แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ข้อ 22 ซึ่งกำหนดว่า “การจ่ายค่าทดแทนให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน แต่การจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจะทำได้ก็แต่โดยอนุมัติของอธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายเท่านั้น” เมื่อคดีของโจทก์ไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายได้พิจารณาอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ในคราวเดียวเต็มจำนวนแล้วยังปรากฏจากคำขอบังคับแห่งคำฟ้องของโจทก์ว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนรายเดือนให้แก่โจทก์เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน แสดงว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้จำเลยเป็นรายเดือนที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวเต็มจำนวนจึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จึงยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานกองทุนเงินทดแทนกรมแรงงาน แต่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนพิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีจำเลยเป็นประธานมีคำวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนเป็นการชอบแล้ว ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยและมติของจำเลยและพิพากษาว่าโจทก์ได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนและค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าการที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและมติของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่เกี่ยวข้องเสีย ให้จำเลยดำเนินการจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ กรณีไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน 3 วัน เป็นเงิน 21,600 บาท กรณีที่โจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะคือเท้าขาดข้างหนึ่งเป็นเงิน 118,800 บาท และให้จำเลยดำเนินการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์อีกเป็นเงิน 30,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 170,400 บาท จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนรายเดือนให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนสำหรับกรณีที่โจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะคือสูญเสียเท้าซ้ายเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน คิดเป็นเงิน 118,800 บาท เท่ากับโจทก์ขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนรายเดือนในอัตราเดือนละ 3,600 บาท นับตั้งแต่วันที่โจทก์ประสบอันตราย (31 ธันวาคม 2530) เป็นระยะเวลา 2 ปี9 เดือน จนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา จำเลยมีหนี้ถึงกำหนดชำระเพียง 12 เดือน เป็นเงิน 43,500 บาท ส่วนค่าทดแทนรายเดือน1 ปี 9 เดือน เป็นเงินรวม 75,600 บาท ยังไม่ถึงกำหนดชำระแต่อย่างใดแต่ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ในกรณีนี้เป็นเงิน 118,800 บาท โดยมิได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนตามที่โจทก์ขอในคำขอท้ายฟ้อง จึงขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 54 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 ข้อ 16 พิเคราะห์แล้วได้ความว่า บริษัท คั้นกี่น้ำเต้าทอง จำกัด นายจ้างของโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และโจทก์ในคดีนี้ก็ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน การจ่ายเงินทดแทนรายนี้จึงต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516ข้อ 22 ซึ่งกำหนดว่า “การจ่ายค่าทดแทนให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดการจ่ายค่าทดแทน ฉบับลงวันที่ 16เมษายน 2515 แต่การจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจะทำได้แต่โดยอนุมัติของอธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายเท่านั้น” เช่นนี้ การพิจารณาจ่ายค่าทดแทนให้ลูกจ้างคราวเดียวเต็มจำนวนจึงจะกระทำได้ต่อเมื่ออธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายได้อนุมัติ คดีของโจทก์นอกจากจะไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายได้พิจารณาอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ในคราวเดียวเต็มจำนวนแล้วยังปรากฏจากคำขอบังคับแห่งคำฟ้องของโจทก์ ข้อ 3 ว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนรายเดือนให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนสำหรับกรณีที่โจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะคือ สูญเสียเท้าซ้ายเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 118,800 บาท ตามคำขอบังคับดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้จำเลยเป็นรายเดือน ดังนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์คราวเดียวเต็มจำนวนจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 ข้อ 22 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31″
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับค่าทดแทนกรณีที่โจทก์ต้องสูญเสียเท้าซ้าย ให้จำเลยจ่ายในอัตราเดือนละ 3,600 บาท นับแต่วันที่โจทก์ประสบอันตรายถึงวันที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเป็นเงิน 43,200 บาทและชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 3,600 บาท ต่อไปอีกมีกำหนด 1 ปี 9เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง