คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาพยายามฆ่า และข้อหาตามพระราชบัญญัติ อาวุธปืนฯ โดยเพียงแก้ไขระบุวรรคสำหรับความผิดตาม พระราชบัญญัติ อาวุธปืนฯ ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำฟ้องหรือไม่ จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาก็ตาม แต่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนฟังไม่ได้ว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหาย ซึ่งมีผลให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกานั้นขึ้นวินิจฉัย และพิพากษายกฟ้องได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหาย ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสศาลลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 371, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72,72 ทวิ และคืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 371, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ, 72, 72 ทวิ เรียงกระทงลงโทษ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก10 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือนฐานพาอาวุธปืนไปโดยไม่ได้รับอนุญาตลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 2 เดือนรวมลงโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนแล้วให้การรับสารภาพตลอดมาจนถึงชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 5 ปี4 เดือน คืนของกลางให้แก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต กับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม,72 ทวิ วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในชั้นนี้คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำฟ้องหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าและข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รวมให้จำคุก 5 ปี 4 เดือนโดยเพียงแก้ไขระบุวรรค สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯอันถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดโดยบันดาลโทสะ เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายกับจ่าสิบตำรวจจรัลสามีจำเลยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวมาก่อนเกิดเหตุ วันเกิดเหตุจำเลยไปบ้านผู้เสียหายพบผู้เสียหายกำลังเลื่อนรถจักรยานยนต์อยู่หน้าบ้าน จำเลยล้วงหยิบอาวุธปืนออกมายิงผู้เสียหาย เช่นนี้ คดีฟังไม่ได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเพราะมิได้เป็นการกระทำต่อผู้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมในขณะข่มเหงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อนี้แล้ว แม้ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำฟ้องหรือไม่ จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนฟังไม่ได้ว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งมีผลให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกานั้นขึ้นวินิจฉัย และพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225
ปัญหาว่า จำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่นั้น… พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้เพียงว่า จำเลยเจตนายิงขู่ผู้เสียหายเท่านั้นจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยไล่ยิงขู่ผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายใช้มือปัดอาวุธปืนได้รับบาดเจ็บกระดูกนิ้วชี้หักแพทย์ลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษาให้หายเป็นปกติประมาณ3 เดือน นั้น แม้จะฟังได้ว่า เหตุที่อาวุธปืนลั่นไม่เป็นเพราะจำเลยมีเจตนายิงผู้เสียหายก็ตาม แต่การที่จำเลยถืออาวุธปืนวิ่งไล่ตามยิงขู่ผู้เสียหายตามวิสัยและพฤติการณ์เช่นนั้น จำเลยต้องใช้ความระมัดระวังให้มากเพราะวิถีกระสุนปืนอาจจะไปถูกผู้เสียหายได้ แต่จำเลยหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่นไปถูกผู้เสียหายเมื่อถูกผู้เสียหายใช้มือปัด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 แม้ว่าทางพิจารณาจะได้ความแตกต่างกับคำฟ้อง แต่การแตกต่างระหว่างการกระทำโดยเจตนากับประมาทนั้น กฎหมายมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ศาลฎีกาย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ให้จำคุกจำเลย 1 ปี จำเลยลุแก่โทษ ให้การรับสารภาพและบรรเทาผลร้ายโดยช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลผู้เสียหาย มีเหตุบรรเทาโทษ ปรานีลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน รวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน และโทษฐานพกพาอาวุธปืน โดยมิได้รับอนุญาตจำคุก 1 เดือน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว เป็นโทษจำคุก 10 เดือน จำเลยเป็นหญิงไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนทั้งมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรเล็ก ๆ ถึง 3 คน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share