คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร 2486 มาตรา 10 กำหนดเวลาชำระหนี้ค่าภาษีของผู้ส่งของออกต้องถือว่าตกอยู่ในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบขนสินค้าให้
(อ้างฎีกา 476/2492)
ใบขนสินค้านั้น กรมศุลกากรออกให้แก่ผู้ขนส่งสินค้าเมื่อชำระค่าภาษี วิธีการต่อมาก็เป็นแต่เพียงการที่โจทก์ต้องนำใบขนไปให้เจ้าพนักงานของกรมศุลกากรตรวจสอบกับสินค้าว่าตรงตามใบขนนั้นหรือไม่ แล้วควบคุมสินค้านั้นไปจนถึงท่าออกเรือ เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนเพิ่มเติมสินค้านั้นเท่านั้น กรมศุลกากรหามีอำนาจที่จะเพิกถอนใบขนที่ได้ออกให้แล้วนั้นไม่.
โจทก์ผู้ขนส่งสินค้าลงนามในบันทึกหลังใบขนสินค้าขาออกว่า “ถ้าคำนวณตามพิกัดอัตราที่ใช้อยู่ในวันที่ 7/5/89 ข้าพเจ้าได้ชำระเงินเพิ่มเติมอีก” นั้นหาใช่เป็นการรับสภาพหนี้ไม่.

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ ศาลพิจารณารวมกัน ได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๙ โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ขออนุญาตจำเลยส่งสินค้าปลาทูเค็มออกไปฮ่องกง โดยเรือกลไฟของบริษัทอีสเอเซียติ๊ก จำกัด นายประเสริฐโจทก์ได้ชำระค่าภาษีขาออก ๓๘๔๐ บาท นายเป็งจือโจทก์ชำระ ๒๕๒๐ บาทให้แก่จำเลย ซึ่งเงินค่าภาษีขาออกทั้ง ๒ จำนวนนี้เป็นการถูกต้องครบถ้วนตามอัตราแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้น และเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ออกใบอนุญาตให้ขนส่งสินค้านั้นไปได้แล้ว ในระหว่างที่กำลังขนส่งสินค้านั้นลงเรือก่อนที่เรือออกจากเกาะสีชังอันเป็นเขตต์ท่าเรือชั้นที่สุด ได้มี พ.ร.บ.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉะบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๘๙ ออกใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นต้นไป ถ้าคำนวณภาษีขาออกตามกฎหมายฉะบับใหม่ นายประเสริฐโจทก์จะต้องชำระสำหรับค่าสินค้านั้นอีก ๗๖,๘๐๐ บาท นายเป็งจือโจทก์อีก ๕๐,๔๐๐ บาท จำเลยได้บังคับให้โจทก์ชำระเงินตามที่เพิ่มขึ้นนั้น มิฉะนั้นไม่ยอมให้เรือบันทุกสินค้านั้นออกไป เป็นเหตุให้บริษัทอีสเอเซียติ๊ก จำกัดเจ้าของเรือต้องค้ำประกันเงินค่าภาษีนั้นไว้เพื่อให้ปล่อยเรือสินค้าออกไปได้ และทำให้โจทก์ต้องชำระเงินทั้งสองจำนวนแก่จำเลยเพื่อปลดการค้ำประกัน
โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินทั้ง ๒ จำนวนคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย อ้างว่าจำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกได้ จำเลยให้การแก้ว่าจำเลยมีอำนาจเรียกเก็บเอาเงินค่าภาษีขาออกสำหรับสินค้าของโจทก์ในอัตราใหม่ได้ตามกฎหมายและว่าหนี้รายนี้โจทก์ก็รับสภาพหนี้และชำระให้จำเลยแล้ว และตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้จำเลยชำระเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร ๒๔๘๖ นั้นกำหนดเวลาชำระหนี้ค่าภาษีของผู้ส่งของออกต้องถือว่าตกอยู่ในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบขนสินค้าให้
ข้อโต้เถียงของจำเลยว่า การที่โจทก์เสียภาษีกับการที่จำเลยเก็บภาษีอาจแยกออกจากกัน ศาลฎีกาเห็นว่า ใบขนนั้นจำเลยได้ออกให้แก่โจทก์แล้วเมื่อชำระค่าภาษี วิธีการต่อมาก็เป็นเพียงแต่เพียงการที่โจทก์ต้องนำใบขนไปให้เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจสอบกับสินค้าว่าจะตรงตามใบขนนั้นหรือไม่ แล้วควบคุมสินค้านั้นไปจนถึงท่าออกเรือเพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนเพิ่มเติมสินค้านั้นเท่านั้น จำเลยหามีอำนาจที่จะเพิกถอนใบขนที่ได้ออกให้แล้วนั้นไม่ ฉะนั้นการเรียกเก็บภาษีจึงเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปแล้วในขณะที่ออกใบขน
ข้อที่จำเลยโต้แย้งว่า การฟ้องของโจทก์เป็นการเรียกคืนลาภมิควรได้ แต่จำเลยได้ทำการรับสภาพหนี้เป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ และมาฟ้องเกิน ๑ ปีนับแต่วันรับสภาพหนี้แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ลงนามในบันทึกหลังใบขนสินค้าออกว่า “ถ้าคำนวณตามพิกัดอัตราที่ใช้อยู่ในวันที่ ๗/๕/๘๙ ข้าพเจ้าจะต้องชำระเงินเพิ่มเติมอีก” นั้น หาใช่เป็นการรับสภาพหนี้อย่างไรไม่ เพราะแสดงอยู่ในตัวประกอบกับข้อเท็จจริงแห่งคดีว่าโจทก์ยังโต้แย้งสิทธิในการเรียกเก็บภาษีเพิ่มของจำเลยอยู่ตลอดเวลา การที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยไปก็มิใช่เป็นการชำระหนี้ เพราะใบใบเสร็จรับเงินของจำเลยเองมีข้อความชัดอยู่ว่าเป็นเงินวางประกัน แสดงให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างสงวนสิทธิที่จะมาตั้งพิพาทหรือข้อโต้แย้งกันในทางศาล
พิพากษายืน.

Share