คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5324/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2543) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2543 ซึ่งออกตามความในมาตรา 5 และมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องเข้าหลักเกณฑ์ 2 ข้อ แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้มีปริมาณการจำหน่ายจำนวนมาก หรือมีการใช้หรือโฆษณาเป็นที่แพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไป หรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามข้อ 2 ของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว ดังนั้น การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Carpro” ของจำเลยที่ 1 ที่แม้จะมีเสียงเรียกขานเป็นภาษาไทยเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ก็ไม่ขัดต่อมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร” และอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร คาร์วอช แชมพู” ซึ่งมีคำว่า “คาร์โปร” เป็นภาคส่วนสำคัญในการเรียกขานและการจดจำ โดยโจทก์ได้ใช้ จำหน่าย และโฆษณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายของสาธารณชนทั่วประเทศไทย สาธารณชนทั่วไปต่างเรียกขานสินค้าทำความสะอาดรถยนต์ของโจทก์ที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร” และ “คาร์โปร คาร์วอช แชมพู” โจทก์ได้จัดทำเอกสารแนะนำสินค้าและบริการของโจทก์ หนึ่งในสินค้าที่แนะนำมีสินค้าทำความสะอาดรถยนต์ “คาร์โปร” รวมอยู่ด้วย และโจทก์ได้ขอรับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายชื่อว่า “คาร์โปร คาร์วอช แชมพู” (CARPRO CARWASH SHAMPOO) วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (SODIUM AURYL SULFATE) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์ชนิดของเหลว และได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จำเลยทั้งสองทราบดีว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่สาธารณชนรู้จักแพร่หลายมานาน จำเลยทั้งสองจึงแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงและความแพร่หลายของเครื่องหมายการค้าโจทก์โดยไม่สุจริต ลวงขายสินค้าทำความสะอาดรถยนต์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือ จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครีมขัดเงารถยนต์ และน้ำยาทำความสะอาดรถยนต์ชนิดต่างๆ ภายใต้เครื่องหมาย CARPRO เป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และนายชาญวิทย์ อัศวชนะการ ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวก 3 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มานานแล้ว จำเลยทั้งสองทราบเป็นอย่างดี แต่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า CARPRO อ่านว่า “คาร์โปร” ซึ่งมีเสียงเรียกขานของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตรงกับเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้า “คาร์โปร” ของโจทก์ ซึ่งมีคำว่า “คาร์โปร” เป็นภาคส่วนสำคัญของเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 447080 ทะเบียนเลขที่ ค 149113 และเป็นสินค้าจำพวก 3 เช่นเดียวกัน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพื่อทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในสินค้า มีเจตนาแย่งขายสินค้าของโจทก์ ทั้งที่สินค้าของจำเลยทั้งสองยังมิได้ผลิตและจำหน่าย และได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ยุติการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์ คาร์โปร์ ทำให้โจทก์ขาดรายได้และเสียหายเป็นอย่างมาก ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 447080 ทะเบียนเลขที่ ค 149113 และห้ามจำเลยทั้งสองใช้ เข้าเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “คาร์โปร”
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร” และ “คาร์โปร คาร์วอช แชมพู” โจทก์ไม่ได้ใช้คำว่า “คาร์โปร” ก่อนจำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้างว่าได้ใช้คำว่า “คาร์โปร” มาตั้งแต่ปี 2540 นั้น ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทดสอบและวิจัยการตลาดมาตั้งแต่ปี 2535 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปี 2534 ก่อนที่โจทก์จะได้ก่อตั้งบริษัทในปี 2536 โจทก์จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 คำว่า “Carpro” จำเลยได้คิดค้นมาจากคำว่า “Car” (อ่านว่า คาร์ แปลว่า รถยนต์) ส่วนคำว่า “pro” มาจากคำว่า “Professional” (อ่านว่า