คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3793/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงสถานที่เกิดการกระทำความผิดในข้อหาฉ้อโกง โดยระบุชื่อแขวงและเขตหลายแห่งในกรุงเทพมหานครรวมกันมาและระบุด้วยว่าเกี่ยวพันกันนั้น สถานที่ที่จำเลยได้กล่าวหลอกลวงผู้เสียหายย่อมหมายถึงสถานที่ทำงานของผู้เสียหาย ซึ่งมีที่อยู่ตามแขวงและเขตในกรุงเทพมหานครจำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุมาเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดี จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาฉ้อโกงโดยอาศัยเหตุว่าฟ้องเคลือบคลุม โจทก์อุทธรณ์ว่าได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนชอบแล้วจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว และข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงในความผิดฐานฉ้อโกงไปเสียเองได้
จำเลยวางแผนหรือสร้างเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโดยนำเช็คส่วนตัวของจำเลยมาแลกเงินสดจากผู้เสียหายก่อน ต่อมานำเช็คที่บุคคลอื่นลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาขอแลกโดยหลอกลวงว่าผู้สั่งจ่ายมีฐานะดีในตอนแรก ๆ จำนวนเงินตามเช็คไม่สูงนักและเรียกเก็บเงินได้หมดเนื่องจากจำเลยออกเงินให้บุคคลเหล่านั้นไปเปิดบัญชีไว้ตามธนาคารต่าง ๆ และให้เจ้าของบัญชีลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คมอบแก่จำเลยไว้ จำเลยนำเช็คเหล่านี้มากรอกข้อความแล้วนำไปขอแลกเงินจากผู้เสียหาย เมื่อเช็คถึงกำหนดสั่งจ่ายจำเลยก็นำเงินของตนไปเข้าบัญชีของบุคคลดังกล่าวเพื่อให้เช็คเรียกเก็บเงินได้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหาย โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยการหลอกลวงดังกล่าวผู้เสียหายหลงเชื่อและได้มอบเงินแก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว
เช็คที่โจทก์นำมาฟ้องมีจำนวนมากถึง 38 ฉบับ และโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าเช็คแต่ละฉบับนั้นเป็นของธนาคารใดพร้อมกับระบุสาขาของธนาคารอันถือว่าเป็นสถานที่เกิดเหตุที่ธนาคารแห่งนั้นปฏิเสธการจ่ายเงินไว้ด้วยแล้วหาจำเป็นที่จะต้องระบุแขวงและเขตอีกไม่ เพราะการที่โจทก์นำเอาชื่อแขวงและเขตที่เกิดการกระทำผิดไปรวมไว้ในตอนท้ายเพื่อบอกสถานที่เกิดเหตุย่อมเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว และจำเลยก็ไม่ได้หลงต่อสู้คดีแต่ประการใด ฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจึงไม่เคลือบคลุม
แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค แต่จำเลยเป็นผู้จัดการออกเงินให้เจ้าของบัญชีนำไปขอเปิดบัญชีตามธนาคารต่าง ๆและสั่งให้เจ้าของบัญชีลงลายมือชื่อในเช็คมอบแก่จำเลยไว้จำเลยจะกรอกรายการในเช็คแล้วนำไปแลกเงินสดจากผู้เสียหาย จำเลยจึงเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 นั้นหาจำเป็นต้องกระทำโดยบุคคลคนเดียวไม่ บุคคลหลายคนอาจสมคบร่วมกันกระทำผิดได้
โจทก์ร่วมฝากเช็คอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือให้ ก.ไปช่วยเรียกเก็บเงินการที่ ก. นำเช็คนั้นไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินจึงเป็นการทำแทนโจทก์ร่วมเพราะโจทก์ร่วมมิได้มีเจตนาที่จะโอนเช็คไปยัง ก.แต่ประการใดโจทก์ร่วมจึงยังเป็นผู้ทรงอยู่ ดังนี้เมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 บัญญัติไว้ใจความว่า คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ ดังนี้เมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำผิดต่อโจทก์ร่วม (ผู้เสียหาย)เมื่อปรากฏต่อมาว่าพวกของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ร่วมอยู่ด้วย ก็ถือว่าได้มีการร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาพิพากษา โดยผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยที่ 1 นำเช็คจำนวน 38 ฉบับมาแลกเงินสดจากผู้เสียหายเป็นเช็คที่บุคคลอื่นลงลายมือชื่อสั่งจ่าย 37 ฉบับ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่าย 1 ฉบับ อ้างว่าผู้สั่งจ่ายเป็นพ่อค้ามีหลักฐานมั่นคง ความจริงแล้วบุคคลเหล่านั้นไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน และจำเลยที่ 1 กับบุคคลเหล่านั้นร่วมกันออกเช็คทั้ง 38 ฉบับโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ผู้เสียหายหลงเชื่อคำหลอกลวงจึงยอมรับแลกเช็คและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไปเมื่อเช็คถึงกำหนด ผู้เสียหายนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญขีของผู้สั่งจ่ายไม่พอจ่าย เหตุเกิดที่แขวงพระโขนง เขตพระโขนง แขวงจักรวรรดิ์ แขวงสัมพันธวงศ์ แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ แขวงเทพศิรินทร์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสีลม เขตบางรัก แขวงรองเมือง เขวงลุมพินี เขตปทุมวันแขวงสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เกี่ยวกันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญํติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คำฟ้องในข้อหาฉ้อโกงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 รวมความผิด 38 กรรม วางโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 38 ปี แต่เป็นกรณีที่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(1) จึงให้จำคุกไว้ 10 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 เป็นความผิดกรรมเดียว จำคุก 1 ปียกข้อหาฉ้อโกง
