คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794-2795/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ประจำทางให้กับบริษัทจำเลยที่ 2 ตอนเกิดเหตุรถชนกันจำเลยที่ 1 ได้ขับรถไปส่งพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 2 ตามบ้านแม้มีระเบียบของบริษัทว่าเมื่อพนักงานขับรถนำรถเข้ามาในบริษัทนำลูกกุญแจไปแขวนไว้แล้วจะนำรถออกไปอีกต้องรับอนุญาตจากผู้จัดการก่อน ระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบปฏิบัติภายใน จะนำมาใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ ทั้งระเบียบที่ว่านี้ก็มิได้ปฏิบัติเคร่งครัดถือได้ว่าการนำรถออกไปส่งพนักงานของบริษัทฯ อยู่ในระหว่างปฏิบัติงานทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
เรื่องค่าขาดไร้อุปการะ แม้จะมีคนอื่นอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ หรือโจทก์มีฐานะดีไม่ได้รับความเดือนร้อน โจทก์ก็มีสิทธิจะได้รับค่าสินไหมทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลยที่ ๒ ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ โดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่นายเกรียงไกร ขับขี่ไป เป็นเหตุให้นายเกรียงไกรถึงแก่ความตาย และโจทก์สำนวนหลังได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ทั้งสองคดีแรกขอเรียกค่าสินไหมทดแทน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์คดีหลังเรียก ๓๗,๔๕๐ บาท
โจทก์ทั้งสองสำนวนได้ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลอนุญาต
จำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้ทั้งสองสำนวนว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๑ มิได้ขับรถในขณะที่อยู่ในทางการที่จ้าง นายเกรียงไกรผู้ตายเป็นฝ่ายผิด และปฏิเสธค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าสินไหมทดแทน ๑๒๑,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ทั้งสองในคดีแรก และใช้เงิน ๗,๔๕๐ บาท แก่โจทก์ในสำนวนคดีหลัง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถยนต์คันเกิดเหตุให้กับบริษัทจำเลยที่ ๒ ตอนเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปส่งพนักงานของบริษัทจำเลยที่ ๒ ตามบ้านที่จำเลยต่อสู้ว่ามีระเบียบของบริษัทว่าเมื่อพนักงานขับรถนำรถเข้ามาในบริษัทแล้วนำลูกกุญแจไปแขวนไว้จะนำรถออกไปอีกต้องได้รับอนุญาตจากผู้จัดการก่อนนั้น เห็นว่าระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบปฏิบัติภายในบริษัทเท่านั้น จะนำมาใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ ทั้งระเบียบที่ว่านี้ก็มิได้ปฏิบัติเคร่งครัดเพราะแม้แต่คนยามของบริษัทจำเลยที่ ๒ เองก็ยังเข้าใจว่าการที่จำเลยที่ ๑ นำรถออกไปอีกนั้นก็เพื่อเติมน้ำมันเตรียมไว้ให้เรียบร้อยในวันรุ่งขึ้น แสดงว่ายังนำรถออกไปได้ จึงเห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ นำรถออกไปส่งพนักงานระหว่างปฏิบัติงานเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ ๑ ด้วย ส่วนค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะนั้น เห็นว่า แม้จะมีคนอื่นอุปการะเลี้ยงดู หรือโจทก์ทั้งสองมีฐานะดีไม่ได้รับความเดือดร้อนตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๒ โจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนี้โดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๓ วรรค ๓ เพราะว่าผู้ตายมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรและภริยาของตน จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
พิพากษายืน.

Share