คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อเช่นเดียวกับผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย ความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยย่อมไม่อาจมากหรือเกินไปกว่าความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน84-1187 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2528 เวลาประมาณ11 นาฬิกา นายสมศักดิ์ แซ่ซื้อ ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ไปตามถนนสำราญรื่น-ตลาดท่าเสา ในขณะนั้นมีรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-0703 สุโขทัย ซึ่งมีลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้ขับ ขับตามหลังรถที่โจทก์รับประกันภัยไป เมื่อถึงวัดใหญ่ท่าเสารถคันที่โจทก์รับประกันภัยได้ชะลอความเร็วเพื่อจอดรถด้านซ้าย แต่ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของลูกจ้างของจำเลยไม่ชะลอความเร็วลง และได้ขับรถยนต์โดยสารชนท้ายรถคันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นเหตุให้รถคันที่โจทก์รับประกันภัยเสียหายโจทก์ได้ซ่อมแซมรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นที่เรียบร้อยโดยเสียค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 74,812 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยในฐานะนายจ้างต้องร่วมกันรับผิด ขอบังคับให้จำเลยใช้เงินค่าซ่อมพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 78,552 บาทกับดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสมศักดิ์ แซ่ซื้อ คนขับรถยนต์บรรทุกซึ่งขับรถตามหลังรถยนต์โดยสารของจำเลย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมากผิดจากความเป็นจริง ค่าเสียหายทั้งหมดอย่างมากไม่เกิน 30,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 37,406 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2528 เวลาประมาณ 11 นาฬิกานายสมศักดิ์ แซ่ซื้อ ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 84-1187กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยไว้ไปตามถนนสำราญรื่น-ตลาดท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วถูกรถยนต์โดยสารของจำเลยซึ่งมีลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้ขับไปในทิศทางเดียวกันชนท้ายเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยพุ่งชนอาคารร้านค้าริมถนนสายดังกล่าวจนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีประเด็นเดียวว่า การที่รถยนต์โดยสารของจำเลยชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสมศักดิ์ผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือไม่ นายสมศักดิ์ผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย และนายอัศวิน อันเรืองปัญญาซึ่งนั่งในรถยนต์ไปพร้อมกับนายสมศักดิ์ขณะเกิดเหตุเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า รถยนต์โดยสารของจำเลยแล่นไปตามถนนสำราญรื่น-ตลาดท่าเสา มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองอุตรดิตถ์ และจอดส่งผู้โดยสารห่างจุดเกิดเหตุประมาณ 400-500 เมตร นายสมศักดิ์ซึ่งขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยตามมาในทิศทางเดียวกันจึงขับแซงรถยนต์โดยสารของจำเลยทางขวาขึ้นหน้าไปห่างประมาณ 300 เมตรแล้วชะลอรถบริเวณร้านค้าของลูกค้าเพื่อจอดส่งสินค้าก็ถูกรถยนต์โดยสารของจำเลยชนท้ายหลังจากที่มีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งแล่นสวนทางไปแล้ว ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยพุ่งแฉลบไปชนผนังอาคารตึกแถวทะลุและเฉี่ยวรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ 1 คันได้รับความเสียหาย ฝ่ายจำเลยนำนายสอาด แจ่มกระจ่าง ที่อ้างว่าเป็นนายตรวจประจำรถยนต์โดยสารของจำเลยและนายอุปถัมภ์ เมฆเขียวพนักงานเก็บค่าโดยสารประจำรถยนต์โดยสารของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า รถยนต์โดยสารของจำเลยหยุดรถให้ผู้โดยสารลงใกล้จุดเกิดเหตุแล้วเคลื่อนรถออกไปได้ 6-7 เมตร รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้ขับแซงขึ้นไปทางขวา แล้วบังคับรถเบนเข้าทางซ้ายตัดหน้ารถยนต์โดยสารของจำเลยอย่างกระชั้นชิดห่างกันเพียง 4-5 เมตรโดยไม่ได้ให้สัญญาณไฟเลี้ยว ผู้ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยแตะห้ามล้อแล้วเบนรถไปทางขวาแต่ไม่พ้นจึงชนท้ายรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยทางมุมด้านขวา เห็นว่า ตามภาพถ่ายหมาย ป.