โปรเฟสชั่นแนล แปลว่า อย่างมืออาชีพ) เมื่อนำคำทั้งสองมาใช้ร่วมกันเป็นคำว่า “Car pro” อาจแปลได้ว่า มืออาชีพเรื่องรถยนต์ แต่ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 1 แนะนำว่า หากนำมาใช้กับสินค้าจำพวก 3 สินค้าที่ใช้ทำความสะอาดรถยนต์ อาจไม่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงควรเขียนคำว่า Car” และ Pro ให้ชิดติดกัน เพื่อให้เป็นคำที่ไม่มีความหมายและควรนำรูปประดิษฐ์มาประกอบกับคำว่า “Carpro” เพื่อทำให้เกิดลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้รับการจดทะเบียนสูงขึ้น ต่อมาเมื่อปี 2536 จำเลยที่ 1 ทราบว่ามีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า KARPRO คำขอเลขที่ 127913 ทะเบียนเลขที่ 82558 ซึ่งจดทะเบียนในสินค้าจำพวก 1 กับสินค้าทั้งจำพวกประเภทสารเคมี จำเลยที่ 1 จึงทดลองใช้เครื่องหมายการค้า Carpro ให้ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง และได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า Carpro ในสินค้าจำพวกที่ 3 และได้รับการจดทะเบียน ที่โจทก์กล่าวอ้างว่า ได้ใช้คำว่า “คาร์โปร” มาตั้งแต่ปี 2540 นั้น ไม่ปรากฏว่ามีการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดมาก่อนหากมีการใช้จริงก็จะเป็นการใช้ในวงการค้าขนาดเล็กไม่อาจเป็นหลักฐานในการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ ส่วนการที่โจทก์ได้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า Carpro แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงและความแพร่หลายของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เคยลวงขายสินค้าของโจทก์แต่ประการใด ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Carpro” มีเสียงเรียกขานตรงกับคำว่า “คาร์โปร” ของโจทก์นั้น การใช้คำที่มีเสียงเรียกขานว่า “คาร์โปร” นั้น แต่เดิมในปี 2525 ก็ได้มีการใช้กันมาแล้วในประเทศไทย โดยบริษัทไทยนิมา จำกัด และได้มีการจดทะเบียนคำว่า “KARPRO” ไว้แล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2525 คำขอเลขที่ 127913 ทะเบียนเลขที่ 82558 แต่เครื่องหมายการค้าไม่ได้ต่ออายุการจดทะเบียน เมื่อครบกำหนด 10 ปี จึงถูกเพิกถอนไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “Carpro” เพราะเป็นคำที่ไม่เล็งต่อคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นคำที่โน้มน้าวใจว่าเป็นสินค้าที่ใช้สำหรับการดูแลรถยนต์อย่างมืออาชีพ และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนคำว่า “Carpro” แล้วตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผลิตและจำหน่ายสินค้าหลายชนิด เช่น สเปรย์เคลือบเงา WAXONE สเปรย์ปรับอากาศ Kings’s Stella สเปรย์ทำความสะอาดโทรศัพท์ Phone Fresh สเปรย์ทำความสะอาดกระจก คิงส์สเตลล่า เจลปรับอากาศ Kings’s Stella Minifresh และ Fresh & Fun โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้า Carpro นั้น จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้า ครีมขัดเงารถยนต์ น้ำยาเช็ดกระจก น้ำยาทำความสะอาดรถยนต์ น้ำยาทำความสะอาดเบาะรถยนต์ น้ำยาทำความสะอาดคอนโซลรถยนต์ และน้ำยาทำความสะอาดยางรถยนต์จำเลยที่ 1 ได้สำรวจตลาดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์มาตั้งแต่ปี 2535 ต่อมาในเดือนมกราคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้จ้างทนายความให้ตรวจสอบที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาว่ามีผู้ใดจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Car pro” ไว้หรือไม่ และได้รับรายงานว่าไม่มีผู้ใดจดทะเบียนคำว่า “Car pro” ไว้กับสินค้าจำพวก 3 และแนะนำให้จำเลยที่ 1 ควรนำคำว่า “Car” และ “Pro” มาเขียนให้ติดกันเพื่อป้องกันมิให้เป็นคำที่เล็งต่อคุณสมบัติของสินค้าจำเลยที่ 1 จึงได้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้า Carpro ให้มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้วนำไปจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 และได้รับการจดทะเบียนตามทะเบียนเลขที่ ค 149113 ได้รับการออกหนังสือสำคัญแสดงการับจดทะเบียน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ผลิตสินค้าชนิดแรกภายใต้เครื่องหมายการค้า Carpro คือ ครีมขัดเงารถยนต์ โดยมีกำหนดจะนำออกมาวางตลาดในวันที่ 1 มีนาคม 2545 แต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ไปตรวจสอบตลาดพบว่า มีการจำหน่ายแชมพูทำความสะอาดรถยนต์ คาร์โปร ในห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 