คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กับมารดาโจทก์ทั้งสองอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2480 อันเป็นเวลาภายหลังใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงเป็นเพียงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 91, 352, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 (ที่ถูกมาตรา 354 ประกอบมาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท คำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กับนางทองดำหรือทองคำ ทับทิมทอง อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2480 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 4 คน รวมทั้งโจทก์ทั้งสอง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อเดียวว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับนางทองดำอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2480 อันเป็นเวลาภายหลังใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงเป็นเพียงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามด้งกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share