แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ในชั้นร้องขัดทรัพย์ผู้ร้องจะตกลงกับโจทก์ว่า ผู้ร้องจะชำระหนี้แทนจำเลยภายในเวลาที่กำหนดเพื่อให้โจทก์ถอนการยึดทรัพย์ที่ร้องขัดทรัพย์และในที่สุดผู้ร้องก็ผิดนัดไม่นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็หาเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 13 ไม่ เพราะการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันตามบทกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้อง เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ถอนคำร้องขัดทรัพย์เสียแล้ว จึงไม่มีคำฟ้องที่จะทำการตกลงหรือประนีประนอมยอมความอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นการประนีประนอมยอมความ แต่เป็นเพียงข้อแถลงของคู่ความประกอบคำร้องขัดทรัพย์เพื่อให้ศาลพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวเท่านั้น ทั้งศาลชั้นต้นสั่งเพียงว่า อนุญาตให้ถอนคำร้องขัดทรัพย์ได้ และจำหน่ายคดีจากสารบบความ มิได้สั่งหรือพิพากษาตามที่ผู้ร้องตกลงกับโจทก์แต่อย่างใด ตามคำร้องขอถอนคำร้องขัดทรัพย์ ผู้ร้องยังสงวนสิทธิที่ผู้ร้องมีเหนือทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด และตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นระบุว่า”…วันนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขัดทรัพย์และแถลงว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่ยึดอีกต่อไป ไม่ร้องขัดทรัพย์อีก…” และศาลได้ขีดฆ่าคำว่า “ไม่ขอร้องกันส่วนด้วย”ออก แสดงว่าผู้ร้องจะไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินเฉพาะการร้องขัดทรัพย์เท่านั้น แต่ยังติดใจที่จะขอกันส่วนอยู่ ดังนั้น สิทธิของผู้ร้องในการขอกันส่วนจึงยังมีอยู่ และการใช้สิทธิของผู้ร้องหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่เพราะผู้ร้องได้แสดงเจตนาสงวนสิทธิไว้แล้ว