คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1839/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง และในกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมากถ้าเสียงเท่ากันก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้เพียงลำพัง จำเลยที่ 2 ไม่อาจอ้างเหตุความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างจำเลยทั้งสองหรือความล่าช้าในการดำเนินการขอให้ศาลชี้ขาดหรือขอถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกมาเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ เพราะจำเลยที่ 2 สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลชี้ขาดหรือขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การและฟ้องแย้ง หรือขอให้ศาลรอฟังคำสั่งเกี่ยวกับการขอถอดถอนการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโพธิ์ร่วมกันแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 37712 ตำบลบึงพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก พร้อมบ้านเลขที่ 54 ที่ปลูกในที่ดินดังกล่าวรวมราคา 400,000 บาท ปืนสั้นรีวอลเวอร์ ขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก ราคาประมาณ 35,000 บาท เงินฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาคลอง 16 บัญชีเลขที่ 577-1-xxxxx-x จำนวนเงิน 4,500,000 บาท และบัญชีเลขที่ 577-2-xxxxx-x จำนวนเงิน 348,836.04 บาท ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากทรัพย์สินใดไม่สามารถแบ่งแยกให้โจทก์ได้ ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดและนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโพธิ์ให้การและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 37712 สมุดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาคลอง 16 ทั้งสองฉบับ และอาวุธปืนสั้นรีวอลเวอร์ขนาด .38 พร้อมใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2
ระหว่างที่โจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว โดยไม่ต้องให้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงสั่งงดไม่ให้คู่ความดำเนินกระบวนพิจารณาอันจะมีต่อไปและงดสืบพยานคู่ความ แล้วพิพากษาคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโพธิ์แบ่งทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 37712 ตำบลบึงพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 21 ตารางวา และบ้านเลขที่ 54 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว เงินฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาคลอง 16 บัญชีเลขที่ 577-1-xxxxx-x จำนวนเงิน 4,500,000 บาท และบัญชีเลขที่ 577-2-xxxxx-x จำนวนเงิน 348,836.04 บาท ปืนสั้นรีวอลเวอร์ขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากทรัพย์สินดังกล่าวไม่สามารถแบ่งแยกได้ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลเกี่ยวกับฟ้องแย้งที่จำเลยที่ 2 เสียมานั้นไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งขอให้ส่งมอบโฉนดที่ดินและสมุดบัญชีเงินฝาก ซึ่งเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ คงมีทุนทรัพย์เฉพาะที่ให้โจทก์ส่งมอบปืนสั้นรีวอลเวอร์ให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ขอมาครึ่งหนึ่งเป็นทุนทรัพย์ 17,500 บาท ให้คืนค่าขึ้นศาลที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 70,610 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยานายโพธิ์ผู้ตายโดยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีบุตร 5 คน คือ นายสุพจน์, นางสมพร, นางสุพรรณี, นายสุรพล และจำเลยที่ 1 ก่อนที่ผู้ตายจะอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์ ผู้ตายอยู่กินเป็นสามีภริยากับนางละเอียด แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตร 5 คน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นบุตรคนที่สอง ผู้ตายเลิกอยู่กินเป็นสามีภริยากับนางละเอียด ในปี 2508 แล้วผู้ตายมาอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์จนถึงแก่ความตายไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2546 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายร่วมกันตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 81/2547 ระหว่างที่ผู้ตายกับโจทก์อยู่กินเป็นสามีภริยากัน ผู้ตายได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5901 ตำบลบึงพระอาจารย์ (หัวกระบือ) อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่ประมาณ 55 และได้ปลูกบ้านเลขที่ 54 บนที่ดินดังกล่าวด้วย ต่อมาปี 2538 ผู้ตายแบ่งแยกที่ดินที่ปลูกบ้านบนที่ดินโฉนดเลขที่ 5901 ออกเป็น 8 แปลง และขายไป 7 แปลง คงเหลือที่ดินโฉนดเลขที่ 37712 พร้อมบ้านเลขที่ 54 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยนำเงินที่ขายที่ดินบางส่วนไปฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาคลอง 16 ตามบัญชีเลขที่ 577-1-xxxxx-x และ 577-2-xxxxx-x กับมีอาวุธปืนสั้นรีวอลเวอร์ขนาด .38 อีก 1 กระบอก ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับผู้ตายทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันสามีภริยา โจทก์เป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินดังกล่าว จึงฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินดังกล่าวครึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งว่าทรัพย์สินตามที่โจทก์ฟ้องเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดให้แก่ทายาทโดยชอบธรรมของผู้ตาย และฟ้องแย้งขอให้ส่งมอบโฉนดเลขที่ 37712 สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ทั้งสองฉบับกับอาวุธปืนและใบอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนแก่จำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 อยู่ในระหว่างฝ่ายโจทก์มีสิทธิยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามรูปคดีไม่จำต้องให้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เพราะคดีสามารถวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและสืบพยานของคู่ความอีกต่อไป แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกผู้ตายแบ่งทรัพย์สินกองมรดกครึ่งหนึ่งให้โจทก์ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการยื่นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการจัดการมรดกอย่างหนึ่ง จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 จัดการร่วมกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งโดยลำพังจึงไม่เป็นคำให้การและฟ้องแย้ง โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและสืบพยานคู่ความต่อไป เป็นการพิพากษาคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาล ยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งมานั้นเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ในการรวบรวม จำหน่ายทรัพย์มรดกการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยการฟ้องคดี หรือแก้ฟ้องในศาลเท่าที่จำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนการจัดการมรดกจึงต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 ที่ระบุว่า “ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด” การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยที่ 1 ร่วมด้วยจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวจึงไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งได้ ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีความคิดเห็นขัดแย้งเป็นปรปักษ์ต่อกัน โดยจำเลยที่ 1 มีความเห็นว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันกับผู้ตายในทรัพย์มรดกที่พิพาท แต่จำเลยที่ 2 เห็นว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกที่พิพาท ดังนั้น การที่จะร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดหรือร้องขอถอดถอนจำเลยที่ 1 ออกจากผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตายก็อาจไม่ทันตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การต่อสู้คดี เพราะไม่แน่นอนว่าศาลจะมีคำสั่งชี้ขาดเมื่อใดหรือจะเพิกถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมหรือไม่ จำเลยที่ 2 จึงจำเป็นต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งแต่เพียงผู้เดียวนั้น จำเลยที่ 2 ไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ เพราะจำเลยที่ 2 สามารถยื่นคำร้องต่อศาลถึงเหตุขัดข้องดังกล่าวเพื่อให้ศาลชี้ขาดหรือขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การและฟ้องแย้งต่อศาลได้ หรือรอฟังคำสั่งศาลเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 อาจยื่นคำร้องขอถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเกี่ยวกับคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินกองมรดกของผู้ตายได้ตามลำพัง ศาลมีอำนาจหยิบยกปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและยื่นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ขึ้นมาวินิจฉัยได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายและโจทก์ไม่ต้องยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานของคู่ความโดยเห็นว่าตามรูปคดีพอวินิจฉัยได้แล้วและวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินกองมรดกครึ่งหนึ่งของผู้ตายในฐานะเป็นเจ้าของร่วมซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ยื่นคำให้การต่อสู้ว่าทรัพย์มรดกผู้ตายไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายที่จะต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง แม้คำให้การดังกล่าวจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ควรต้องฟังพยานโจทก์ให้ได้ความก่อนว่าทรัพย์กองมรดกของผู้ตายตามที่โจทก์ฟ้องเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมกับผู้ตายทำมาหาได้ร่วมกันมาในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันจริงตามที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนสั่งงดสืบพยานโจทก์โดยไม่ฟังพยานโจทก์ก่อนแล้วเชื่อข้อเท็จจริงเป็นดังคำฟ้องและพิพากษาให้แบ่งทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายให้โจทก์ครึ่งหนึ่งนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share