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ด้วย ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยที่ 1ทำผิดรวม 38 กรรม วางโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 38 ปี ความผิดฐานฉ้อโกงมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี บังคับตามมาตรา 91(1) จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 นำเช็คจำนวนมากซึ่งลงวันสั่งจ่ายล่วงหน้าไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วม เช็คดังกล่าวมีทั้งเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเองและที่บุคคลอื่นเป็นผู้สั่งจ่ายก็มี ในระยะแรก ๆ ก็เรียกเก็บเงินตามเช็คดังกล่าวได้โดยตลอด ต่อมามีเช็คที่บุคคลอื่นเป็นผู้สั่งจ่ายจำนวน 38 ฉบับที่จำเลยที่ 1นำไปขอแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินไม่ได้โดยธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบัญชีปิดแล้วบ้างเงินในบัญชีไม่พอจ่ายบ้าง ซึ่งโจทก์นำมาฟ้องคดีนี้และในบรรดาเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนี้มีเช็คที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายหนึ่งฉบับรวมอยู่ด้วย
ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์ในข้อหาฉ้อโกงกล่าวถึงสถานที่เกิดเหตุรวม ๆ กันมา ทำให้ไม่เข้าใจว่าเหตุฉ้อโกงข้อใดเกิดที่เขตและแขวงใดตามที่ระบุในฟ้องแม้จะอ้างว่าเกี่ยวพันกันแต่ก็ไม่รถบุว่าเกี่ยวพันกันอย่างไร จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุซึ่งเกิดการกระทำผิดฐานฉ้อโกงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า จำเลยที่ 1 โดยทุจริตได้บังอาจหลอกลวงโจทก์ร่วม (ผู้เสียหาย)โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่าบรรดาเจ้าของเช็คที่นำมาขอแลกเงินสดนี้เป็นพ่อค้าที่มีหลักฐานการค้ามั่นคงซึ่งไม่เป็นความจริงสำหรับสถานที่ที่จำเลยที่ 1 ได้กล่าวหลอกลวงโจทก์ร่วม (ผู้เสียหาย) และโจทก์ร่วมหลงเชื่อมอบเช็คเงินสดของโจทก์ร่วมให้แก่จำเลยที่ 1 ก็หมายถึงสถานที่ทำงานของโจทก์ร่วม ซึ่งมีที่อยู่ตามแขวงและเขตในกรุงเทพมหานคร จำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุมาเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดีจึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว
ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แล้ว คดีย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงไม่เคลือบคลุมแล้วเลยไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงและพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามคำขอของโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ในความผิดฐานฉ้อโกงอาศัยเพียงรายละเอียดที่เกี่ยวกับสถานที่ที่เกิดการกระทำผิดว่าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี โจทก์และโจทก์ร่วมจึงอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ที่เกิดการกระทำผิดฐานฉ้อโกงไว้ชัดเจนด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวและข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงในความผิดฐานฉ้อโกงไปเสียเองได้
จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมก็ได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 1 มาแลกเงินสดโจทก์ร่วมเพื่อไปทำธุรกิจโดยติดต่อกันมา 4-5 ปีต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คที่บุคคลอื่นลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาขอแลก โจทก์ร่วมสอบถามจำเลยที่ 1 ก็บอกว่าไม่ต้องห่วงเพราะเช็คเหล่านี้เป็นของลูกค้าชั้นหนึ่งของธนาคารกรุงเทพจำกัด ซึ่งเป็นที่ทำงานของจำเลยที่ 1 และรู้จักเป็นอย่างดี ในตอนแรก ๆ จำนวนเงินตามเช็คที่มาขอแลกก็ไม่สูงนักและเรียกเก็บเงินได้ทั้งหมด ครั้นต่อมาปรากฏว่าเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขอแลกมีจำนวนสูงขึ้นและเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ก็ขอผัดผ่อนในที่สุดจำเลยที่ 1 กับนางบุญศิริภริยาก็หลบหนีไปต่างประเทศนอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้ออกเงินให้บุคคลหลายคนไปเปิดบัญชีไว้ตามธนาคารต่าง ๆและให้เจ้าของบัญชีลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คแล้วมอบเช็คดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คเหล่านี้มากรอกข้อความแล้วนำไปขอแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมในระยะแรก ๆ จำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเงินจำนวนไม่มากนัก เมื่อเช็คถึงกำหนดสั่งจ่ายจำเลยที่ 1 ก็นำเงินของตนไปเข้าบัญชีของบุคคลดังกล่าวเพื่อให้เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินได้ เพื่อเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมว่าเจ้าของบัญชีแต่ละคนมีฐานะทางการเงินดีซึ่งความจริงแล้วเจ้าของบัญชีแต่ละคนที่จำเลยที่ 1 นำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมนั้นหาได้มีฐานะการเงินดีดังที่จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ร่วมไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1ดังกล่าวเป็นการวางแผนหรือสร้างเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเช็คต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมนั้นจะต้องเรียกเก็บเงินได้อย่างแน่นอนการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยการหลอกลวงดังกล่าวโจทก์ร่วมได้เชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงนั้นและได้สั่งจ่ายเช็คเงินสดมอบให้แก่จำเลยที่ 1 นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารไปแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว
ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าความผิดกระทงใด เกิดที่แขวงและเขตใดในกรุงเทพมหานคร เป็นการสุดวิสัยที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีจึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องมีจำนวนมากถึง38 ฉบับ และโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าเช็คแต่ละฉบับนั้นเป้นของธนาคารใดพร้อมกับระบุสาขาของธนาคารอันถือว่าเป็นสถานที่เกิดเหตุที่ธนาคารแห่งนั้นปฏิเสธการจ่ายเงินไว้ด้วยแล้ว หาจำเป็นที่จะต้องระบุแขวงและเขตอีกไม่ เพราะการที่โจทก์นำเอาชื่อแขวงและเขตที่เกิดการกระทำผิดไปรวมไว้ในตอนท้ายเพื่อบอกสถานที่เกิดเหตุย่อมเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว และจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้หลงต่อสู้คดีแต่ประการใด ฟ้องโจทก์ข้อหานี้จึงไม่เคลือบคลุม
เช็คพิพาทตามที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นผู้สั่งจ่าย แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการออกเงินให้เจ้าของบัญชีนำไปขอเปิดบัญชีตามธนาคารต่าง ๆและสั่งให้เจ้าของบัญชีลงลายมือช่อในเช็คที่ได้รับจากธนาคารมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้และจำเลยที่ 1 จะจัดการกรอกรายการในเช็คตลอดทั้งวันสั่งจ่าย แล้วนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมโดยที่เจ้าของเช็คที่แท้จริงมิได้มีบทบาทเกี่ยวกับเช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องนี้เลย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 นั้น หาจำเป็นต้องกระทำโดยบุคคลคนเดียวไม่ บุคคลหลายคนอาจสมคบร่วมกันกระทำผิดได้ เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่จัดการให้ได้เช็คดังกล่าวมาจนกระทั่งกรอกรายการและลงวันสั่งจ่ายแล้วนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 1 ดำเนินการมาเองตลอดการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เช็คตามเอกสารหมาย จ.86 เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดไม่ได้ระบุชื่อผู้ถือไว้ โจทก์ร่วมอ้างว่าได้ฝากให้ร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ โลหะชาละ เรียกเก็บเงิน เมื่อโจทก์ร่วมส่งมอบเช็คนั้นให้แก่ร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์แล้วร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ย่อมเป้นผู้ทรงขณะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อเป็นเช่นนี้ร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ย่อมเป็นผู้เสียหายหาใช่โจทก์ร่วมไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำเบิกความของโจทก์ร่วม เช็คตามเอกสารหมาย จ.86 โจทก์ร่วมได้ฝากร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ไปเรียกเก็บเงินได้และตามคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ก็ได้ความว่า พยานไปพบโจทก์ร่วมเพื่อกิจธุระบางอย่าง เมื่อโจทก์ร่วมทราบว่าพยานจะไปธุระที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสีลม โจทก์ร่วมจึงฝากเช็คดังกล่าวไปช่วยเรียกเก็บเงินให้ด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวการที่ร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์รับเช็คไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินจึงเป็นการทำแทนโจทก์ร่วม เพราะโจทก์ร่วมมิได้มีเจตนาที่จะโอนเช็คไปยังร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์แต่ประการใด โจทก์ร่วมจึงยังเป็นผู้ทรงอยู่เมื่อเช็คเอกสารหมาย จ.86 ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้นไม่ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่าเป็นผู้กระทำผิด คงระบุแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกเท่านั้นต้องถือว่าโจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 บัญญัติไว้ใจความว่า คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิดพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลงความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ จะเห็นได้ว่า คดีนี้โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำผิดต่อโจทก์ร่วม เมื่อปรากฏต่อมาว่าพวกของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ร่วมอยู่ด้วย ก็ต้องถือว่าได้มีการร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 2 แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้
พิพากษายืน

Share