คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติมาตรา 37 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิตพ.ศ. 2535 มุ่งคุ้มครองผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์เพราะบริษัทประกันชีวิตที่มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
การฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มาตรา 37 ของบริษัทประกันชีวิตโดยประวิงการใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์มิใช่เพียงเป็นการผิดสัญญาประกันภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์อีกด้วย ดังนั้นหากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 37 วรรคสองของพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงิน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 กำหนดในข้อ 7 ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้บริษัทใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับ เป็นการประวิงการใช้เงินตามมาตรา 37 วรรคสอง โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ แต่จำเลยไม่ใช้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์แต่จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับจำเลยก็ยังไม่ใช้เงินแก่โจทก์ จนโจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดี จำเลยจึงยอมใช้เงินให้ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้างทนายความในการบังคับคดีและขอให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวการกระทำของจำเลยตามฟ้องย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากการเยียวยาความเสียหายโดยการดำเนินการบังคับคดีตามปกติอย่างคดีแพ่งทั่วไปแล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดได้อีกทางหนึ่งด้วยจึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์และได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยอย่างอื่น โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยฉบับลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2539ระหว่างนายยศ อินทร์ทอง ผู้เอาประกันภัย กับจำเลยผู้รับประกันภัย ระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นายยศผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย จำเลยมีหน้าที่ชดใช้เงินตามกรมธรรม์ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยปฏิเสธการชำระเงิน โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงิน ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 16327/2541 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ต่อมาคดีถึงที่สุด โจทก์ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยอันเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงิน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันของบริษัทประกันชีวิตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความให้ดำเนินการบังคับคดีเป็นเงิน 30,000 บาท โดยไม่จำเป็น อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาเอง การที่โจทก์มอบหมายให้ทนายความดำเนินการแทนในเรื่องระหว่างโจทก์กับทนายความมิใช่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มาตรา 37บัญญัติในวรรคหนึ่งว่า ห้ามมิให้บริษัทประวิงการใช้เงินแก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และในวรรคสองอีกว่า การกระทำหรือการปฏิบัติใด ๆ ของบริษัทที่จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด การฝ่าฝืนตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 37 นี้เป็นความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 93ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ดังกล่าว เห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์เพราะบริษัทประกันชีวิตที่มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สำหรับบริษัทประกันชีวิตที่ไม่มีจริยธรรมทางธุรกิจ อาจถือโอกาสที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่านี้ ดำเนินธุรกิจแบบเอารัดเอาเปรียบหรือคดโกง ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ได้ จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติคุ้มครองดังกล่าว การฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535มาตรา 37 ของบริษัทประกันชีวิตโดยประวิงการใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ จึงมิใช่เพียงเป็นการผิดสัญญาประกันภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์อีกด้วย ดังนั้นหากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

สำหรับฟ้องคดีนี้โจทก์บรรยายด้วยว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 37 วรรคสองของพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงิน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 กำหนดในข้อ 7 ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้บริษัทใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับเป็นการประวิงการใช้เงินตามมาตรา 37 วรรคสอง โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ แต่จำเลยไม่ใช้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์แต่จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับ จำเลยก็ยังไม่ใช้เงินแก่โจทก์ จนโจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดี จำเลยจึงยอมใช้เงินให้ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้างทนายความในการบังคับคดีและขอให้จำเลยใช้เงินดังกล่าว ดังนี้ การกระทำของจำเลยตามฟ้องย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากการเยียวยาความเสียหายโดยการดำเนินการบังคับคดีตามปกติอย่างคดีแพ่งทั่วไปแล้วโจทก์ยังฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดได้อีกทางหนึ่งด้วย ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share