คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2477

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจตนาลวง สมยอม ขัดทรัพย์ พฤตติการณ์อย่างไรเป็นการโอนให้กันโดยสมยอมหรือการแสดงเจตนาลวง บิดาได้โอนทรัพย์ให้บุตร์เมื่อถูกฟ้องแล้ว บุตร์ได้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้นต่อ ๆ มาในหมู่วงษ์ญาติ แลมิได้วางเงินแก่กันเลย แสดงให้เห็นว่าเป็นการสมรู้กัน แสดงเจตนาเพื่อลวงผู้อื่นอันเป็นโมฆะตามมาตรา 118

ย่อยาว

โจทก์ชนะคดีจำเลยได้ยึดที่นารายพิพาทของจำเลย ส. ร้องขัดทรัพย์ว่าที่นารายนี้เป็นของผู้ร้อง เพราะจำเลยได้โอนให้ผู้ร้องแล้ว
ศาลเดิมฟังว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ จำเลยรับหมายในวันรุ่งขึ้น แลในวันที่ ๒๗ เดือนเดียวกันจำเลยก็โอนนาแปลงนี้ให้แก่ ช. ผู้บุตร์ในวันเดียวกันนั้น ช.ได้ทำสัญญาขายฝากให้แก่ผู้ร้องต่อมา ช.ไถ่ถอนการขายฝากแล้วโอนกรรมสิทธิให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ปีเดียวกัน แลในวันเดียวกันนั้นผู้ร้องได้เอาไปจำนองนางสงวนอีกทอดหนึ่ง ประกอบกับ ช.บุตร์จำเลยก็ดี ผู้ร้องก็ดีเป็นคนใกล้ชิดกับจำเลย พฤตติการณ์จึงฟังได้ว่าเป็นการโอนให้กันโดยวิธีสมยอม จึงให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลเดิม
ศาลฎีกาเห็นว่าตามท้องสำนวนไม่ปรากฎเลยว่าเพราะเหตุใดจำเลยจึงโอนให้ ช. บุตร์โดยเสน่หา แลทำไม่ ช.จึงต้องขายชอดให้แก่ผู้ร้องเมื่อไม่ปรากฎเหตุที่ ช. จะต้องการเงินทองแล้ว ต้องฟังว่าเป็นการสมยอมกัน เป็นการที่คู่กรณีได้สมรู้กันแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะตามประมวลแพ่งมาตรา ๑๑๘ ทั้งปรากฎว่าเวลาซื้อขายกันมิได้วางเงินสดกันเลย จึงพิพากษาให้ยกฎีกาผู้ร้อง

Share