คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21310/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 วรรคหนึ่ง เป็นการฟ้องให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรับผิดในทางแพ่งที่มีเหตุมาจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้เลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดว่า จำเลยหาเสียงด้วยความบริสุทธิ์ ไม่เคยซื้อเสียงหรือให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้บุคคลใดมาลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตน คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ความตามคำฟ้อง ส่วนจำเลยก็มีสิทธินำสืบปฏิเสธความรับผิดตามคำให้การ
ส่วนคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 8, 57 และ 118 และขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนด 10 ปี ศาลพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดนั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวเป็นเพียงพยานหลักฐานที่จำเลยสามารถนำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ฟังยุติว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดทางอาญาแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไม่ ทั้งนี้เพราะคำสั่งของโจทก์ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งนั้น เป็นอำนาจเด็ดขาดของโจทก์ และถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอยู่ แม้ภายหลังมีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งดังกล่าว ผลของคำพิพากษาในคดีอาญาก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่สั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย และพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยนำผลของคำพิพากษาในคดีอาญามาผูกพันกับคดีนี้ทั้งที่ไม่ใช่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 578,548.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 555,652.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4272/2549 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 8, 57 และ 118 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมาโจทก์แถลงขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณา เนื่องจากคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกคดีขึ้นพิจารณา
ในวันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงจากโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหาเป็นผู้สมัครกระทำการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนให้แก่ตนเองและงดเว้นการลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครอื่นตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 นั้น ศาลพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 โจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จำเลยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอจตุรพักตรพิมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 หมายเลข 2 ในคราวเลือกตั้งวันที่ 14 มีนาคม 2547 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด โดยเขตอำเภอจตุรพักตรพิมาน มี 2 เขตเลือกตั้ง แต่ละเขตมีสมาชิกสภาจังหวัดได้เขตละ 1 คน จำเลยเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอจตุรพักตรพิมาน ด้วยคะแนนอันดับที่ 1 ต่อมาโจทก์เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยเป็นเวลา 1 ปี พร้อมทั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 19 กันยายน 2547 เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า จำเลยปราศรัยหาเสียงในลักษณะเป็นการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ชุมชน และใส่ร้ายหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครใด เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนให้แก่ตน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 หลังจากเลือกตั้งใหม่แล้ว โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากต้องมีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่จำนวน 555,652.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่จำเลยเพิกเฉย นอกจากนี้พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาเป็นผู้สมัครกระทำการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนให้แก่ตนเองและงดเว้นการลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครอื่นตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 คดีอาญาดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย และมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนมานั้นชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยฟังว่า เมื่อจำเลยมิได้กระทำผิดทางอาญาแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 วรรคหนึ่ง เป็นการฟ้องให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรับผิดในทางแพ่งที่มีเหตุมาจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้เลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดและต่อสู้ว่า จำเลยหาเสียงด้วยความบริสุทธิ์ ไม่เคยซื้อเสียงหรือให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้บุคคลใดมาลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตน คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมานำสืบให้ได้ความตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง ส่วนจำเลยก็มีสิทธิที่จะนำสืบปฏิเสธความรับผิดตามประเด็นในคำให้การ
ส่วนคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 8, 57 และ 118 และขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนด 10 ปี และต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้วนั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวก็เป็นเพียงพยานหลักฐานหนึ่งที่จำเลยสามารถนำมาสืบเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จะฟังยุติว่า เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดทางอาญาแล้วจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ไม่ ทั้งนี้เพราะคำสั่งของโจทก์ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งนั้น เป็นอำนาจเด็ดขาดของโจทก์ และถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอยู่ แม้ต่อมาภายหลังมีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งดังกล่าว ผลของคำพิพากษาในคดีอาญาก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่สั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย และพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยนำผลของคำพิพากษาในคดีอาญามาผูกพันกับคดีนี้ทั้งที่ไม่ใช่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น เป็นการไม่ชอบ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share