แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายจ้างใช้ให้ลูกจ้างนำมะพร้าวไปส่งแก่ผู้ซื้อ ในระหว่างส่งมะพร้าวแก่กันนั้น ผู้ซื้อโต้เถียงด่าว่าลูกจ้าง ลูกจ้างโกรธจึงชกต่อยผู้ซื้อมีบาดเจ็บ ดังนี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์อีกเรื่องหนึ่ง มิใช่กิจการที่นายจ้างได้มอบให้ลูกจ้างไปกระทำ นายจ้างไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดร่วมกับลูกจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบการค้ามะพร้าวและอื่น ๆ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2497 โจทก์ซื้อมะพร้าวจากจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยจะจัดการส่งยังสำนักงานของโจทก์จำเลยที่ 2 จึงจัดให้จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยลูกจ้างอีกหลายคนนำมะพร้าวไปส่งโจทก์ โดยรถยนต์ของจำเลย ระหว่างที่ส่งมอบมะพร้าวกันอยู่ มีมะพร้าวตกหล่นอยู่ จำเลยที่ 1 เก็บโยนขึ้นบนรถโจทก์ว่าเป็นมะพร้าวของโจทก์ซึ่งได้รับมอบแล้ว จำเลยเถียงแล้วขึ้นไปชกโจทก์บนรถมีบาดเจ็บหลายแห่ง ศาลแขวงธนบุรีได้พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ไปแล้ว ตามคดีแดงที่487/2497 การที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายโจทก์นี้ โจทก์ได้รับความเสียหายคือ
โจทก์ทำงานไม่ได้ 38 วัน คิดค่าเสียหายวันละ 50 บาท เป็นเงิน1,900 บาท
2. ค่ายา ค่าฉายเอ๊กซเรย์ ค่าเข้าเฝือก รวมเป็นเงิน 103 บาท
3. ค่ารักษามือและนิ้วที่ยังไม่หายในขณะฟ้องคดีอีกประมาณ200 บาท
4. ค่ารถจักรยาน 3 ล้อไปโรงพยาบาล 182 บาท
รวม 4 รายการ เป็นเงิน 2,385 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชอบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายนี้ให้โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยพร้อมกับให้จำเลยเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องให้โจทก์ด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพราะโจทก์ก่อเหตุขึ้นเองโดยสมัครใจ เอามะพร้าวขว้างจำเลยและผลักไม่ให้จำเลยขึ้นรถ จำเลยชกโจทก์ โจทก์ก็ชกจำเลยจำเลยที่ 2 จ้างจำเลยที่ 1 เป็นครั้งคราวเท่านั้น ค่าเสียหายไม่เป็นความจริง
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยจ้างจำเลยที่ 1 เป็นคราว ๆ จำเลยที่ 1 ไปส่งมะพร้าวให้โจทก์จริง ภายหลังทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 วิวาทกันเป็นเรื่องนอกหน้าที่ ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการงานของจำเลยค่าเสียหายไม่เป็นความจริง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว ฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขนมะพร้าวไปส่งให้โจทก์ เหตุที่จำเลยที่ 1 ชกโจทก์นั้น เพราะเกิดเถียงกันเรื่องมะพร้าวที่ตกอยู่ จำเลยที่ 1 จึงชกโจทก์ ปรากฏตามสำนวนคดีแดงที่ 487/2497 ของศาลแขวงธนบุรี ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพไว้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยไม่มีปัญหาอะไร ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย เพราะจำเลยที่ 1 ไปทะเลาะกับโจทก์และชกโจทก์นั้นเป็นเรื่องเกิดขึ้นภายนอกกิจการของจำเลยที่ 2 และเห็นว่าบาดแผลโจทก์เพียงเล็กน้อย ค่ายา ค่าเอ๊กซเรย์ค่าเข้าเฝือกโจทก์เรียกมา103 บาทนั้น สมควรแล้ว ค่ารักษามือและนิ้วควรได้ 100 บาท ค่ารถไปรักษาควรได้ 62 บาท ส่วนค่าที่โจทก์ทำงานไม่ได้ ควรได้วันละ 25 บาทคิดเป็นเงิน 950 