คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 5 เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกคำสั่งให้ลูกหนี้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 แต่ยังไม่ทันได้แจ้งให้ลูกหนี้ทราบคำสั่ง ลูกหนี้ก็ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้เสียก่อน กรมสรรพากรผู้ร้องจึงมาขอรับชำระหนี้ ดังนี้ เงินที่ลูกหนี้จะต้องเสียอีกร้อยละ 20 แห่ง เงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 ถือว่าเป็นเงินภาษีอากรและถือว่าได้เกิดขึ้นแล้วพร้อมกับหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อกรมสรรพากรผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลก็มีสิทธิได้รับชำระเงินเพิ่มด้วย แม้ว่าเจ้าพนักงานประเมินมิได้แจ้งการประเมินไปยังลูกหนี้ก็ตาม แต่มูลหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มได้เกิดขึ้นแล้วก่อนลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อกรมสรรพากรผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการแจ้งคำสั่งประเมินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว กรมสรรพากรผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้ที่ค้างรวมทั้งเงินเพิ่มดังกล่าว

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย กรมสรรพากรเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระจากกองทรัพย์สินของจำเลยลูกหนี้ทั้งสองร่วมกันเป็นเงิน ๓๓,๑๘๐.๒๔ บาท (ที่ถูกคือ ๓๓,๑๘๖.๒๔ บาท) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้มาตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน แล้วทำความเห็นส่งสำนวนต่อศาลชั้นต้นว่าในรอบบัญชี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลูกหนี้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. ๕) ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินภาษีใหม่เป็นเงิน ๒๗,๖๕๕.๒๐ บาท แต่ยังไม่ทันได้แจ้งให้ลูกหนี้ชำระภาษี ลูกหนี้ก็ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ ผู้ร้องยังไม่ได้รับชำระหนี้ ลูกหนี้ทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินค่าภาษีเงินได้จำนวนดังกล่าว ส่วนเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ ของเงินภาษีเป็นจำนวน ๕,๕๓๑.๔ บาทนั้น ลูกหนี้ทั้งสองยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา ๒๒ และ ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กรมสรรพากรผู้ร้องได้รับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้ ที่ค้างชำระเป็นเงิน ๒๗,๖๕๕.๒๐ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
กรมสรรพากรผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
กรมสรรพากรผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีได้ความว่าเมื่อลูกหนี้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. ๕ เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ปรับปรุงกำไรสุทธิของลูกหนี้ใหม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ลูกหนี้มีกำไรสุทธิซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน ๒๗,๖๕๕.๒๐ บาท และลูกหนี้ยังไม่ชำระต้องเสียภาษีเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ เป็นเงิน ๕,๕๓๑.๐๔ บาทรวมเป็นเงิน ๓๓,๑๘๖.๒๔ บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกคำสั่งที่ ต.๙/๑๐๔๙/๒/๐๐๒๒๘ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๑๗ ให้ลูกหนี้ทั้งสองเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มจำนวนดังกล่าว แต่ยังไม่ทันได้แจ้งให้ลูกหนี้ทราบคำสั่งนี้ ลูกหนี้ทั้งสองก็ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีเสียก่อน ผู้ร้องได้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ร้องฎีกาว่าในกรณีเช่นนี้ลูกหนี้ทั้งสองนี้ ไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ แห่งภาษีอากรที่ต้องเสียตามความในมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร แต่ลูกหนี้ทั้งสองจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ ๒๐ แห่งภาษีอากร ที่เพิ่มโดยผลของการประเมินตามมาตรา ๒๐ ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ แห่งประมวลรัษฎากร ศาลฎีกาเห็นว่าเงินที่ต้องเสียอีกร้อยละ ๒๐ แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๒๒ นั้น ถือว่าเป็นเงินภาษีอากรและถือว่าได้เกิดขึ้นแล้วพร้อมกับหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อกรมสรรพากรผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลก็มีสิทธิได้รับชำระเงินเพิ่มด้วย แม้ว่าเจ้าพนักงานประเมินจึงมิได้แจ้งการประเมินไปยังลูกหนี้ก็ตาม แต่มูลหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มได้เกิดขึ้นก่อนลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อกรมสรรพากรผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการแจ้งคำสั่งประเมินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานประเมินมิได้แจ้งจำนวนเงินที่จะต้องชำระไปยังลูกหนี้ ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ แห่งเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้กรมสรรพากรผู้ร้องได้รับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้ที่ค้างชำระ ๒๗,๖๕๕.๒๐ บาท และเงินเพิ่ม ๕,๕๓๑.๔๐ บาท จากกองทรัพย์สิน ของจำเลยลูกหนี้ทั้งสอง

Share