เห็นว่าชื่อสินค้าคล้ายกันอาจทำให้ลูกค้าสับสนว่าเป็นเจ้าของรายเดียวกัน จึงระงับการวางจำหน่ายสินค้าไว้ก่อน การกระทำของโจทก์จึงเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายไม่สามารถนำสินค้าครีมขัดเงารถยนต์ Carpro ซึ่งมีราคากระป๋องละ 69 บาท ออกวางตลาดได้นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2545 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นเวลา 341 วัน คาดหมายว่าจะจำหน่ายได้อย่างน้อยวันละกระป๋อง จำเลยที่ 1 จึงได้รับความเสียหายจากการขาดประโยชน์ดังกล่าวเป็นเงิน 23,529 บาท จำเลยที่ 1 ได้พยายามแจ้งให้โจทก์ยุติการจำหน่ายแชมพูทำความสะอาดรถยนต์คาร์โปร โจทก์ไม่ยินยอมและได้ฟ้องเป็นคดีนี้ ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าจ้างทนายความถึง 60,000 บาท โจทก์ได้เลียนเครื่องหมายการค้าคาร์โปรของที่จำเลยที่ 1 เป็นเวลานาน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า Carpro ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นเวลา 707 วัน จำเลยที่ 1 คิดค่าเสียหายวันละ 200 บาท รวมเป็นเงิน 141,400 บาท และให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 อีก วันละ 200 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะยุติการละเมิดและจำเลยที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายจากการละเมิดเครื่องหมายการค้านับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 อันเป็นวันที่เครื่องหมายการค้า Carpro ได้รับการจดทะเบียนและวันฟ้องแย้งตามลำดับ เป็นเวลา 707 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ประมาณการในเบื้องต้นว่าโจทก์ขายสินค้าได้อย่างน้อยวันละ 1 กระป๋อง ในราคากระป๋องละ 35 บาท ดังนั้น ประโยชน์ที่โจทก์ได้รับไปจากการเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงควรมีอย่างน้อยเป็นเงิน 24,745 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ควรจะได้รับ จำเลยที่ 1 จึงขอให้โจทก์คืนเงินที่จำเลยที่ 1 ควรได้รับในการขายสินค้าจำนวน 24,745 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ทั้งสิ้น 249,674 บาท และห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า Carpro ทะเบียนเลขที่ ค 149113 หรือเครื่องหมายอื่นใดที่คล้ายกัน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะใดๆ กับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกไม่ว่าด้วยตัวเอง พนักงาน ญาติหรือตัวแทนของโจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าคาร์โปร โจทก์ไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวก่อนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ทดสอบและวิจัยครีมขัดเงารถยนต์มาตั้งแต่ปี 2535 จำเลยที่ 2 ได้ดำเนินธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปี 2534 ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทในปี 2536 โจทก์จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้คิดคำต่างๆ หลายคำ เช่นคำว่า Cona, Cara, Cane, Cama, และ Luna เป็นต้น ส่วนคำว่า “Carpro” จำเลยที่ 2 ได้คิดค้นจากคำว่า “Car” (อ่านว่า คาร์ แปลว่า รถยนต์) ส่วนคำว่า “Pro” มาจากคำว่า “Professional” (อ่านว่า โปรเฟสชั่นแนล แปลว่า มืออาชีพ) ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 แนะนำว่า หากคำว่า “Car pro” มาใช้กับสินค้าจำพวก 3 สินค้าที่ใช้ทำความสะอาดรถยนต์อาจไม่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และแนะนำให้นำคำว่า “Car” และ “Pro” มาเขียนให้ติดกันเพื่อให้เป็นคำที่ไม่มีความหมายและควรนำรูปประดิษฐ์มาประกอบกับคำว่า “Carpro” เพื่อให้เกิดลักษณะบ่งเฉพาะมากขึ้น จะทำให้มีโอกาสได้รับการจดทะเบียนสูงขึ้น ต่อมาปี 2536 จำเลยที่ 2 ทราบว่ามีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า KARPRO คำขอเลขที่ 127913 ทะเบียนเลขที่ 82558 จำเลยที่ 2 จึงยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในนามของจำเลยที่ 1 และได้รับการจดทะเบียน และจำเลยที่ 2 ได้ใช้เครื่องหมายการค้าตลอดมา โจทก์ไม่มีหลักฐานการใช้เครื่องหมายการค้าในท้องตลาดมาก่อนจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่เคยแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงและความแพร่หลายของโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยความสุจริต จำเลยที่ 2 ไม่เคยลวงขายสินค้าของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายกาค้าอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร” และอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร คาร์วอช แชมพู” ซึ่งมีคำว่า “คาร์โปร” เป็นภาคส่วนสำคัญในการเรียกขานและจดจำ โจทก์ได้ใช้ จำหน่าย และโฆษณาเครื่องหมายกาค้าดังกล่าวกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์ตั้งแต่ปี 2540 เรื่อยมา ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้คิดคำต่างๆ หลายคำ ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แต่คำว่า “Carpro” อ่านว่า “คาร์โปร” ของจำเลยที่ 1 มีเสียงเรียกขานตรงกันกับเสียงเรียกขานเครื่องหมายกาค้า “คาร์โปร” ของโจทก์ ซึ่งมีคำว่า “คาร์โปร” เป็นภาคส่วนสำคัญนั้น จำเลยที่ 1 ทราบเป็นอย่างดีว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และนายชาญวิทย์ อัศวชนะการ เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริง และไม่ได้หมายความว่าการก่อตั้งบริษัทก่อนจะได้มาซึ่งสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์ โจทก์ได้ใช้ จำหน่ายและโฆษณาเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร” และอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร คาร์วอช แชมพู” กับสินค้าทำความสะอาดรถยนต์มาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายของสาธารณชนทั่วประเทศไทย โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังไม่มีการวางสินค้าจำหน่าย โจทก์จำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “คาร์โปร” ตั้งแต่ปี 2540 โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายกาค้า “คาร์โปร” ดีกว่าจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมิได้โต้แย้งสิทธิจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้เสียหายฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจเรียกให้โจทก์ชดใช้เงิน เนื่องจากโจทก์มิได้ละเมิดต่อจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า Carpro หรือคำเรียกขานอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนไว้ ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 447080 ทะเบียนเลขที่ ค 149113 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า เครื่องหมายกาค้าอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร” และอักษรไทยคำว่า “คาร์โปร คาร์วอช แชมพู” ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2543) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งออกตามความในมาตรา 5 และมาตรา 8 (10) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 เอกสารหมาย ล.6 เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องเข้าหลักเกณฑ์ 2 ข้อ คือ 1 เป็นเครื่องหมายที่มีปริมาณการจำหน่ายมากหรือมีการใช้หรือโฆษณาเป็นที่แพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี และ 2 เครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภค คดีนี้โจทก์คงมีแต่นายชาญวิทย์ อัศวชนะการ กรรมการบริษัทโจทก์ และนางสาวธิดารัตน์ ศรีกุลบุตร พนักงานบริษัทโจทก์เบิกความว่า สินค้าของโจทก์ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและห้างร้านอื่นตามรายชื่อลูกค้าเอกสารหมาย จ.9 และใบเสร็จรับเงินกับใบกำกับภาษีเอกสารหมาย จ.10 เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป แต่โจทก์ไม่มีลูกค้าตามรายชื่อในเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 แม้แต่รายเดียวมาเบิกความสนับสนุนทั้งที่เป็นพยานสำคัญ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน้อย แม้โจทก์จะมีเอกสารแนะนำสินค้าตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นพยาน แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบว่ามีการโฆษณาสินค้าของโจทก์ที่ใดบ้าง ฉะนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีปริมาณการจำหน่ายจำนวนมาก หรือมีการใช้หรือโฆษณาเป็นที่แพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไป หรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี ทั้งการที่โจทก์มิได้มีผู้บริโภคมาเบิกความเป็นพยานแม้แต่รายเดียวว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภคเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามข้อ 2 ของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวด้วย ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Carpro” ของจำเลยที่ 1 ที่แม้จะมีชื่อเสียงเรียกขานเป็นภาษาไทยเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ขัดต่อมาตรา 8 (10) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share