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะชดใช้ให้โจทก์1,215 บาท จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้เดียวใช้ค่าเสียหายให้โจทก์1,215 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าใช้เงินเสร็จ กับให้ใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนาย 75 บาทแทนโจทก์ด้วยส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 75 บาทแทนจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสียหายของโจทก์ตามฟ้องนั้นเป็นการสมควรแก่รูปเรื่องแห่งความเสียหาย และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 ควรจะมีต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงคงฟังได้ดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 นำมะพร้าวไปส่งมอบให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อ ในระหว่างที่ส่งมอบมะพร้าวให้แก่กัน มีมะพร้าวตกอยู่จำเลยที่ 1 จึงเก็บมะพร้าวแล้วโยนกลับขึ้นไปบนรถอีก โจทก์ต่อว่าจำเลยที่ 1 ว่า เป็นมะพร้าวที่นับแล้ว โจทก์ด่าจำเลย และเอามะพร้าวขว้างจำเลยด้วย จำเลยจึงโดดเข้าไปชกโจทก์มีบาดเจ็บ
ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้นได้ความจากตัวโจทก์เองเบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 โยนมะพร้าวขึ้นบนรถแล้ว โจทก์ได้ต่อว่าจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์จะไปบอกจำเลยที่ 2 ไม่ให้จำเลยที่ 1 มาส่งมะพร้าวอีก เพราะจำเลยที่ 1 เกเร แล้วจำเลยที่ 1 ก็ขึ้นไปชกโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายโจทก์ก็เพราะโจทก์เอามะพร้าวขว้างจำเลยที่ 1 และด่าว่าจำเลยเกเร จะไปบอกจำเลยที่ 2 ไม่ให้จำเลยที่ 1 มาส่งมะพร้าวอีกจำเลยที่ 1 โกรธ จึงเข้าทำร้ายโจทก์ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นเหตุการอีกเรื่องหนึ่ง มิใช่กิจการที่จำเลยที่ 2 ได้มอบให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำการส่งมอบมะพร้าวให้แก่โจทก์ จึงถือได้ว่าการละเมิดของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างได้กระทำไปนอกเหนือหน้าที่ที่มิได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของตน ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ดังฎีกาของโจทก์
ส่วนปัญหาเรื่องค่าเสียหายว่าโจทก์ควรได้รับเพียงใดนั้นศาลฎีกาได้พิเคราะห์บาดแผลของโจทก์ ซึ่งปรากฏตามใบชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องในคดีอาญาแดงที่ 487/2497 ของศาลแขวงธนบุรีแล้ว ปรากฏว่าเป็นบาดแผลเพียงเล็กน้อย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่ายา ค่าเอ๊กซเรย์ ค่าเข้าเฝือกเต็มตามจำนวนที่โจทก์ขอ ส่วนค่ารักษานิ้วมือนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เพียงแต่โจทก์กะประมาณมา 200 บาท ยังไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าโจทก์ได้เสียไปจริงเท่านั้น และที่ว่าโจทก์ขายมะพร้าวอย่างเดียวได้กำไรวันละ 50 บาทนั้นโจทก์ก็เบิกความว่า นอกจากภาษีเทศบาลแล้ว มิได้เสียภาษีอะไรอีกซึ่งแสดงว่าโจทก์ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ดังที่กล่าวอ้าง ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กะคำนวณค่ารักษานิ้วมือ 100 บาท ค่าขาดประโยชน์ไม่ได้ทำงานให้วันละ 25 บาท และค่ารถไปถึงโรงพยาบาลรวม 62 บาทนั้น เหมาะสมกับรูปคดีแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์ และให้โจทก์เสียค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสอง 75 บาทด้วย