คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2476/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ละทิ้งหน้าที่ในระหว่างเวลาทำงานและฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานด้วยการดื่มเบียร์ในระหว่างเวลาทำงาน ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่การงานไปเสียและเป็นการจงใจขัดคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ ลักษณะงานที่โจทก์ทำอยู่คือหน้าที่ขัดเงาในบริษัทจำเลยซึ่งประกอบกิจการผลิตเครื่องประดับกาย มิใช่งานที่หากผู้ปฏิบัติงานมึนเมาแล้วอาจจะเกิดความเสียหายร้ายแรงแก่นายจ้างหรือเป็นอันตรายต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด ทั้งเป็นการดื่มเบียร์ในขณะที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ที่ทำอยู่ไปและไม่ปรากฎว่าโจทก์มึนเมาหรือไม่เพียงใดการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ จึงมิใช่กรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) แม้จำเลยจะกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงานว่าจำเลยจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยถ้าพนักงานเสพสุรามึนเมาในขณะปฏิบัติงาน ก็มิใช่จะต้องถือว่าการกระทำผิดวินัยดังกล่าวเป็นกรณีที่ร้ายแรงทุกเรื่องไป เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยได้เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือในเรื่องดังกล่าวมาก่อน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ จึงต้องถือว่าผิดนัดนับแต่วันที่เลิกจ้างเป็นต้นไป ต้องชดใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม2536 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ดื่มสุราในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อเวลาประมาณ 16.30 นาฬิกา ของวันที่ 16 ตุลาคม2536 ความจริงวันนั้นโจทก์ได้ไปช่วยผู้ร่วมงานนำถังขยะไปทิ้งเนื่องจากผู้ร่วมงานยกคนเดียวไม่ไหวผู้ร่วมงานได้ไปซื้อเบียร์มาดื่มและยื่นให้โจทก์ดื่ม 1 แก้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบกิจการผลิตเครื่องประดับกายเพื่อส่งออก โจทก์เป็นบุคคลที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ขาดงานเป็นประจำชอบดื่มสุราในเวลาทำงาน บริษัทจัดให้มีเวรทิ้งขยะของพนักงานแผนกต่าง ๆ ครั้งละ 3 คน ให้นำขยะไปทิ้งณ สถานที่ที่ทางการนิคมอุตสาหกรรมจัดไว้ในวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม2536 ซึ่งเป็นเวร ทิ้งขยะของแผนกบรรจุกับช่างซ่อมโจทก์ทำงานอยู่ในแผนกขัดเงา ไม่มีหน้าที่เวรทิ้งขยะ แต่ได้ละทิ้งหน้าที่ไปซื้อเบียร์ดื่มในเวลาทำงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลเห็นจึงตามออกไปพบโจทก์ถือขวดเบียร์กำลังดื่มอยู่ ถือว่าโจทก์ได้ทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยหน้า 9 ถึงหน้า 10 หมวดว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาลงโทษทางวินัย ซึ่งระบุว่า “การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ผู้มีอำนาจลงโทษมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาพนักงานผู้กระทำความผิดดังนี้ เสพสุรามึนเมาในขณะปฏิบัติงาน”ฉะนั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปซื้อเบียร์จากร้านค้าซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานที่โจทก์ทำงานอยู่ประมาณ 200เมตร แล้วดื่มเบียร์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปซื้อเบียร์มาดื่มในขณะปฏิบัติหน้าที่มิใช่การกระทำผิดวินัยในกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น คดีปรากฎข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า เมื่อวันที่ 16ตุลาคม 2536 โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ขัดเงาและต้องอยู่ปฏิบัติงานระหว่างเวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา แต่เมื่อถึงเวลา 16.20 นาฬิกาโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ออกไปซื้อเบียร์จากร้านค้าซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานประมาณ 200 เมตร และนำไปดื่มกับพวกที่บริเวณทิ้งขยะจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดห้ามมิให้พนักงานเสพสุรามึนเมาในขณะปฏิบัติงาน พนักงานที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัยด้วยการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย สำหรับปัญหาข้อแรกที่ว่าจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์หรือไม่นั้นเห็นว่า การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ในระหว่างเวลาทำงานและฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานด้วยการดื่มเบียร์ในระหว่างเวลาทำงานนั้นถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่การงานไปเสียและเป็นการจงใจขัดคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาข้อต่อมาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เฉพาะในวันที่ 16 ตุลาคม2536 ตั้งแต่เวลา 16.20 นาฬิกา จึงมิใช่กรณีละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(5) ส่วนการที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานด้วยการดื่มเบียร์ในระหว่างเวลาทำงานนั้น เห็นว่าลักษณะงานที่โจทก์ทำอยู่คือหน้าที่ขัดเงาในบริษัทจำเลยซึ่งประกอบกิจการผลิตเครื่องประดับกายนั้น มิใช่งานที่หากผู้ปฏิบัติงานมึนเมาแล้วอาจจะเกิดความเสียหายร้ายแรงแก่นายจ้างหรือเป็นอันตรายต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด ทั้งกรณีของโจทก์ก็เป็นการดื่มเบียร์ในขณะที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ที่ทำอยู่ไปและไม่ปรากฎว่าโจทก์มึนเมาหรือไม่เพียงใด การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์จึงมิใช่กรณีที่ร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) แม้จำเลยจะกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า จำเลยจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยถ้าพนักงานเสพสุรามึนเมาในขณะปฏิบัติงาน ก็มิใช่จะต้องถือว่าการกระทำผิดวินัยดังกล่าวเป็นกรณีที่ร้ายแรงทุกเรื่องไป เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยได้เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือในเรื่องดังกล่าวมาก่อน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน เป็นเงิน 11,250 บาท ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(2) ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ จึงต้องถือว่าผิดนัดนับแต่วันที่เลิกจ้างเป็นต้นไปต้องชดใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน11,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่เลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share