แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกับสหภาพแรงงานทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกในปี 2539 โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาการมีผลใช้บังคับไว้ คงกำหนดเพียงว่าสหภาพแรงงานจะไม่เรียกร้องโบนัสประจำปีเป็นระยะเวลา 2 ปี กำหนดระยะเวลานี้จึงหาใช่กำหนดระยะเวลาการมีผลใช้บังคับของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ แต่เป็นข้อตกลงยอมสละสิทธิการเรียกร้องเรื่องโบนัสภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายและไม่มีผลทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับกลายเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการมีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ทั้งข้อความที่ว่าจะไม่เรียกร้องเรื่องโบนัสเป็นระยะเวลา 2 ปี แสดงให้เห็นว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องโบนัสไม่ได้มีลักษณะให้ใช้บังคับเฉพาะในปีแรกที่ทำข้อตกลงเท่านั้น กรณีจึงต้องด้วย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 12
ข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างฉบับแรก ย่อมมีผลใช้บังคับหนึ่งปีนับแต่วันที่ตกลงกัน หลังจากใช้บังคับครบหนึ่งปีแล้วไม่มีการตกลงกันใหม่ ข้อตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละหนึ่งปี หาใช่สิ้นผลเมื่อใช้บังคับครบ 2 ปี ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ซึ่งจำเลยได้จ่ายโบนัส สำหรับปี 2539 และปี 2540 แก่ลูกจ้างครบถ้วนแล้ว ครั้นในปี 2541 จำเลยประสบปัญหาขาดทุน จำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงฉบับที่สองกับสหภาพแรงงานโดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสเฉพาะปี 2541 เป็นให้จ่ายในอัตราเฉลี่ย 1.29 เท่าของเงินเดือน ส่วนเงื่อนไขการจ่ายโบนัสประการอื่นคงให้เป็นไปตามข้อตกลงเดิม และลูกจ้างทุกคนยอมรับ ถือได้ว่าข้อตกลงฉบับที่สองเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่คู่กรณีทำขึ้นเพื่อแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมฉบับแรก แม้ข้อตกลงฉบับที่สองจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างน้อยกว่าข้อตกลงฉบับแรก ก็มีผลใช้บังคับได้ และเมื่อหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสตามข้อตกลงฉบับที่สอง มีข้อความลักษณะให้ใช้บังคับเฉพาะการจ่ายโบนัสในปี 2541 เท่านั้น จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสตามอายุงานในปี 2539 ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรก มาใช้บังคับแก่การจ่ายโบนัสในปี 2541 ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงฉบับที่สองได้กำหนดไว้ด้วยว่า เงื่อนไขการจ่ายโบนัสในเรื่องอื่นนอกจากหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสดังกล่าวยังคงใช้บังคับตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมในฉบับแรก ดังนั้น หลังจาก ข้อตกลงฉบับที่สองใช้บังคับครบกำหนดแล้ว หลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสประจำปี 2541 ตามข้อตกลงฉบับนี้ ย่อมสิ้นผลและไม่อาจนำไปใช้บังคับแก่การจ่ายโบนัสในปี 2542 ได้ ต่อมาในปี 2542 สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับที่สาม กำหนดให้มีผลใช้บังคับ 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา และระบุว่าสภาพการจ้างใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตามเดิม โดยไม่ได้กำหนดเรื่องโบนัสไว้เช่นนี้ เกี่ยวกับเรื่องโบนัสในปี 2542 จำเลยจึงผูกพันจะต้องจ่ายโบนัส ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมในฉบับแรก
ย่อยาว
โจทก์ทุกสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายโบนัสประจำปี ๒๕๔๒ ส่วนที่ค้างแก่โจทก์ทุกคนตามบัญชีท้ายคำฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินโบนัสที่ค้างนับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๓ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทุกสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๙ เรื่องโบนัสประจำปีมีกำหนดระยะเวลาใช้บังคับ ๒ ปี หลังจากครบกำหนดในปี ๒๕๔๑ จำเลยรับสหภาพแรงงานผิด อีเล็คโทรนิค ประเทศไทย ทำบันทึกข้อขัดแย้งขึ้น เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ เพื่อให้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสประจำปี ๒๕๔๑ และได้จ่ายโบนัสให้ลูกจ้างทุกคนตามข้อตกลงดังกล่าว โดยลูกจ้างทุกคนไม่ได้ทักท้วง ข้อตกลงฉบับนี้จึงมีผลบังคับแทนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมในเรื่องการจ่ายโบนัส ต่อมาปี ๒๕๔๒ สหภาพแรงงานมิค อีเล็คโทร
