คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1390/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 10 วรรคท้าย บัญญัติว่า “สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง เป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี…” หมายถึง ผู้ที่เสียเงินอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย ต้องยื่นคำร้องขอเงินอากรที่เสียไว้เกินภายใน 2 ปี แต่คดีนี้โจทก์ขอคืนค่าอากรที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเพิ่มตามมาตรา 112,112 ทวิโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ต้องเสียอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ได้ชำระค่าอากรและเงินเพิ่มตามที่ได้แจ้งการประเมินไปในระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม2541 และได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 ยังไม่พ้น 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
แม้โจทก์จะนำใบส่งสินค้าทั้ง 12 เที่ยวจำนวน 12 ใบขน ซึ่งมีจำนวนเงินแต่ละใบขนแตกต่างกันมาฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันก็ตาม ก็ต้องถือว่าการฟ้องแต่ละใบขนสินค้าหรือแต่ละเที่ยวเป็นข้อหาแยกต่างหากจากกัน สิทธิในการอุทธรณ์จึงต้องพิจารณาตามจำนวนทุนทรัพย์พิพาทตามใบขนสินค้าแต่ละเที่ยว ซึ่งทุนทรัพย์ที่พิพาทในแต่ละใบจะต้องมีทุนทรัพย์เกินกว่า 50,000 บาท จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 25คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกคืนค่าอากรขาเข้าและดอกเบี้ยสำหรับการนำเข้าสินค้ารวม 12 เที่ยวแต่ทุนทรัพย์ที่พิพาทสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเที่ยวที่สอง เที่ยวที่สาม เที่ยวที่แปดเที่ยวที่สิบและเที่ยวที่สิบสอง มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะตามใบขนสินค้าขาเข้าเที่ยวแรก เที่ยวที่สี่ เที่ยวที่ห้า เที่ยวที่หก เที่ยวที่เจ็ด เที่ยวที่เก้า และเที่ยวที่สิบเอ็ด รวม 7 เที่ยว ซึ่งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทแต่ละใบขนสินค้าเกินกว่า 50,000บาท
พระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 2 วรรคสิบสอง บัญญัติว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาแห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุนณ เวลา และที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีการหักทอนหรือลดหย่อนราคาแต่อย่างใด” หมายความว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดคือราคาเงินสดที่พึงขายสินค้าได้โดยไม่ขาดทุน ทั้งนี้โดยพิเคราะห์ถึงประเภทของสินค้า ราคาของสินค้าสถานที่นำสินค้าเข้าหรือส่งสินค้าออก เวลาที่ซื้อขายสินค้า และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาที่พึงขายได้ ส่วนราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินตามหลักเกณฑ์คำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ประกาศส่วนมาตรฐานพิธีการและราคาและประกาศสำนักมาตรฐานศุลกากรนั้นมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แต่เป็นเพียงแนวทางในการคำนวณหาราคาตลาดที่แท้จริงในกรณีไม่ทราบราคาตลาดที่แท้จริงหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เชื่อว่าราคาสินค้าที่ผู้นำเข้าหรือส่งออกได้สำแดงไว้เท่านั้น ราคาที่ประเมินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นการประเมินในกรอบกว้าง ๆ โดยยังมิได้พิเคราะห์ถึงปัจจัยต่าง ๆดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงการคาดคะเนโดยไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าราคาท้องตลาดที่แท้จริงในขณะที่โจทก์นำเข้ามานั้นเป็นจำนวนเท่าใด การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าทั้ง 7 เที่ยวเพิ่มขึ้นและเรียกค่าภาษีอากรเพิ่มนั้นเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงการคลังระหว่างเดือนตุลาคม 2537 ถึงเดือนมิถุนายน 2541 โจทก์นำเข้าสินค้าเคมีภัณฑ์ จำนวน12 เที่ยว โดยในชั้นผ่านพิธีการศุลกากรโจทก์สำแดงเสียภาษีตามราคาที่โจทก์ซื้อมาจริงเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดขณะนั้น โจทก์ชำระภาษีแล้ว ต่อมาจำเลยประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าเพิ่มขึ้นโดยมิได้แจ้งว่าเพิ่มขึ้นเป็นเมตริกตันละเท่าใด เพียงแต่แจ้งให้โจทก์ไปชำระค่าอากรขาเข้าเพิ่มพร้อมกับเงินเพิ่มและภาษีอื่น ๆ เพิ่ม โจทก์นำเงินไปชำระแล้ว การที่จำเลยประเมินราคาเพิ่มและเรียกค่าภาษีอากรเพิ่มดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะราคาที่ประเมินเพิ่มไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การที่จำเลยประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสอง มาตรา 112 ทวิ และมาตรา 14 ราคาที่จำเลยถือเป็นเกณฑ์ประเมินเรียกเก็บภาษีอากรสำหรับสินค้าของโจทก์ที่นำเข้ามิใช่ราคาตามความหมายในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 9 จำเลยต้องคืนเงินภาษีอากรที่เรียกเก็บไว้โดยไม่ถูกต้องแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ .625ต่อเดือน หรือร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเพิ่มไว้จนถึงวันฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรและเงินเพิ่มเกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามฟ้อง ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,150,033.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 916,616.19 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงตามใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้องไม่ใช่ราคาสินค้าอันแท้จริงในท้องตลาด เป็นราคาซื้อขายที่โจทก์กับผู้ขายในต่างประเทศตกลงทำกันขึ้นเพื่อสำแดงต่อจำเลยสำหรับการเสียภาษีอากร ซึ่งต่ำกว่าราคาซื้อขายอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยจึงมีอำนาจประเมินราคาสินค้าใหม่ให้ถูกต้องตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินโดยเทียบเคียงกับราคาสินค้าของผู้นำเข้ารายอื่นรวมทั้งของโจทก์ ซึ่งเคยนำเข้าในระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันประกอบกับราคาประกาศสินค้ากองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากรเป็นเกณฑ์ประเมินนอกจากนี้ยังต้องนำปริมาณของสินค้าซึ่งคำนวณตรวจชั่งตวงวัดในขณะที่มีการตรวจปล่อยสินค้ามาคำนวณเป็นราคาสินค้าที่ใช้ประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ โจทก์ฟ้องขอคืนเงินอากรเกินกว่ากำหนด 2 ปี นับแต่วันนำของเข้ามาในราชอาณาจักร ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์มิได้โต้แย้งสงวนสิทธิในการขอคืนเงินอากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรและเงินเพิ่มเกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามฟ้อง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,150,033.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน916,616.19 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ฟ้องขอคืนภาษีอากรคดีนี้เกิน 2 ปี จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคท้าย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคท้าย บัญญัติว่า “สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง เป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี…” หมายถึงผู้ที่เสียเงินอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย ต้องยื่นคำร้องขอเงินอากรที่เสียไว้เกินภายใน 2 ปี แต่คดีนี้โจทก์ขอคืนค่าอากรที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเพิ่มตามมาตรา 112, 112 ทวิ โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ต้องเสียอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมิน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 โจทก์ได้ชำระค่าอากรและเงินเพิ่มตามที่ได้แจ้งการประเมินไปในระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม2544 ยังไม่พ้น 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า