คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1683/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 87 เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณา หรือเมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้วก็ดี กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายยังคงต้องดำเนินต่อไป และให้นำบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้ตายมาใช้บังคับซึ่งตามมาตรา 6 คำว่า “กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย” หมายความรวมถึง กระบวนพิจารณาไม่ว่าจะกระทำต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่เริ่มคดีจนถึงคดีสิ้นสุด คดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจเก็บรวบรวมจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ผู้ตาย ต่อไปจนกว่าคดีสิ้นสุดตามมาตรา 22 (1) (2) และกรณีถือเป็นเหตุให้ต้องมีการจัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 ผู้ตาย โดยจะต้องมีทายาท ผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์เข้ามาเป็นผู้แทนจำเลยที่ 2 ผู้ตาย ต่อไป เมื่อผู้ร้องแถลงยอมรับแล้วว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ผู้ตาย จึงเป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยที่ 2 สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ย่อมตกทอดแก่ผู้ร้องแต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดก แม้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกผู้ร้องเข้ามาเป็นผู้แทนจำเลยที่ 2 ผู้ตาย เกินกว่า 1 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลก็ชอบที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาตั้งผู้ร้องเป็นผู้ร้องเป็นผู้แทนลูกหนี้ที่ตายเพื่อที่จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2543 และมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2544 ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวศรีสกุลผู้ร้อง เข้ามารับมรดกความแทนที่จำเลยที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2544
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…ที่ผู้ร้องฎีกาว่า กรณีไม่มีเหตุให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 ผู้ตายแล้วเนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ผู้ตายได้ และโจทก์ยื่นคำร้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ทั้งผู้ร้องมิใช่ทายาทผู้รับมรดกของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 87 เมื่อปรากฏว่า ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณา หรือเมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้วก็ดีกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายยังคงต้องดำเนินต่อไป และให้นำบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้ตายมาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 6 คำว่า “กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย” หมายความรวมถึง กระบวนพิจารณาไม่ว่าจะกระทำต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่เริ่มคดีจนถึงคดีสิ้นสุด คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจเก็บรวบรวมจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ผู้ตาย ต่อไปจนกว่าคดีสิ้นสุด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (1) (2) และกรณีถือเป็นเหตุให้ต้องมีการจัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 ผู้ตาย โดยจะต้องมีทายาท ผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์เข้ามาเป็นผู้แทนจำเลยที่ 2 ผู้ตาย ต่อปี และแม้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกผู้ร้องเข้ามาเป็นผู้แทนจำเลยที่ 2 ผู้ตาย เกินกว่า 1 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาตั้งผู้แทนลูกหนี้ที่ตายเพื่อที่จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องแถลงยอมรับแล้วว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ผู้ตาย ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยที่ 2 สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ย่อมตกทอดแก่ผู้ร้องแต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดก ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนลูกหนี้ที่ตายจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน

Share