แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้บรรจุสินค้าที่ขนส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้รับมอบหมายให้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากลานบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปยังท่าเรือกรุงเทพ พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 2 แล้วเมื่อความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างความดูแลของจำเลยทั้งสองและเกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองในฐานะ ผู้ขนส่งร่วมย่อมต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายดังกล่าว
พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัติว่า “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำดับได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่ใช้เรียกชื่ออย่างอื่น สินค้าที่ขนส่งเป็นขดลวดสแตนเลสและแยกบรรจุใส่ไว้ในลังไม้ รวมทั้งหมดจำนวน 130 ลัง แต่ละลังย่อมถือเป็นหน่วยการขนส่ง แม้สินค้าทั้งหมดจะแยกบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์จำนวนรวม 5 ตู้ ก็ไม่ถือว่าตู้คอนเทนเนอร์เป็นหน่วยการขนส่ง
ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางบก จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในส่วนที่ เกี่ยวกับข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าเสียหายตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล มาใช้คำนวณค่าเสียหายของสินค้าได้ แต่ต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 625 ว่าด้วย การรับขนของมาใช้บังคับ เมื่อไม่ปรากฏตามใบตราส่งที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกหรือในเอกสารหลักฐานแห่งสัญญารับขนอื่นใดว่ามีข้อตกลงจำกัดความรับผิด ของผู้ขนส่ง และผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดนั้นด้วยแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงต้อง รับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเต็มจำนวน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาพิจารณาจนมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว ในระหว่างการพิจารณาไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างว่าศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ การที่จำเลยทั้งสองเพิ่งหยิบยกปัญหา ดังกล่าวขึ้นมาอุทธรณ์จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะหยิบยกปัญหาเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาขึ้นมาเป็นข้ออุทธรณ์
แม้หากคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่การที่จำเลยทั้งสองได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ร่วมกับโจทก์และจำเลยร่วมร้องขอให้โอนคดีนี้และสืบพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมาจนเสร็จสิ้นโดยมิได้ยก เรื่องอำนาจศาลขึ้นโต้แย้ง ถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาผิดศาล ดังนั้นจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกปัญหาเรื่องอำนาจศาลขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 2,387,482 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 2,260,338 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,260,338 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วม
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณต้นเดือนเมษายน 2537 บริษัทนิปปอนเซเซน จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น ผู้รับตราส่งได้สั่งซื้อขดลวดสแตนเลสจากจำเลยร่วมผู้ส่งจำนวน 130 ลัง น้ำหนักสุทธิจำนวน 86,343.60 กิโลกรัม ในระบบ ซี. ไอ. เอฟ. (C.I.F.) จำเลยร่วมได้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้แก่โจทก์ในวงเงินจำนวน 296,046 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาระสำคัญว่า หากสินค้าขดลวดนั้นสูญหายหรือเสียหายระหว่างการขนส่ง โจทก์จะต้องชดใช้ราคาหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่ง และจำเลยร่วมได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าจากกรุงเทพมหานครไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ในระบบ ซี. เอฟ. เอส. (C.F.S.) ต้นทาง ซี. วาย. (C.Y.) ปลายทาง เมื่อบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 4 ตู้ ที่ลานบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยกตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 4 ตู้ ดังกล่าวไปวางยังลานพักสินค้า ปรากฏว่าขณะยกตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข