คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5013/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ บ.ดำเนินคดีต่อจำเลยแทนโจทก์โดยปิดอากรแสตมป์มาครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในลักษณะแห่งตราสาร 7ตาม ป.รัษฎากร แต่มิได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าว ย่อมถือว่ายังไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 และห้ามมิให้รับฟังตราสารเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งจนกว่าจะได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้ว ดังนั้น จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่าโจทก์มอบอำนาจให้ บ.ดำเนินคดีแทนโจทก์ได้
การที่ได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจต่อศาลแล้ว หามีผลเหมือนกับการขีดฆ่าอากรแสตมป์ เพราะไม่ต้องด้วยความหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 103
กรณีมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งห้ามมิให้รับฟังตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง อีกทั้งเป็นเรื่องของการรับฟังพยานหลักฐานในคดี แม้โจทก์จะมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยง หรือกรณีเกิดขึ้นเนื่องจากความพลั้งเผลอ ก็ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุอ้างให้ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ และแม้จำเลยจะมิได้โต้แย้งเรื่องการขีดฆ่าอากรแสตมป์ไว้ในคำให้การหรือคัดค้านกรณีดังกล่าวในระหว่างพิจารณา แต่จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้เรื่องหนังสือมอบอำนาจไว้แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งศาลจะต้องอาศัยการรับฟังเอกสารใบมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานและในเรื่องตราสารที่มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์นี้ แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าว ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เพราะเป็นปัญหาว่ากฎหมายห้ามรับฟังหรือไม่ อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาขออนุญาตนำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ไปขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยคดีของโจทก์โดยปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแล้วกรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการดังกล่าว ศาลฎีกาย่อมไม่อนุญาตตามคำขอของโจทก์

Share