ราคาสินค้าตามใบขนสินค้าจำนวน 12 เที่ยว ตามฟ้องโจทก์เป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ ในประเด็นปัญหาข้อนี้เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เห็นว่า แม้โจทก์จะนำใบส่งสินค้าทั้ง12 เที่ยวจำนวน 12 ใบขน ซึ่งมีจำนวนเงินแต่ละใบขนแตกต่างกันมาฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันแต่ก็ต้องถือว่าการฟ้องแต่ละใบขนสินค้าหรือแต่ละเที่ยวเป็นข้อหาแยกต่างหากจากกัน สิทธิในการอุทธรณ์จึงต้องพิจารณาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามใบขนสินค้าแต่ละเที่ยวที่โจทก์นำเข้า ซึ่งทุนทรัพย์ที่พิพาทในแต่ละใบขนจะต้องมีทุนทรัพย์เกินกว่า 50,000 บาท จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกคืนค่าอากรขาเข้าและดอกเบี้ยสำหรับการนำเข้าสินค้าในแต่ละเที่ยวหรือแต่ละใบขนสินค้ารวม 12 เที่ยวหรือ 12 ใบขน คือ เที่ยวแรก เป็นเงิน 163,754.33 บาท เที่ยวที่สอง เป็นเงิน 30,634.75 บาท เที่ยวที่สาม เป็นเงิน 10,426.75 บาท เที่ยวที่สี่ เป็นเงิน82,195.52 บาท เที่ยวที่ห้า เป็นเงิน 130,521.07 บาท เที่ยวที่หก เป็นเงิน 448,542.07บาท เที่ยวที่เจ็ด เป็นเงิน 67,849.59 บาท เที่ยวที่แปด เป็นเงิน 23,471.86 บาท เที่ยวที่เก้า เป็นเงิน 52,924.37 บาท เที่ยวที่สิบ เป็นเงิน 11,775.82 บาท เที่ยวที่สิบเอ็ดเป็นเงิน 102,573.24 บาท เที่ยวที่สิบสอง เป็นเงิน 25,363.83 บาท เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเที่ยวที่สอง เที่ยวที่สาม เที่ยวที่แปด เที่ยวที่สิบและเที่ยวที่สิบสองมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรคงรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะตามใบขนสินค้าขาเข้าเที่ยวแรก เที่ยวที่สี่ เที่ยวที่ห้า เที่ยวที่หก เที่ยวที่เจ็ด เที่ยวที่เก้า และเที่ยวที่สิบเอ็ด รวม 7 เที่ยว หรือ 7 ใบขน ซึ่งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทแต่ละใบขนสินค้าหรือแต่ละเที่ยวเกินกว่า 50,000 บาท ในประเด็นข้อนี้โจทก์มีนายอดิเทพ รัชตังกูร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการเงินของโจทก์และนางสาวนภาพร เดชโต ผู้จัดการฝ่ายอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ตของโจทก์เบิกความว่า เมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2537 ถึงเดือนมีนาคม 2541 โจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์จากต่างประเทศรวม 12 เที่ยว โดยในชั้นผ่านพิธีการศุลกากรโจทก์สำแดงภาษีอากรตามราคาที่โจทก์ซื้อมาจริงเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดขณะนั้นส่วนจำเลยมีนางสาวทิพวรรณ จิตรัตน์ นายวีระ มงคล นางสาวรัตนา กสิกิจ และนางธารารัตน์ ไตรพิบูลย์สุข พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทำการประเมินราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้จำนวน 12 เที่ยว เบิกความว่า โจทก์สำแดงราคาสินค้าเคมีภัณฑ์จำนวน 12 เที่ยวไว้ต่ำกว่าราคาสูงสุดที่โจทก์หรือผู้อื่นนำเข้ามาภายในระยะเวลา 30 วัน ก่อนวันนำเข้าซึ่งมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงได้ทำการประเมินราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่โจทก์สำแดงไว้เพิ่มขึ้น โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 4/2539 ประกาศส่วนมาตรฐานพิธีการและราคา ที่ 8/2539 คำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 44/2540 และประกาศสำนักมาตรฐานศุลกากร ที่ 219/2541 ด้วยการเทียบเคียงกับราคาสินค้าของผู้นำเข้ารายอื่นรวมทั้งของโจทก์ที่เคยนำเข้ามาในระยะเวลาใกล้เคียงกันประกอบกับราคาประกาศสินค้าของกองวิเคราะห์ราคา การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสอง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติว่า”ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาแห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีการหักทอนหรือลดหย่อนราคาแต่อย่างใด” หมายความว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดคือราคาเงินสดที่พึงขายสินค้าได้โดยไม่ขาดทุน