คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7436/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ชำระค่าบริการในการที่โจทก์ร่างสัญญาให้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (16) ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี
โจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 ย่อมถือได้ว่าเวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป การที่โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 วันดังกล่าวมิใช่เวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/13 และเมื่อจำเลยยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลา 30 วัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เกินกว่า 2 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2536 จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในทางกฎหมาย ตกลงให้โจทก์คิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมงในการเรียกเก็บเงินโจทก์จะส่งใบแจ้งหนี้เพื่อให้จำเลยชำระเงินค่าบริการตามจำนวนเวลาของงานที่โจทก์ใช้ในการทำงานโดยจะเรียกเก็บเงินทุกเดือนหรือตามแต่ระยะเวลาอันสมควรซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน จำเลยตกลงชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน หลังจากนั้นจำเลยให้โจทก์ทำงานบริการด้านกฎหมายมาตลอด ในปี 2540 ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 จำเลยว่าจ้างโจทก์ร่างสัญญาให้สัมปทานระหว่างรัฐบาลของประเทศกัมพูชากับบริษัทยู เอ็น กรุ๊ป (แคมโบเดีย) จำกัด รวมค่าบริการค่าใช้จ่ายและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 871,004.20 บาท โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระเงินภายในกำหนดเวลาตามใบแจ้งหนี้ดังกล่าว โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2541 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 365,821.76 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,236,825.96 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของต้นเงินจำนวน 871,004.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตามคำฟ้องโจทก์เป็นกรณีเรียกเงินตามสัญญาจ้างทำของซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทำงานสิ้นสุดลง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 พ้นกำหนด 2 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันขึ้นมาในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อปี 2536 จำเลย ตกลงให้โจทก์เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่จำเลย คิดค่าบริการสำหรับงานที่ทำเป็นรายชั่วโมง โดยโจทก์จะส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระเงินค่าบริการ จำเลยต้องชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ลงในใบแจ้งหนี้ ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 โจทก์ได้ร่างสัญญาให้สัมปทานระหว่างรัฐบาลของประเทศกัมพูชากับบริษัทยู เอ็น กรุ๊ป (แคมโบเดีย) จำกัด และส่งมอบงานให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 โดยส่งใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6 ให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 จำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่รับใบแจ้งหนี้ดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดสินจ้างไว้เป็นจำนวนแน่นอน แต่ให้โจทก์คิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมงรวมทั้งค่าใช้จ่ายในระหว่างดำเนินการและค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยโจทก์จะส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้ หากไม่ชำระภายในกำหนดจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน จนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน โดยมิได้ถือเอาการส่งมอบงานเป็นข้อสำคัญในการเรียกเก็บเงิน โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยมีสิทธิชำระค่าจ้างได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้คือวันที่ 3 มีนาคม 2541 ครบกำหนดที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ในวันที่ 2 เมษายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จึงต้องเริ่มนับอายุความในวันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่ 3 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าบริการในการที่โจทก์ร่างสัญญาให้สัมปทานระหว่างรัฐบาลของประเทศกัมพูชากับบริษัทยู เอ็น กรุ๊ป (แคมโบเดีย) จำกัด เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (16) ซึ่งให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี และเมื่อโจทก์จำเลยมีข้อตกลงในการเรียกเก็บค่าบริการว่าโจทก์จะส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระเงินตามจำนวนที่ระบุในใบแจ้งหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้ การเริ่มนับอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 193/13 ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระก่อน ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาแรกที่อาจทวงถามได้เป็นต้นไป แต่ถ้าลูกหนี้ยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าระยะเวลาหนึ่งจะได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่เวลาที่ได้ทวงถามนั้นให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลานั้นได้สิ้นสุดไปแล้ว” คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 ทั้งใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6 ที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้ก็ไม่ปรากฏรายการค่าใช้จ่ายหลังจากวันดังกล่าวอีก ย่อมถือได้ว่าเวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป การที่โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 วันดังกล่าวมิใช่เวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามความในมาตรา 193/13 และเมื่อจำเลยยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลา 30 วัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เกินกว่า 2 ปีแล้ว ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โดยวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยตามมาตรา 193/12 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share