าวย่อมใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการที่โจทก์ทั้งสองจะนำมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนได้ ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ได้กล่าวมาในคำฟ้องแล้วว่าเมื่อทำหนังสือสัญญาต่อกันแล้วจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำนา ตรงกับที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาโดยเจตนาให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำนาต่างดอกเบี้ย แม้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวมาในคำฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง ก็เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเท้าความถึงข้อความที่ปรากฏในหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งโจทก์แนบสำเนามาท้ายคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าต้องด้วยบทกฎหมายใด โดยเฉพาะคดีนี้โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องขอให้บังคับคดีเกี่ยวกับที่ดิน คงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 เข้าลักษณะเป็นสัญญาขายฝากและตกเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยอาศัยหนังสือสัญญาดังกล่าวได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นเรื่องการปรับบทกฎหมายเกี่ยวข้องกับอำนาจฟ้องของโจทก์ทั้งสอง เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยนั้น เมื่อปรากฏว่าคู่ความได้สืบพยานมาจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว ประกอบกับผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ทั้งสองฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยใหม่ ปัญหาดังกล่าวโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงิน 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ไปจากโจทก์ทั้งสองแล้ว ซึ่งนอกจากได้ความจากโจทก์ทั้งสองอ้างตนเองเป็นพยานแล้ว โจทก์ทั้งสองยังมีนายนิพนธ์ ว่องประจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านผู้เขียนสัญญาเป็นพยานเบิกความสนับสนุน พยานโจทก์ปากนี้เป็นพยานคนกลางไม่มีเหตุที่จะเบิกความเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์ทั้งสอง เงินจำนวน 200.000 บาท เป็นหนี้เงินกู้ที่นายธรรมนองยังติดค้างแก่โจทก์ที่ 1 นายธรรมนองประสงค์จะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญากับโจทก์ทั้งสองโดยมีเจตนาเพียงให้สิทธิโจทก์ทั้งสองเข้าทำนาในที่ดินต่างดอกเบี้ย แต่ภายหลังมีการกรอกข้อความลงในหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ไม่ตรงกับที่ได้ตกลงกันไว้นั้นพยานจำเลยที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นธรรมนอง นางแหวนเพชร อ่อนชัย หรือนายแสวง เพชรแก้ว ล้วนเป็นญาติใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้นได้ความว่าหนังสือสัญญาดังกล่าวทำที่บ้านโจทก์ทั้งสอง นายธรรมนองกับนายแสวงลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ส่วนนางแหวนเพชรลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ประกอบกับนายนิพนธ์ผู้เขียนสัญญาก็เป็นผู้ใหญ่บ้าน พฤติการณ์มีลักษณะเป็นการนัดทำสัญญา จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และพยานจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะลงลายพิมพ์นิ้วมือและลายมือชื่อไว้ก่อนโดยยังไม่มีการกรอกข้อความ ฉะนั้นหากเงินจำนวน 200,000 บาท เป็นหนี้จำนวนเดียวกับที่นายธรรมนองค้างชำระอยู่แก่โจทก์ที่ 1 จริง อย่างน้อยก็น่าจะมีการบันทึกให้ปรากฏไว้บ้าง หนังสือสัญญากู้เงินที่นายธรรมนองทำไว้แก่โจทก์ที่ 1 ก็ปรากฏว่ามิได้มีการคืนให้แก่กัน นอกจากนี้ยังได้ความตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.7 ที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำยอมรับต่อผู้แทนนายอำเภอหนองบัวระเหวในคราวที่โจทก์ทั้งสองไปร้องเรียนว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการกู้เงินจากโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยที่ 1 ตกลงว่าหากผิดสัญญายอมยกที่นาให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำนา และในชั้นพิจารณาคดีนี้จำเลยที่ 2 ยังคงแถลงรับต่อศาลชั้นต้นว่าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในเงินจำนวน 200,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้คัดค้านว่าไม่ถูกต้อง พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 รูปคดีมีเหตุเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงิน 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ไปจากโจทก์ทั้งสองแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินคืนแก่โจทก์ทั้งสองตามกำหนด จำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระเงินคืนแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดดอกเบี้ยในส่วนนี้นับแต่วันฟ้อง จึงบังคับให้เท่าที่โจทก์ขอ และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเช่นเดียวกัน ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ตั้งประเด็นมาในคำแก้ฎีกาว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองต้องห้ามเพราะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองนั้น เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการฟ้องเรียกเงินคืน หากวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะก็ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 บังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสองในฐานะที่เป็นลาภมิควรได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ดังนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฎีกาว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมิใช่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นเพราะเป็นการฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยตรงหาใช่เป็นฎีกาที่ต้องห้ามไม่ แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า หนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาขายฝาก จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง”
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท.

Share