จ.3 รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ตัวรถยาวมากย่อมมีน้ำหนักมากด้วย การจะขับรถยนต์ดังกล่าวแซงรถอื่นและบังคับให้เข้าช่องเดินรถเดิมย่อมทำได้ช้า ถ้าขับปาดหน้ารถยนต์โดยสารของจำเลยอย่างกระชั้นชิดโดยห่างเพียง 4-5 เมตร และผู้ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยบังคับรถหลบไปทางขวาแต่ไม่พ้น รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยน่าจะถูกชนทางท้ายรถด้านซ้ายมากกว่า การที่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยมีร่องรอยถูกชนทางท้ายรถด้านขวา แสดงว่ารถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยแล่นตั้งลำตรงแล้ว รถยนต์โดยสารของจำเลยจึงแซงขึ้นทางขวาแต่แซงไม่พ้นและถ้ารถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยขับปาดหน้ารถยนต์โดยสารของจำเลยห่าง 4-5 เมตร ในขณะที่รถยนต์โดยสารของจำเลยเพิ่มเริ่มเคลื่อนที่ไปได้ 6-7 เมตร หลังจากหยุดรถ ผู้ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยย่อมสามารถเหยียบห้ามล้อให้รถหยุดได้โดยไม่ยากเพราะรถยังเคลื่อนที่ช้ามากแม้รถยนต์โดยสารของจำเลยจะเคลื่อนที่ไปชนท้ายรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยโดยไม่ได้ห้ามล้อก็ไม่น่าจะเป็นการชนอย่างรุนแรงเช่นที่เกิดเหตุแต่อย่างใด อนึ่ง จำเลยมิได้นำผู้ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยมาเบิกความเป็นพยาน นายสอาดและนายอุปถัมภ์ที่จำเลยอ้างเป็นประจักษ์พยานก็เป็นลูกจ้างจำเลยและมิได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน แต่มาเบิกความเป็นพยานจำเลยหลังเกิดเหตุเป็นเวลานานมีโอกาสที่จะคิดเสริมแต่งข้อเท็จจริงให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้โดยสะดวก คำเบิกความของนายสอาดและนายอุปถัมภ์จึงมีน้ำหนักน้อยเมื่อพิจารณาตามแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุซึ่งร้อยตำรวจตรีอนุ เนินหาด พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ได้ทำไว้ตามเอกสารหมาย จ.17ปรากฏว่าหลังจากรถยนต์โดยสารของจำเลยชนท้ายรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยแล้ว รถยนต์โดยสารของจำเลยแล่นไปจอดเลยจุดชนถึง100 เมตร แสดงว่ารถยนต์โดยสารของจำเลยแล่นตามหลังรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยด้วยความเร็วสูง และชนท้ายรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยอย่างรุนแรงจนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยพุ่งแฉลบขึ้นไปชนผนังร้านค้าอีกทอดหนึ่ง เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ป.จ.3 ภาพที่ 3 และที่ 4, จ.5และบันทึกการตรวจพิสูจน์เครื่องกลและเครื่องอุปกรณ์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 84-1187 กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.17การที่ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์โดยสารของจำเลยตามหลังรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยด้วยความเร็วสูง ในเขตชุมชนจนเป็นเหตุให้เกิดการชนท้ายรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายดังกล่าวฟังได้ว่า ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อเช่นกันแต่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า ลูกจ้างของจำเลยและผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย ต่างขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งส่วนจำเลยฎีกาว่าลูกจ้างของจำเลยไม่ได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยไม่ต้องรับผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ในชั้นที่สุดว่าลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อเช่นเดียวกับผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเช่นนี้ ความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยย่อมไม่อาจมากหรือเกินไปกว่าความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442ประกอบด้วย มาตรา 223 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share