วายเอสเอเอ 293018 ซึ่งต้องบรรจุสินค้าจำนวน 30 ลัง น้ำหนักจำนวน 20,570.8 กิโลกรัม แต่ได้มีการบรรจุสินค้าจำนวน 32 ลัง มีน้ำหนักจำนวน 28,491.5 กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่าปกติจำนวนถึง 7,920.7 กิโลกรัม เป็นเหตุให้รถยกพลิกคว่ำ ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวตกกระแทกกับพื้นได้รับความเสียหาย ได้มีการนำสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวออกมาและบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ขนาด 40 ฟุต หมายเลขทีอาร์แอลยู 4121857 และขนาด 20 ฟุต หมายเลข จีเอสทียู 4171774 และจำเลยที่ 2 ได้ขนสินค้าทั้งหมดไปส่งให้แก่บริษัทนิปปอนเซเซน จำกัด ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ปรากฏว่าสินค้าจำนวน 32 ลัง ที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกกระแทกกับพื้นได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทนิปปอนเซเซน จำกัด ผู้ตราส่งแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2537 เป็นเงินจำนวน 2,260,338 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าที่ขนส่งไว้ในความดูแลก่อนบรรจุสินค้าดังกล่าวเข้าตู้คอนเทนเนอร์หรือไม่ และจำเลยทั้งสองมีหน้าที่บรรจุสินค้าของจำเลยร่วมเข้าตู้คอนเทนเนอร์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติข้างต้นว่า จำเลยร่วมได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าในระบบ ซี. เอฟ. เอส. ต้นทาง ซี. วาย. ปลายทาง การขนส่งระบบ ซี. เอฟ. เอส. ต้นทาง หมายความว่า ผู้ส่งสินค้าคือจำเลยร่วมมีหน้าที่นำสินค้าไปส่งให้แก่บริษัทเรือจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง ณ ลานบรรจุสินค้าตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งมีหน้าที่นำสินค้าดังกล่าวบรรจุลงในตู้คอนเทนเนอร์ที่ได้เตรียมเอาไว้ บริษัทเคไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำสินค้าของจำเลยร่วมจำนวนทั้ง 130 หีบห่อ จากโรงงานของจำเลยร่วมไปยังลานบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 และส่งมอบสินค้าทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อรับสินค้าไว้ตามใบสั่งปล่อยสินค้าเอกสารหมาย จ.17 จำเลยร่วมเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินค่าจ้างบรรจุสินค้าให้แก่บริษัทโหงวฮก เอเยนซี จำกัด ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ โดยจำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บเงินค่าจ้างบรรจุสินค้าจากจำเลยที่ 2 ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การขนส่งระบบ ซี. เอฟ. เอส. หมายความว่า ผู้ส่งสินค้าต้องนำสินค้าไปบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่คลังสินค้าหรือสถานีของผู้ประกอบการคอนเทนเนอร์ ไม่ได้หมายความถึงว่าเป็นหน้าที่ของผู้ขนส่งที่จะต้องบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์นั้น จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตน จึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยร่วมมีหน้าที่นำสินค้าไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ลานบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ และจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์แทน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับมอบสินค้าที่ขนส่งไว้ในความดูแลก่อนที่จะมีการบรรจุสินค้าดังกล่าวเข้าตู้คอนเทนเนอร์และจำเลยทั้งสองมีหน้าที่บรรจุสินค้านั้นเข้าตู้คอนเทนเนอร์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือผู้ขนส่งอื่นหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของและจำเลยที่ 2 มิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งทางทะเลช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ออกใบตราส่งหรือได้รับค่าระวางในการขนส่ง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลยร่วมผู้ส่งสินค้าตามคำฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ออกใบตราส่งก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองนิติบุคคลเอกสารหมาย จ.13 จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการขนส่งสินค้าด้วย จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าที่ขนส่งไปยังท่าเรือกรุงเทพด้วย ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่านอกจากจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้บรรจุสินค้าที่ขนส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งให้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าดังกล่าวตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 จากลานบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปยังท่าเรือกรุงเทพ พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 1 แล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างความดูแลของจำเลยทั้งสองและเกิดจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ความเสียหายเกิดขึ้นหลังจากการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เรียบร้อยแล้ว ตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข วายเอสเอเอ 293018 ตกลงกับพื้นขณะรถยกยกตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวเพื่อไปวางที่ลานพักสินค้า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าที่ขนส่งจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ย่อมถือได้ว่าความเสียหายของสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังฟังได้ต่อไปว่า สาเหตุที่ตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข วายเอสเอเอ 293018 ตกกระแทกกับพื้นเป็นเพราะการบรรจุสินค้าที่ขนส่งมากจนมีน้ำหนักเกินไปถึงจำนวน 7,920.7 กิโลกรัม เมื่อรถยกยกตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวทำให้รถยกพลิกคว่ำและตู้คอนเทนเนอร์ตกกระแทกกับพื้น สินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหาย ส่วนที่จำเลยทั้งสองมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายชำนาญมาเป็นพยานหลักฐานยืนยันว่า นายวิชัย ตัวแทนของจำเลยร่วมเป็นผู้สั่งการให้กรรมกรของบริษัท เค แอนด์ ซันบิซิเนสเซอร์วิส จำกัด ลำเลียงสินค้าที่ขนส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย และเมื่อตู้คอนเทนเนอร์ตกกระแทกกับพื้นจนได้รับความเสียหาย นายวิชัยก็ได้ทำหนังสือยินยอมรับผิดชอบและได้ชำระค่าเสียหายจำนวน 120,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการบรรจุสินค้าที่ขนส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามสัญญารับขนของทางทะเล ขณะเกิดเหตุนายปิติ พนักงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมการบรรจุสินค้าดังกล่าวเข้าตู้คอนเทนเนอร์และเป็นผู้ลงชื่อในใบบรรจุสินค้าสำหรับสินค้านั้นทั้งหมดในฐานะหัวหน้าผู้ควบคุมการบรรจุสินค้าตามเอกสารหมาย จ.23 แม้นายวิชัยกรรมการผู้จัดการบริษัท เค. โอ. ทรานสปอร์ต เอเยนซี จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมจะเบิกความยอมรับว่าบริษัทของตนได้รับการว่าจ้างจากจำเลยร่วมให้เป็นผู้ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าดังกล่าว โดยจองระวางเรือซึ่งต้องคำนวณน้ำหนักและปริมาณของสินค้ากับแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจะต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใด จำนวนกี่ตู้ โดยทำเป็นใบรายการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ มีรายละเอียดของสินค้าแต่ละอย่างว่าจะบรรจุไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ใด ตามเอกสารหมาย จ. 15 ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องบรรจุสินค้าที่ขนส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์ให้ตรงกับรายการที่แจ้งไว้ในเอกสารหมาย จ. 15 แต่จำเลยที่ 1 มิได้บรรจุสินค้าดังกล่าวเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามรายการที่ได้แจ้งไว้และปฏิเสธว่ามิได้เข้าไปดูแลสั่งการบรรจุสินค้านั้นแต่อย่างใด นายวินิต ผู้จัดการแผนกของบริษัทโหงวฮก เอเยนซี จำกัด ตัวแทนจำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าเอกสารหมาย จ. 15 เป็นโทรสารส่งถึงนางสาวจันทนาพนักงานของบริษัทของตน โดยระบุว่าสินค้าหีบห่อใดจะบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ใด แม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายเผด็จ พยานจำเลยทั้งสองว่าในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์นั้น โดยทั่วไปจะต้องมีตัวแทนของเจ้าของสินค้ามาควบคุมการบรรจุ แต่นายเผด็จก็เบิกความต่อไปว่า หากเจ้าของสินค้าไม่สนใจ จะไม่ส่งตัวแทนมาก็ได้ แสดงให้เห็นว่าแม้นายวิชัยตัวแทนของจำเลยร่วมเจ้าของสินค้าจะมีหน้าที่เป็นผู้กำหนดจำนวน น้ำหนัก และปริมาณของสินค้าที่จะบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละตู้ แต่หน้าที่ในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดยังคงเป็นของจำเลยทั้งสองอยู่นายวิชัยได้ระบุจำนวนและปริมาณของสินค้าที่จะบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้ตามเอกสารหมาย จ. 15 และแจ้งไว้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว นายวุฒิ พนักงานของบริษัทเคไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดูแลและนำสินค้านั้นไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ลานบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เมื่อไปถึงลานบรรจุสินค้า พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้มาตรวจสอบสินค้า พยานได้เขียนหมายเลขหีบห่อของสินค้าเพื่อบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสี่ตู้ ลงในใบสั่งบรรจุสินค้าเอกสารหมาย จ. 15 ตามที่จำเลยร่วมได้กำหนดไว้ ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ. 15 ดังนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่บรรจุสินค้าดังกล่าวเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามรายการที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ. 16 ซึ่งระบุว่า ตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข วายเอสเอเอ 293018 จะต้องบรรจุสินค้าตามใบกำกับสินค้าเลขที่ 92 จำนวนทั้งสิ้น 30 หีบห่อ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการบรรจุสินค้าเข้าไปจำนวนถึง 32 หีบห่อ และมีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดไว้ นายปิติ เบิกความยืนยันว่า นายวิชัยได้มาเป็นผู้สั่งการบรรจุสินค้าที่ขนส่งด้วยตนเอง แต่นายวิชัยเบิกความปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการบรรจุสินค้า เมื่อนายปิติลงชื่อในเอกสารใบบรรจุสินค้าในฐานะหัวหน้าผู้ควบคุมการบรรจุสินค้าดังกล่าวและการบรรจุสินค้าที่ขนส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์ไม่เป็นไปตามที่ตัวแทนเจ้าของสินค้าแจ้งไว้โดยนายวิชัยมิได้ลงชื่อกำกับไว้ นายปิติในฐานะหัวหน้าควบคุมย่อมต้องรับผิดโดยตรง แม้หลังเกิดความเสียหายขึ้นแล้วนายวิชัยจะได้ทำบันทึกยอมรับผิดและรับว่าเป็นผู้ควบคุมการบรรจุและสั่งการในการบรรจุ และลงชื่อในฐานะตัวแทนและสั่งการบรรจุ กับในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ทำการบรรจุ ตามเอกสารหมาย จ. 4 ซึ่งต่อมาได้มีการจ่ายเงินจำนวน 120,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองก็ตาม แต่นายวิชัยได้เบิกความหักล้างเอกสารนี้ว่า เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว จำเลยร่วมยืนยันให้ส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อ พยานได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมออกใบตราส่งต้องให้พยานวางเงินค่าเสียหายและทำหนังสือยอมรับผิดไว้พยานจึงยอมลงชื่อให้นายปิติพนักงานจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าเป็นผู้เขียนเอกสารหมาย ล. 4 ขึ้นมาและให้นายวิชัยลงชื่อ ข้อความในเอกสารหมาย ล. 4 ปรากฏว่านายวิชัยได้ลงชื่อไว้ในฐานะเป็นผู้สั่งการบรรจุและในฐานะเจ้าหน้าที่บรรจุ ซึ่งหมายถึงว่าจำเลยทั้งสองหรือบุคคลอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบรรจุสินค้าที่ขนส่งนี้เลย ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติจำเลยทั้งสองมีนายปิติเพียงปากเดียวมาเบิกความยืนยันว่า นายวิชัยเป็นผู้ควบคุมสั่งการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดเหตุยันคำกับนายวิชัยที่ยืนยันว่านายวิชัยไม่ได้อยู่ด้วยในขณะนำสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว นายปิติเบิกความว่าขณะบรรจุสินค้ามีกรรมกรที่จำเลยที่ 1 จ้างมาจำนวนหลายคน และมีเสมียนบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 กับเจ้าพนักงานศุลกากรอยู่ด้วย แต่จำเลยทั้งสองก็มิได้นำบุคคลดังกล่าว มาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนคำเบิกความของนายปิติ นายวิชัยได้ทำใบรายการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์แจ้งไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว ตามเอกสารหมาย จ. 15 และจำเลยที่ 1 ก็ทราบแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่นายวิชัยจะไปควบคุมสั่งการบรรจุสินค้าที่ขนส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์ให้แตกต่างไปจากที่ตนได้คำนวณไว้แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าพนักงานจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมสั่งการบรรจุสินค้าที่ขนส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์ โดยมิได้ปฏิบัติตามใบรายการสั่งบรรจุสินค้าเอกสารหมาย จ. 15 และ จ. 16 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข วายเอสเอเอ 293018 และบรรจุสินค้าที่ขนส่งเข้าไปเกินกว่าที่กำหนดไว้ จนทำให้มีน้ำหนักมากเกินกว่าปกติและเป็นเหตุให้รถยกตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวพลิกคว่ำ ตู้คอนเทนเนอร์ตกกระแทกกับพื้น ทำให้สินค้าซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหาย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างความดูแลของจำเลยทั้งสองและเกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งร่วมกันย่อมต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายดังกล่าว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเพียงใดจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การขนส่งสินค้าในคดีนี้เป็นการขนส่งในระบบตู้คอนเทนเนอร์ ดังนั้น ตู้คอนเทนเนอร์ย่อมถือเป็นหน่วยการขนส่ง จำเลยทั้งสองต้องรับผิดไม่เกินจำนวน 10,000 บาท ต่อ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ คือ รับผิดไม่เกินจำนวน 20,000 บาท นั้น เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัติว่า “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น สินค้าที่ขนส่งเป็นขดลวดสแตนเลสและแยกบรรจุใส่ไว้ในลังไม้รวมทั้งหมดจำนวน 130 ลัง แต่ละลังย่อมถือเป็นหน่วยการขนส่ง แม้สินค้าทั้งหมดจะแยกบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์จำนวนรวม 5 ตู้ ก็ไม่ถือว่าตู้คอนเทนเนอร์เป็นหน่วยการขนส่งดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์แต่อย่างไรก็ตาม ตามสัญญารับขนของทางทะเล ที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับจำเลยร่วมในคดีนี้ มีการขนส่งทางทะเลและทางบกรวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 6 กำหนดให้นำพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลเท่านั้น คดีนี้ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางบก จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าเสียหายตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้คำนวณค่าเสียหายของสินค้าดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ได้ แต่ต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 625 ว่าด้วยการรับขนของมาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 625 ดังกล่าวบัญญัติว่า ใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นก็ดี ซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใดท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ. 19 ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกหรือในเอกสารหลักฐานแห่งสัญญารับขนอื่นใดว่ามีข้อตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดนั้นด้วยแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งโดยเต็มจำนวน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า ตามคำฟ้องและข้อเท็จจริงในทางพิจารณาปรากฏว่า มูลคดีนี้สืบเนื่องมาจากเหตุละเมิดมิใช่นิติกรรม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตามมาตรา 7 (5) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 เห็นว่า คดีนี้เดิมได้มีการฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณามาในศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ระหว่างพิจารณามีการจัดตั้งและเปิดทำการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความทุกฝ่ายร่วมกันยื่นคำร้องขอให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาพิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อนุญาต และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้มาพิจารณาจนมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาไม่มีคู่ความฝ่ายใดรวมทั้งจำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้หยิบยกปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ขึ้นมาโต้แย้งแต่เพิ่งหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอุทธรณ์ จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะหยิบยกปัญหาเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลดังกล่าวขึ้นมาเป็นข้ออุทธรณ์ และถึงแม้หากคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่การที่จำเลยทั้งสองได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ร่วมกับโจทก์และจำเลยร่วมร้องขอให้โอนคดีนี้และสืบพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมาจนเสร็จสิ้นโดยมิได้ยกปัญหาเรื่องอำนาจศาลขึ้นโต้แย้งยังถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาผิดศาลอีกด้วย ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกปัญหาเรื่องอำนาจศาลขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 5,000 บาท แทนโจทก์.