แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 ข้อความที่ว่า”บิดาเป็นคนต่างด้าว” นั้น คำว่า “บิดา” หมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อความที่ว่า “ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” คำว่า “ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย” หมายถึงผู้ที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแต่เดินทางเข้ามาเพื่อพักอาศัยในราชอาณาจักรไทย เมื่อ ล.มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งหกเพราะมิได้จดทะเบียนสมรสกับ จ. มารดาโจทก์ทั้งหก และ จ.เป็นคนเกิดในราชอาณาจักรไทย แม้จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 (3) และกลายเป็นคนต่างด้าวซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จ.ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 (3)โจทก์ทั้งหกจึงไม่ใช่เป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะเกิดบิดาหรือมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ดังนั้น การที่ จ.ถูกถอนสัญชาติไทยไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 (3) ไปด้วย และไม่ทำให้โจทก์ที่ 6 ซึ่งเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับเข้ากรณีไม่ได้สัญชาติไทยตามข้อ 2 ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 10 บัญญัติให้บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับด้วย และขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เกิด จ.ยังไม่ถูกถอนสัญชาติไทย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นผู้เกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามบทบัญญัติมาตรา 7 (1) ดังกล่าว และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535มาตรา 11 บัญญัติให้นำบทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับด้วย แม้เป็นผลให้ จ.ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา7 (2) ประกอบมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง กลายเป็นบุคคลที่ถูกถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม แต่บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม ก็ต้องใช้บังคับกับจ.ตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ใช้บังคับเป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่โจทก์ที่ 6 เกิด ขณะโจทก์ที่ 6 เกิด จ.ยังไม่ถูกถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม อีกทั้ง ล.บิดาโจทก์ที่ 6 เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดา ล.เป็นคนสัญชาติญวนซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ล.จึงมิใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามาตรา 7 ทวิ วรรคสาม เมื่อถือไม่ได้ว่าในขณะโจทก์ที่ 6 เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้สมรสกับมารดาหรือมารดาของโจทก์ที่ 6 เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 6 จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 7 (2) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 4 ดังนั้นโจทก์ทั้งหกไม่เสียสัญชาติไทยเพราะการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2535