คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกตรวจคัดเลือกให้เป็นทหารกองประจำการ นายอำเภอมีหมายนัดให้จำเลยไปรายงานตัวเข้ารับราชการทหาร จำเลยรับหมายนัดแล้วไม่ไปรายงานตัวตามเวลานัด โดยมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงขัดขืน เพราะจำเลยเกิดเจ็บป่วยท้องเดินมีอาการอ่อนเพลียนั้น จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา 45
บุคคลใดหลีกเลี่ยงขัดขืนด้วยประการใดๆ เพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 นั้น ไม่มีข้อความตอนใดจะตีความได้ว่าแม้ขาดเจตนาก็มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นทหารกองเกิน คณะกรรมการตรวจเลือกได้ตรวจเลือกจำเลยเข้ารับราชการทหารกองประจำการผลัดที่ ๒ นายอำเภอหนองบัวลำภูซึ่งเป็นอำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของจำเลยได้ออกหมายนัดให้จำเลยมารายงานตัว ณ ที่ว่าการอำเภอหนองบัวลำภูในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ เวลา ๗ นาฬิกา เพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการ วันเวลานัดจำเลยบังอาจหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มารายงานตัวเข้ารับราชการทหารกองประจำการตามหมายนัด เพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔๕ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๖ มาตรา ๑๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับราชการทหารตามหมายนัด กรณียังไม่เข้าองค์ประกอบอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔๕ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยถูกตรวจคัดเลือกให้เป็นทหารกองประจำการผลัดที่ ๒ นายอำเภอหนองบัวลำภูมีหมายนัดให้จำเลยไปรายงานตัวเข้ารับราชการทหารในวันศุกร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ เวลา ๗ นาฬิกา ณ ที่ว่าการอำเภอหนองบัวลำภู จำเลยรับหมายแล้วไม่ไปรายงานตัวตามนัดโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับราชการทหารตามนัด เพราะวันนั้นจำเลยเกิดเจ็บป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ต่อมาจำเลยถูกจับมาดำเนินคดี
มีปัญหาว่า การหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มารายงานตัวเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔๕ นั้น แม้ขาดเจตนาก็ต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามาตรา ๔๕ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยนั้นมีใจความว่า “บุคคลใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนด้วยประการใด ๆ เพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการ ฯลฯ ต้องระวางโทษ……………” ไม่มีข้อความตอนใดจะตีความได้ว่า แม้ขาดก็มีความผิด ฯลฯ เมื่อจำเลยมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงขัดขืนเพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการ จำเลยจึงไม่มีความผิด
พิพากษายืน

Share