ทั้งนี้โดยพิเคราะห์ถึงประเภทของสินค้าราคาของสินค้า สถานที่นำสินค้าเข้าหรือส่งสินค้าออก เวลาที่ซื้อขายสินค้า และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาที่พึงขายได้ ส่วนราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินตามหลักเกณฑ์คำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 4/2539 ประกาศส่วนมาตรฐานพิธีการและราคาที่ 8/2539 คำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 44/2540 และประกาศสำนักมาตรฐานศุลกากรที่ 219/2541 นั้นมิใช่อันแท้จริงในท้องตลาด แต่เป็นแนวทางในการคำนวณหาราคาตลาดที่แท้จริงในกรณีไม่ทราบราคาตลาดที่แท้จริงหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เชื่อว่าราคาสินค้าที่ผู้นำเข้าหรือส่งออกได้สำแดงไว้เท่านั้น ราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่คำนวณได้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมิได้ฟังเป็นเด็ดขาดว่าเป็นราคาท้องตลาดอันแท้จริง เป็นข้อเท็จจริงที่สันนิษฐานไว้เท่านั้น ส่วนความจริงจะเป็นเช่นใดนั้น ศาลต้องพิเคราะห์จากพยานหลักฐานในสำนวนประกอบปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาขายอันแท้จริงในท้องตลาด เช่น ประเภทของสินค้า คุณภาพของสินค้า สถานที่ผลิตสินค้า จำนวนที่ซื้อขายเครดิตของผู้ซื้อ เงื่อนไขการชำระเงิน เงื่อนไขเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการส่งมอบสินค้าระยะทางในการขนส่งภาวะของตลาดสินค้าชนิดนั้น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศของผู้ซื้อและผู้ขาย ระยะเวลาที่ซื้อขาย สถานที่นำเข้าหรือส่งออก ตลอดจนความนิยมของสินค้าในท้องตลาดเปรียบเทียบกัน ซึ่งราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินตามหลักเกณฑ์ของประกาศของคำสั่งของกรมศุลกากรดังกล่าว เป็นการประเมินในกรอบกว้าง ๆ โดยยังมิได้พิเคราะห์ถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นอีกหลายปัจจัย ราคาสินค้าที่ประเมินได้ดังกล่าวเป็นเพียงการคาดคะเนโดยไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าราคาท้องตลาดที่แท้จริงในขณะที่โจทก์นำเข้ามานั้นเป็นจำนวนเท่าใด สำหรับโจทก์นั้นนอกจากจะมีลูกจ้างที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อสินค้ามาเบิกความถึงขั้นตอนของการสั่งซื้อสินค้าว่า สินค้าที่สั่งซื้อนั้นเป็นราคาที่ซื้อจริงแล้ว โจทก์ยังมีหลักฐานใบสั่งซื้อ ใบกำกับสินค้า ใบตราส่งหลักฐานการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ตลอดจนหลักฐานการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้ามาแสดงว่าได้จ่ายตามราคาดังกล่าวให้แก่ผู้ขายจริง ราคาที่โจทก์สำแดงเปรียบเทียบกับราคาสินค้าประเภทเดียวกันที่มีผู้อื่นและโจทก์นำเข้ามาก่อนหน้านั้นก็ไม่แตกต่างกันมากประกอบกับสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมัน มีราคาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา อีกทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์กับผู้ขายสินค้าเป็นบริษัทในเครือหรือมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษอย่างไร จึงไม่มีเหตุที่จะต้องทำหลักฐานว่าขายสินค้าให้แก่โจทก์ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขายจริง เพื่อช่วยเหลือโจทก์ในการเสียภาษีศุลกากรให้น้อยลง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ราคาสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 7 เที่ยว หรือ 7 ใบขนดังกล่าวข้างต้น เป็นราคาแท้จริงในท้องตลาด การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าทั้ง 7 เที่ยวหรือ 7ใบขนเพิ่มขึ้น และเรียกค่าภาษีอากรเพิ่มนั้นเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรและเงินเพิ่มเกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามฟ้องและให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บเพิ่มจากโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share