คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7569/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งวรรคสองได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอได้ก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอด เมื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนวันที่ประกาศขายทอดตลาดใหม่ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาดตามที่กฎหมายกำหนด
การยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 มีผลเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำนองและตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 (1) ได้บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ย ทั้งสัญญาจำนองที่ดินก็ระบุให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง ดังนี้ วงเงินจำนองตามที่ระบุในสัญญาจำนองหมายถึงเฉพาะหนี้เงินต้นไม่รวมถึงหนี้ดอกเบี้ย ผู้รับจำนองมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่เกินวงเงินจำนองได้แต่หนี้จำนองเป็นเพียงอุปกรณ์ การบังคับจำนองได้เพียงใดต้องพิจารณาจากหนี้ประธานว่ามีจำนวนเท่าใด ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อคืนโจทก์ หากไม่ส่งมอบรถคืนให้ร่วมกันชดใช้ราคา ค่าขาดประโยชน์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดี จังหวัดเชียงใหม่ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า จำเลยที่ 2 กู้เงินผู้ร้อง สาขาช้างคลานและนำที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับผู้ร้อง และจำเลยที่ 2 ยังทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับผู้ร้อง สาขาข่วงสิงห์ โดยเปิดบัญชีกระแสรายวัน สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีและนำเงินฝากเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 2 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันหลายครั้งแล้วไม่ชำระหนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นหนี้ผู้ร้องทั้งสองสาขาเป็นเงินรวม 1,214,371.86 บาท ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้บุริสิทธิจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ขอให้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 ตำบลวัดเกษ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 โดยปลอดจำนองและให้ผู้ร้องได้ชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 ตำบลวัดเกษ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงิน 600,000 บาท ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นในฐานะเจ้าหนี้จำนอง โดยให้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยวิธีปลอดจำนอง หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนด ให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบังคับคดีต่อไปได้คำขออื่นให้ยก
ผู้ร้องอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 ตำบลวันเกษ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 2 กู้เงินจากผู้ร้องในวงเงินจำนอง 600,000 บาท โดยตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อ ปีโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการแรกว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า กรณีของผู้ร้องเป็นการยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งวรรคสองได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอได้ก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2543 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ในวันที่ 18 สิงหาคม 2543 แต่ได้ความตามคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองและฎีกาของผู้ร้องโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่าในวันที่ 18 สิงหาคม 2543 ที่กำหนดให้มีการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่เป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองคดีนี้ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาดตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ส่วนวันที่ 18 สิงหาคม 2543 เป็นเพียงวันที่เจ้าพนักงานบังคดีประกาศให้มีการขายทอดตลาดครั้งแรกเท่านั้นโดยไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องต่อไปว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองในส่วนดอกเบี้ยที่เกินวงเงินจำนอง 600,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า การยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ย่อมมีผลเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำนองและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 (1) ได้บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ย ทั้งตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ร.4 ข้อ 1 ก็ระบุว่าจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้จำนวนเงิน 600,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง ดังนี้ วงเงินจำนองตามที่ระบุในสัญญาจำนองหมายถึงเฉพาะหนี้เงินต้นไม่รวมถึงหนี้ดอกเบี้ย ผู้รับจำนองมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่เกินวงเงินจำนองได้แต่หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ การบังคับจำนองได้เพียงใดต้องพิจารณาจากหนี้ประธานว่ามีจำนวนเท่าใด ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด การขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องก็มีสิทธิได้รับชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธาน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ได้วินิจฉัยในข้อนี้ไว้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยใหม่ ในข้อนี้ผู้ร้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 กู้เงินผู้ร้องไป 600,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี และยอมให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของผู้ร้องภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตกลงผ่อนชำระทุกเดือน เดือนละ 7,400 บาท นับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2538 ปรากฏว่าหลังจากกู้เงินแล้วจำเลยที่ 2 ชำระหนี้เพียงบางส่วนโดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 จำนวน 16,807 บาท หักแล้วคงค้างต้นเงินอยู่ 589,699.20 บาท ดอกเบี้ย 4,143.49 บาท แล้วไม่ชำระอีก จำเลยที่ 2 จึงผิดนัดไม่ชำระหนี้ในเดือนถัดไปตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2538 ผู้ร้องมีสิทธิขอรับชำระหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระครั้งสุดท้ายกับดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมเป็นเงิน 593,842.69 บาท และดอกเบี้ยในต้นเงินค้างชำระนับตั้งแต่วันผิดนัดวันที่ 25 ตุลาคม 2538 ซึ่งตามรายการคำนวณหนี้เอกสารหมาย ร.11 และ ร.12 ปรากฏว่าก่อนผิดนัดผู้ร้องคิดอกเบี้ยในอัตราปกติไม่ผิดนัดตามประกาศของผู้ร้องเอกสารหมาย ร.17 ที่เป็นสินเชื่อเพื่ออนาคตวงเงินกู้ยืมไม่เกิน 750,000 บาท ในอัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี จนถึง 14.25 ต่อปี แต่หลังจากผิดนัดแล้ว ผู้ร้องปรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดเป็นอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี นับแต่เดือนตุลาคม 2538 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 จากนั้นปรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่เดือนมกราคม 2539 แล้วเพิ่มขึ้นเป็นดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 22 ต่อปี จนถึงอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ก่อนที่จะลดลงจนเหลืออัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ในขณะขอรับชำระหนี้จำนอง เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยปกติที่ไม่ผิดนัดสูงกว่าอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ได้ตามประกาศของผู้ร้องภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบตามสัญญากู้เงินข้อ 2 แต่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยปกติที่ไม่ผิดนัดตามสัญญาข้อ 4 ถือว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนายลดลงได้ตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง พิจารณาแล้วเห็นควรลดเบี้ยปรับลงเท่ากับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดครั้งแรกในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2538 จนถึงวันที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองตามที่ผู้ร้องขอ”
พิพากษากลับว่า ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 ตำบลวัดเกษ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยปลอดจำนองก่อนโจทก์จำนวน 593,842.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 589,699.20 บาท นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2538 จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share