คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 531/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนาย ก. ในราคาถุงละ 8,500 บาท แล้วนำมาแบ่งจำหน่าย และจำเลยที่ 1 ได้บอกตำหนิรูปพรรณของนาย ก. แก่พนักงานสอบสวนด้วยก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่านาย ก. ที่จำเลยที่ 1 อ้างมีตัวตนจริงหรือไม่ และได้มีการขยายผลจับกุมนาย ก. ได้หรือไม่อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าการให้การดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83, 91 ริบของกลาง เว้นแต่ธนบัตรจำนวน 500 บาท ที่ใช้ล่อซื้อ ขอให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2)), 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกคนละ 4 ปี เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้ว ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท สถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุกคนละ 25 ปี และปรับคนละ 500,000 บาท ริบของกลาง เว้นแต่ธนบัตรจำนวน 500 บาท ที่ใช้ล่อซื้อให้คืนแก่เจ้าของ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ที่ถูก มาตรา 29, 30)
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างในฎีกาสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลของนายกิตติหรือหมู จิระวังโส ซึ่งเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนของกลางที่นำมาให้จำเลยที่ 1 จำหน่ายเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ค้าเมทแอมเฟตามีนแก่เจ้าพนักงานตำรวจ จึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายกิตติในราคาถุงละ 8,500 บาท แล้วนำมาแบ่งจำหน่าย และจำเลยที่ 1 ได้บอกตำหนิรูปพรรณของนายกิตติแก่พนักงานสอบสวนด้วย ปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.7 ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายกิตติที่จำเลยที่ 1 อ้างมีตัวตนจริงหรือไม่ และได้มีการขยายผลจับกุมนายกิตติได้หรือไม่อย่างไร ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ในฎีกายังไม่อาจรับฟังเป็นจริงได้ จึงรับฟังไม่ได้ว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share