คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญายอมให้ น. ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ แม้จะยังไม่มีการจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมเป็นเพียงบุคคลสิทธิก็ตาม แต่เมื่อสัญญามิได้ระบุไว้ว่าให้เกิดเป็นประโยชน์ทางภาระจำยอมเฉพาะ น. เท่านั้นแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเป็นการก่อให้เกิดภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของ น.อันเป็นสามยทรัพย์ เมื่อ น. ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์แก่โจทก์แล้วภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1393 วรรคแรกโจทก์ผู้รับโอนสามยทรัพย์ย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่จาก น.ดังนั้นเมื่อจำเลยปิดกั้นทางเดินพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินอันเป็นภารยทรัพย์ และในฐานะเป็นคู่สัญญาโดยตรงให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายฐิติพันธ์ เจริญสุขและเด็กชายฐิติพักตร์ เจริญสุขผู้เยาว์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 230 ตำบลวังทองอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก โดยนางนกเอี้ยง เจริญสุขยกให้ ที่ดินแปลงนี้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เมื่อวันที่ 21เมษายน 2515 นางนกเอี้ยงได้ซื้อสิทธิในที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่303 และเลขที่ 1483 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกกว้าง 1.5 เมตร ยาวประมาณ 54 เมตร เพื่อใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ แล้วได้ใช้เป็นทางเข้าออกตลอดมา จนบัดนี้เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ที่ดินนี้จึงตกเป็นทางภาระจำยอมแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2532 จำเลยและบริวารได้ทำรั้วปิดกั้นทางดังกล่าว ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ได้ ขอให้จำเลยเปิดทางดังกล่าวและไปจดทะเบียนภาระจำยอม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์ขอเจ้าพนักงานบังคับคดีเปิดทางโดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย ส่วนการจดทะเบียนภาระจำยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้อง ที่ดินเป็นของนางเสวียน ขุนจารย์ ภรรยาจำเลยซึ่งตายไปแล้วจำเลยไม่เคยทำสัญญาขายสิทธิการใช้ทางให้ผู้ใด หนังสือสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอม โจทก์และบริวารไม่เคยใช้ทางเดินดังกล่าวเป็นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ แต่ใช้ทางอื่นเป็นทางเข้าออกขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยเปิดทางกว้าง 1.50 เมตร ยาวประมาณ54 เมตร เพื่อเป็นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่303 และ 1483 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกของจำเลยตามรายละเอียดในแผนที่เอกสารหมาย จ.5 โดยให้ถือแผนที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาเพื่อเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 230 ตำบลวังทอง อำเภอวังทองจังหวัดพิษณุโลก ของโจทก์ โดยให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์หากไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่เปิดทางก็ให้โจทก์ดำเนินการ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการให้โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 230 เดิมเป็นที่ดิน ส.ค.1 ของนางนกเอี้ยง เจริญสุข ต่อมานางนกเอี้ยงได้ขอออกเป็นโฉนดที่ดินใส่ชื่อบุตร 3 คนเป็นเจ้าของรวม ต่อมามีการแบ่งแยกโฉนดและแบ่งขายให้จำเลยกับนางเสวียน ขุนจารย์ ภรรยาจำเลยเมื่อปี2510 แต่ใส่ชื่อนางเสวียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดคือที่ดินโฉนดเลขที่ 303 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 230 คงเหลือที่ดิน 2 งาน85.1 ตารางวา มีชื่อนายยงศักดิ์ เจริญสุข เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่อมามีการจดทะเบียนแบ่งขายที่ดินแปลงนี้อีกหลายครั้ง โดยจำเลยกับภรรยาได้ซื้อที่ดินแปลงนี้มาอีก 1 งานเศษแต่จดทะเบียนใส่ชื่อภรรยาจำเลย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เมื่อปี 2518 คือที่ดินโฉนดเลขที่1483 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 230 ซึ่งเหลือที่ดินอีก 48 ตารางวาต่อมานายยงศักดิ์ เจริญสุข ได้จดทะเบียนยกให้แก่นางนกเอี้ยงหลังจากนั้นนางนกเอี้ยงได้จดทะเบียนยกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของนายยงศักดิ์ เจริญสุข กับบุตรผู้เยาว์คนอื่น ๆโดยที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 48 ตารางวานี้ นางนกเอี้ยงได้ปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย รวมกับโจทก์และบุคคลอื่น ๆ เป็นเวลาเกินกว่า 10ปีแล้ว และเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2515 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญายอมให้นางนกเอี้ยงใช้ทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยเพื่อเข้าออกจากบ้านหลังนี้สู่ทางสาธารณะได้ หลังจากนั้นนางนกเอี้ยงกับบุคคลในครอบครัวรวมทั้งโจทก์ได้ใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 303 และเลขที่ 1483กว้าง 1.5 เมตร ยาวประมาณ 54 เมตร อันเป็นทางพิพาทนี้ เป็นทางเข้าออกตลอดมา ครั้นเมื่อต้นปี 2532 ฝ่ายจำเลยได้ก่ออิฐบล็อกปิดกั้นทางพิพาทดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องเป็นคดี
ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินสองแปลงที่โจทก์ฟ้องขอให้ตกเป็นภารจำยอมนั้นเป็นของภรรยาจำเลย ขณะโจทก์ฟ้องภรรยาจำเลยตายแล้วโจทก์ชอบที่จะฟ้องทายาทของภรรยาจำเลย ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวบุตรของจำเลยเป็นผู้รับมรดกจำเลยมิได้เป็นผู้รับมรดกทั้งตามหนังสือสัญญาให้ใช้ทางเดินก็ระบุให้นางนกเอี้ยงเป็นผู้มีสิทธิใช้ทางเดินคนเดียว มิได้ระบุให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวด้วยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยกับภรรยาร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่303 และเลขที่ 1483 แต่ใส่ชื่อภรรยาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดเพียงคนเดียว ทั้งเป็นการได้ที่ดินมาในระหว่างสมรส ที่ดินทั้งสองแปลงนี้จึงเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย แม้ขณะฟ้องภรรยาจำเลยซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงจะตายไปแล้ว แต่จำเลยในฐานะเจ้าของรวม ทั้งในฐานะทายาทและทั้งในฐานะเป็นคู่สัญญาโดยตรง จึงอาจถูกฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญายอมให้นางนกเอี้ยงเป็นผู้มีสิทธิใช้ทางเดินได้เพียงคนเดียว เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนเป็นภารจำยอม จึงเป็นบุคคลสิทธิ ไม่เป็นภารจำยอมที่ติดไปกับที่ดินที่โจทก์ได้รับการยกให้นั้น เห็นว่า เมื่อตามสัญญาที่ก่อให้เกิดทางภารจำยอมดังกล่าวมิได้ระบุว่าให้เกิดเป็นประโยชน์ทางภารจำยอมเฉพาะนางนกเอี้ยงเท่านั้นสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการก่อให้เกิดภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 230อันเป็นสามยทรัพย์ ภารจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้โอนมาเป็นของโจทก์ในเวลาต่อมาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1393 วรรคแรก แม้จะยังไม่มีการจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอม เป็นเพียงบุคคลสิทธิก็ตาม โจทก์ผู้ได้รับโอนสามยทรัพย์ดังกล่าวย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่จากนางนกเอี้ยง โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share