คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ.มาตรา 386 บัญญัติถึงสิทธิเลิกสัญญาของคู่สัญญาว่าอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ เกิดจากข้อสัญญา หรือเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับได้แก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาซื้อขาย สำหรับสัญญาซื้อขาย แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะได้โอนไปเป็นของผู้ซื้อโดยผลของสัญญาแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังมีภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาแล้วไม่ปฏิบัติ ย่อมถือเป็นการผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อตามสัญญาซื้อขายมิได้ระบุถึงข้อตกลงในการเลิกสัญญาไว้ และตามข้อความในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาประสงค์จะไม่ให้มีการบอกเลิกสัญญาต่อกันในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น สิทธิบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ คดีนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระภายใน 15 วัน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่โจทก์กำหนดให้ โจทก์จึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ซื้อขายได้โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่
ผลของการเลิกสัญญาต้องเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 คือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยในกรณีคืนเงินให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ ส่วนในกรณีที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ให้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ ซึ่งการใช้สิทธิเลิกสัญญาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ดังนั้น สัญญาซื้อขายเครื่องจักรระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบเครื่องจักรตามสัญญาซื้อขายคืนแก่โจทก์ และต้องชดใช้เงินค่าที่ได้ใช้สอยเครื่องจักรดังกล่าวในขณะที่ตนครอบครองอยู่จนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ รวมต้องชำระค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของเครื่องจักรด้วย ส่วนโจทก์ก็ต้องคืนเงินค่าเครื่องจักรและเงินดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจำนวนนั้นไว้ และเนื่องจากคู่สัญญามิได้มีข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ต้องคืนเงินแก่กันไว้ จึงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงินจำนวนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7
เมื่อจำเลยทั้งสามมีหน้าที่ตามคำพิพากษาที่ต้องส่งมอบเครื่องจักรที่ซื้อขายคืนแก่โจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเข้าไปรื้อถอนเครื่องจักรและขนส่งเครื่องจักรไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ด้วยตนเองได้ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมส่งมอบเครื่องจักร โจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการบังคับตามกฎหมายหรือเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาเครื่องจักรแก่ตน ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดให้อำนาจแก่โจทก์ในการเข้าไปรื้อถอนและขนส่งเครื่องจักรแทนจำเลยทั้งสามด้วยตนเองโดยขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามให้ออกค่าใช้จ่าย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่ารื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
เนื่องจากคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงสมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามส่งคืนเครื่องจักรที่ซื้อขายแก่โจทก์ในสภาพที่สมบูรณ์และใช้งานได้ดี และให้จำเลยทั้งสามชำระค่าใช้เครื่องจักรตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2542 เดือนละ 5,000,000 เยน เป็นเวลา 54 เดือน เป็นเงินจำนวน 270,000,000 เยน ซึ่งเมื่อนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์มาหักออกแล้วคงเหลือ 248,704,000 เยน ค่าใช้จ่ายเครื่องจักรที่ซื้อขายโดยละเมิดเดือนละ 5,000,000 เยน นับตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 23,666,000 เยน และนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 17 ต่อปีของราคาเครื่องจักรที่ซื้อขาย จนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลา 4 ปี 6 เดือน เป็นเงินจำนวน 162,914,400 เยน และในอัตราเดียวกันนับจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรที่ซื้อขายคืน ค่าทำความสะอาดและซ่อมแซมเครื่องจักรที่ซื้อขายเป็นเงินจำนวน 21,296,000 เยน ค่ารื้อถอนและค่าขนส่งเครื่องจักรที่ซื้อขายกลับคืนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000 เยน หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถส่งมอบเครื่องจักรที่ซื้อขายคืนในสภาพที่สมบูรณ์และใช้งานได้ดีให้จำเลยทั้งสามใช้ราคาเครื่องจักรที่ซื้อขายเป็นเงินจำนวน 191,664,400 เยน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 98,227,800 เยน และนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบเครื่องจักรตามคำฟ้องคืนแก่โจทก์ในสภาพที่ใช้การได้ดี และชำระเงินจำนวน 201,102,794 เยน กับค่าใช้ทรัพย์เดือนละ 2,400,000 เยน นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไป และค่าเสื่อมราคาปีละ 21,296,000 เยน นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ แต่สำหรับค่าเสื่อมราคาให้คิดได้ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันส่งมอบ หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถส่งมอบเครื่องจักรคืนในสภาพที่ใช้การได้ดีได้ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 191,664,400 เยน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2542 และในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 200,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 บัญญัติถึงสิทธิเลิกสัญญาของคู่สัญญาว่าอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ เกิดจากข้อสัญญา หรือเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับได้แก่สัญญาทุกประเภทรวมถึงสัญญาซื้อขาย สำหรับสัญญาซื้อขายกรณีนี้ แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะได้โอนไปเป็นของผู้ซื้อโดยผลแห่งสัญญาแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังที่ภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาแล้วไม่ปฏิบัติ ย่อมถือเป็นการผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตามสัญญาซื้อขายมิได้ระบุถึงข้อตกลงในการเลิกสัญญาไว้ และตามข้อความในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาประสงค์จะไม่ให้มีการบอกเลิกสัญญาต่อกันในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น สิทธิบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ คดีนี้จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาในงวดแรกและงวดที่สอง โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 15 วัน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนดให้ โจทก์จึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ซื้อขายได้โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ผลของการเลิกสัญญาก็ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 คือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยในกรณีคืนเงินให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ ส่วนในกรณีที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ให้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ นอกจากนี้มาตราดังกล่าวยังได้บัญญัติรับรองถึงการใช้สิทธิเลิกสัญญาว่าไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบเครื่องจักรตามสัญญาซื้อขายคืนแก่โจทก์และต้องชดใช้เงินค่าที่ได้ใช้สอยเครื่องจักรดังกล่าวในขณะที่ตนได้ครอบครองอยู่จนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ รวมทั้งต้องชำระค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของเครื่องจักรด้วย ส่วนโจทก์ก็ต้องคืนเงินค่าเครื่องจักรและเงินดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจำนวนนั้นไว้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้คิดดอกเบี้ยจากเงินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ เนื่องจากคู่สัญญามิได้มีข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ต้องคืนเงินแก่กันไว้ จึงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงินจำนวนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7
ปัญหาต่อไปมีว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่ารื้อถอนและค่าขนส่งเครื่องจักร จำนวน 1,000,000 เยน เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ตามคำพิพากษาที่จะต้องส่งมอบเครื่องจักรแก่โจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเข้าไปรื้อถอนเครื่องจักรและขนส่งเครื่องจักรไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ด้วยตนเองได้ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมส่งมอบเครื่องจักร โจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการบังคับตามกฎหมายหรือเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาเครื่องจักรแก่ตน ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดให้อำนาจแก่โจทก์ในการเข้าไปรื้อถอนและขนส่งเครื่องจักรแทนจำเลยทั้งสามด้วยตนเองโดยขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามให้ออกค่าใช้จ่าย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่ารื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรจำนวน 1,000,000 เยน ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
เนื่องจากคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงสมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบเครื่องจักรตามฟ้องในสภาพใช้การได้ดีคืนโจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบได้ก็ให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน 120,000,000 เยน แทน และร่วมกันชำระเงินจำนวน 159,616,220.26 เยน กับค่าใช้เครื่องจักรเดือนละ 1,800,000 เยน นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2542 จนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรตามฟ้องคืนโจทก์หรือชำระเงินแทนดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 200,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนโจทก์.

Share