นิคประเทศไทย และจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๒ โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องโบนัส ดังนั้น จำเลยจึงได้มีประกาศจ่ายโบนัสประจำปี ๒๕๔๒ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่จ่ายในปี ๒๕๔๑ เท่ากับ ๐.๐๑ เท่าของเงินเดือน และได้จ่ายโบนัสตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายโบนัสครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องมีผลใช้บังคับภายในระยะเวลาที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๙ ข้อ ๙ วรรคสอง กำหนดว่า สหภาพแรงงานมิด อีเล็คโทรนิค ประเทศไทย จะไม่ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องโบนัสภายใน ๒ ปี ข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องโบนัสจึงมีกำหนดให้ใช้บังคับ ๒ ปี เมื่อครบกำหนดหากฝ่ายใดเห็นว่าควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย กล่าวคือ ต้องยื่นข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อตกลงเพื่อให้มีการเจรจาตกลงกันใหม่ มิฉะนั้นให้ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ ๑ ปี เว้นแต่การแก้ไขที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าตามพ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒, ๑๓, ๑๙ และ ๒๐ การที่จำเลยประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสประจำปี ๒๕๔๑ หลังจากครบกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ในส่วนโบนัสไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลบังคับใช้ และการที่จำเลยกับสหภาพแรงานทำบันทึกข้อขัดแย้งโดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้อง และไม่ปรากฏว่ามีการเรียกประชุมใหญ่สมาชิกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นการดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม ตามมาตรา ๑๐๓ (๒) แม้ลูกจ้างทุกคนจะไม่โต้แย้งและยอมรับ แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า จึงไม่อาจถือได้ว่าบันทึกข้อขัดแย้ง เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องโบนัส ต่อมาปี ๒๕๔๒ มีการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ และทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยไม่ได้กำหนดเรื่องโบนัสแต่ได้ระบุไว้ในข้อ ๔ ว่า สภาพการจ้างใดที่ไม่เปลี่ยนแปลงให้ใช้ข้อตกลงเดิม จึงต้องถือว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมในส่วนโบนัสต้องเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๙ จำเลยจึงยังจ่ายโบนัสให้โจทก์ทุกคนไม่ครบถ้วน จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทุกคนในโบนัสค้างตามฟ้อง ไม่ปรากฏว่าเหตุใดโจทก์ทุกคนจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี โจทก์ทุกคนจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันถึงกำหนดชำระ คือ วันสิ้นเดือนธันวาคมอันถือเป็นวันผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔, ๒๐๔ วรรคสอง ซึ่งโจทก์ทุกคนขอนับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๓ จึงให้ตามที่โจทก์ทุกคนขอ เว้นแต่โจทก์ที่ ๑๐๘๓ ได้รับโบนัสครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยจ่ายโบนัสค้างแก่โจทก์ทุกคนตามบัญชีท้ายคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของโบนัสค้าง นับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๓ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน สำหรับโจทก์ที่ ๑๐๘๓ ให้ยก
จำเลยทั้งหนึ่งพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับ คู่กรณีไม่ได้กำหนดระยะเวลาการมีผลใช้บังคับไว้ คงกำหนดเพียงว่าสภาพแรงงานจะไม่ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับโบนัสประจำปีเป็นระยะเวลา ๒ ปีซึ่งกำหนดระยะเวลา ๒ ปีนี้ หาใช่กำหนดระยะเวลาการมีผลใช้บังคับของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่แต่เป็นข้อตกลงที่สหภาพแรงงานมิค อีเล็คโทรนิค ประเทศไทย ยอมสละสิทธิการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องโบนัสต่อจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และไม่มีผลทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๙ ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับกลายเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา การมีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ประกอบกับข้อความในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อ ๒ ที่ว่า ให้จ่ายโบนัสแก่ลูกจ้าง โดยนับอายุงานถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ของทุกปี ตามหลักเกณฑ์ทั่วไปที่กำหนดไว้ก็ดี และจะไม่ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องโบนัสเป็นระยะเวลา ๒ ปีก็ดี แสดงให้เห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เรื่องโบนัสไม่ได้มีลักษณะให้ใช้บังคับเฉพาะในปี ๒๕๓๙ เท่านั้น กรณีจึงต้องด้วย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒ กล่าวคือ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เรื่องโบนัส ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการใช้บังคับไว้ ย่อมมีผลใช้บังคับหนึ่งปีนับแต่วันที่ตกลงกัน (วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๙) เป็นต้นไป หลังจากใช้บังคับครบหนึ่งปีแล้วถ้าไม่มีการเจรจาตกลงกันใหม่ ให้ถือว่าข้อตกลงเรื่องโบนัสในข้อตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละหนึ่งปี หาใช่สิ้นผลเมื่อใช้บังคับครบ ๒ ปี ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ซึ่งจำเลยได้จ่ายโบนัสสำหรับปี ๒๕๓๙ และปี ๒๕๔๐ แก่ลูกจ้างครบถ้วนแล้ว ครั้นในปี ๒๕๔๑ จำเลยประสบปัญหาขาดทุน จำเลยจึงประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัส แต่จำเลยเกรงว่าจะมีปัญหา จำเลยกับสหภาพแรงงานจึงทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสเฉพาะปี ๒๕๔๑ โดยจ่ายโบนัสให้ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเฉลี่ย ๑.๒๙ เท่าของเงินเดือน ส่วนเงื่อนไขการจ่ายโบนัสประการอื่นคงให้เป็นไปตามข้อตกลงเดิม และลูกจ้างทุกคนยอมรับ ดังนี้ จะเห็นว่า ข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ เกิดจากจำเลยกับสหภาพแรงงานนิค อิเล็คโทรนิค ประเทศไทย ตกลงจัดทำขึ้นโดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้อง ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสที่เคยใช้บังคับซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพจ้าง จึงถือได้ว่าข้อตกลงดังกล่าว เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่คู่กรณีทำขึ้นเพื่อแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมฉบับลงวัน ๙ กันยายน ๒๕๓๙ ฉะนั้นแม้ตกลงฉบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ จะเป็นคุณแก่ลูกจ้างน้อยกว่าข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๙ ก็มีผลใช้บังคับได้ ปรากฏว่าหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ มีข้อความลักษณะให้ใช้บังคับเฉพาะการจ่ายโบนัสในปี ๒๕๔๑ เท่านั้น จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสตามอายุงานในปี ๒๕๓๙ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๙ มาใช้บังคับแก่การจ่ายโบนัสในปี ๒๕๔๑ ได้ แต่อย่างไรก็ตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ได้กำหนดไว้ด้วยว่า เงื่อนไขการจ่ายโบนัสในเรื่องอื่นนอกจากหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสดังกล่าวยังคงใช้บังคับตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๙ เหมือนเดิม ดังนั้น หลังจากข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ใช้บังคับครบกำหนดแล้ว หลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสประจำปี ๒๕๔๑ ตามข้อตกลงฉบับนี้ย่อมสิ้นผลและไม่อาจนำไปใช้บังคับแก่การจ่ายโบนัสในปี ๒๕๔๒ ได้ ซึ่งปรากฏต่อมาว่าสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ได้ ผลการเจรจาทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๒ กำหนดให้มีผลใช้บังคับ ๑ ปี นับแต่วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๒ และระบุไว้ในข้อ ๔ ว่า สภาพการจ้างใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตามเดิม โดยไม่ได้กำหนดเรื่องโบนัสไว้ เช่นนี้เกี่ยวกับเรื่องโบนัสในปี ๒๕๔๒จำเลยจึงผูกพันจะต้องจ่ายโบนัสตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมคือฉบับลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๙ มิใช่จ่ายตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ หรือตามประกาศของจำเลย เพราะหากจำเลยกับสหภาพแรงงานมิค อีเล็คโทรนิค ประเทศไทย ตกลงที่จะจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างเฉลี่ย ๑.๓๐ เดือน ตามประกาศของจำเลยแล้ว จำเลยกับสหภาพแรงงานก็น่าจะตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ปี ๒๕๔๒ แต่ก็หาตกลงกันเช่นนั้นไม่ และเมื่อพิจารณาประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสประจำปี ๒๕๔๒ ของจำเลย แม้จำเลยจะระบุว่าการจ่ายโบนัสประจำปี ๒๕๔๒ สำหรับลูกจ้างที่อายุมากกว่า ๑ ปีขึ้นไป จำเลยจะจ่ายให้เฉลี่ย ๑.๓๐ เดือนทั้งบริษัทซึ่งคณะกรรมการสหภาพแรงงานได้ร่วมประชุมกับจำเลย ขอให้นำอายุงานของลูกจ้างมาประกอบการพิจารณาใน การจ่ายโบนัส ในการจ่ายโบนัสครั้งนี้ จำเลยจึงจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างโดยขึ้นอยู่กับอายุงานของลูกจ้าง จากประกาศของจำเลย เท่ากับเป็นการยืนยันว่าจะจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามอายุงานแสดงว่าจำเลยเจตนาจ่ายโบนัสลูกจ้าง ในปี ๒๕๔๒ ตามหลักเกณฑ์ข้อ ๒ ของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๙ ที่กำหนดให้จ่ายโบนัสแก่ลูกจ้างตามอายุงานนั่นเอง กรณีถือได้ว่าจำเลยจ่ายโบนัสให้โจทก์ทุกคนไม่ครบถ้วน จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายโบนัสให้แก่โจทก์ทุกคนตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหนึ่งพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเอ็ดสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน