แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก่อนที่จะได้ยื่นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดที่มีโทษตาม ป.อ. ดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่ว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ ดังนั้นคดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม
เมื่อคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2549 และโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2549 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คดีนี้จำเลยรับข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมีอยู่ของคำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำรับของจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าอ้างเอกสารเป็นพยานตาม ตาราง 2 ท้าย ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะฟ้องคดีนี้อีก
ผลของคดีอาญาทำให้โจทก์ได้รับการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงในระดับหนึ่งแล้ว คดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบเลยว่าความเสียหายของโจทก์จากการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงมีเพียงใด และเมื่อคำนึงสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่เกิดเหตุกับฐานะของโจทก์และจำเลยที่เป็นมูลเหตุให้มีการกล่าวหมิ่นประมาทแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้เพียง 30,000 บาท
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ฟังได้ว่ามีความเสียหายแก่ชื่อเสียงเพียงใดนั้น เห็นว่า การนำสืบฟังได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดดอกเบี้ยให้นับแต่วันทำละเมิดซึ่งเกินคำขอ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยประกาศโฆษณาคำพิพากษา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่ขาดอายุความ จำเลยกล่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่นำสืบถึงจำนวนค่าเสียหาย แต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2548 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่ขาดอายุความ โจทก์ไม่ต้องเสียค่าอ้างเอกสารเพราะการเรียกค่าเสียหายในคดีละเมิดกฎหมายไม่ได้บังคับให้นำเอกสารเกี่ยวกับการทำละเมิดมาแสดง ทั้งจำเลยรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 952/2549 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นมูลให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังยุติตามคดีอาญาตามที่จำเลยรับโดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าอ้างเอกสาร การกระทำของจำเลยทำให้นักการเมืองที่ต้องอาศัยความนิยมของประชาชนได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน เป็นการวิจารณ์ที่ไม่รอบคอบ เห็นควรให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2548 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 11 อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี 6 สมัย จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านกุดหวาย หมู่ที่ 9 ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2548 จำเลยกล่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงในที่ประชุมประชาคม หมู่บ้านกุดหวายว่า “เงินที่ ส.ส.ชาตรี นำมาทอดกฐินที่วัดบ้านกุดหวายเมื่อปีที่แล้วจำนวน 10,000 บาท ไม่ใช่เงินส่วนตัว เป็นเงินของรัฐบาลที่นำมาจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลให้วัดละ 20,000 บาท แต่ ส.ส.ชาตรี นำมาให้วัด 10,000 บาท ส่วนอีก 10,000 บาท ไม่รู้ไปไหน ส่วนปีนี้ ส.ส.ตุ่น จะนำมาให้วัดละ 20,000 บาท เป็นเงินกองสลาก ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการถ่ายรูปวัดกำลังก่อสร้าง โดยปีนี้เงินจะไม่ถูกหัก เงินจะได้เต็ม 20,000 บาท” ศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 952/2549 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท พฤติการณ์แห่งคดียังไม่ร้ายแรง ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี คดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้วเพราะโจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก่อนที่จะได้ยื่นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ที่ว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับดังนั้นคดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปีนับแต่วันที่คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม เมื่อคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2549 และโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2549 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า การที่โจทก์ไม่ได้เสียค่าอ้างเอกสารคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 952/2549 ไว้ในสำนวนคดีนี้ทำให้คดีรับฟังตามเอกสารดังกล่าวไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยรับข้อเท็จจริงว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมีอยู่ของคำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำรับของจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน ตามตาราง 2 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะฟ้องคดีนี้อีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ 100,000 บาท นั้น สูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ผลของคดีอาญาทำให้โจทก์ได้รับการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงในระดับหนึ่งแล้ว คดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบเลยว่าความเสียหายของโจทก์จากการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงมีเพียงใด และเมื่อคำนึงสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่เกิดเหตุกับฐานะของโจทก์และจำเลยที่เป็นมูลเหตุให้มีการกล่าวหมิ่นประมาทแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้เพียง 30,000 บาท
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ฟังได้ว่ามีความเสียหายแก่ชื่อเสียงเพียงใด นั้น เห็นว่า การนำสืบฟังได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดดอกเบี้ยให้นับแต่วันทำละเมิดซึ่งเกินคำขอ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3