คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อที่ให้โจทก์ได้รับเช่าซื้อค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่โจทก์ได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่จะพิพากษาไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยไม่ได้เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 นายพีรชาติ เงินขาว เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา 425,484 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้องวดละ 11,819 บาท รวม 36 งวดจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมานายพีรชาติไม่ชำระหนี้โจทก์ตามสัญญา สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โจทก์ทราบว่านายพีรชาติถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาและมารดา จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายพีรชาติ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 320,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเป็นเงิน 47,276 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินทั้งสองจำนวน นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระค่าใช้สอยรถยนต์วันละ 500 บาท นับตั้งแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาจนครบถ้วน

จำเลยที่ 2 ให้การว่า เป็นมารดาของนายพีรชาติ เงินขาว นายพีรชาติเช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1 ช – 8651 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ แต่ได้เสียชีวิตแล้ว หากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของนายพีรชาติก็เป็นจำนวนเพียง151,837 บาท

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลจึงพิจารณาเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปฝ่ายเดียว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ถ้าส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระราคาแทนเป็นเงิน190,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ เป็นเงิน4,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนจนเสร็จแต่ไม่เกิน 6 เดือน คำขออื่นให้ยก เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดเพียงเท่าที่ทรัพย์มรดกของนายพีรชาติ เงินขาว ตกได้แก่ตน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฎีกาขอค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจำนวน 47,276 บาทและค่าขาดประโยชน์เพิ่มอีก 12,000 บาท รวมเป็นเงิน 59,276 บาท ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อความในหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่ว่าแม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกันผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เป็นข้อสัญญาจะให้เบี้ยปรับหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบ มาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ สัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระให้แก่โจทก์เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามที่กล่าวข้างต้น ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาค้างชำระค่าเช่าซื้อ 4 งวด เป็นเงิน 47,276บาท ก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โจทก์จึงเรียกร้องเงินจำนวนนี้จากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดผิดสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ประการอื่นนอกเหนือจากการกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินและริบเงินที่ส่งมาแล้ว หากโจทก์ยังเสียหายโจทก์ก็ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทน ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคสอง ที่ให้โจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่โจทก์ได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นเบี้ยปรับถูกต้องแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลย ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมดศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเป็นเบี้ยปรับจำนวน10,000 บาท”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระเงินอีก 10,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share