คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ทางราชการอำเภอจันทึกได้ประกาศสงวนหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้เพื่อใช้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 30 ตุลาคม 2478 นั้นแม้ในภายหลังได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ซึ่ง มาตรา 4 และ มาตรา 5 บัญญัติว่าการหวงห้ามที่ดินดังกล่าวต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ก็หามีผลลบล้างถึงที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประกาศดังกล่าวอยู่ก่อนแล้วไม่ ประกาศของอำเภอจันทึกลงวันที่ 30 ตุลาคม 2478 มีข้อความตอนท้ายของประกาศยกเว้นมิให้ที่ดินที่เป็นสิทธิของราษฎรอยู่ก่อนแล้วกลายสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประกาศ ดังกล่าว ผู้โอนขายที่พิพาทแก่โจทก์ ที่ 1 ได้ที่พิพาทมาโดยการจับจอง เมื่อ พ.ศ. 2493 ส่วน โจทก์ ที่ 2 ได้ที่พิพาทมาโดยการจับจองเมื่อ พ.ศ. 2497 ที่พิพาททั้งสองแปลงมิได้เป็นสิทธิของราษฎรซึ่ง มีมาตั้งแต่ก่อนทางราชการได้ประกาศสงวนที่ดินใน พ.ศ. 2478 จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิในที่พิพาท

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ซึ่งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ และ 35 ไร่ ตามลำดับต่อมาโจทก์ทั้งสองไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาเพื่อขอให้รังวัดออกโฉนดสำหรับที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 24มีนาคม 2528 และวันที่ 3 ตุลาคม 2528 ตามลำดับ ในระหว่างที่เจ้าพนักงานที่ดินกำลังดำเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4ซึ่งกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวทางอำเภอจันทึกได้ประกาศหวงห้ามไว้เมื่อปี 2478 เพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทั้งสอง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งสองห้ามจำเลยทั้งสี่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสอง และเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินตามฟ้อง
ก่อนที่จำเลยยื่นคำให้การ โจทก์ทั้งสองสำนวนยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ทั้งสองสำนวนให้การว่าที่ดินตามฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข น.ม.1959 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 โดยทางราชการได้ประกาศหวงห้ามไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการของจำเลยที่ 1 ตามประกาศของนายอำเภอจันทึกที่ 2349/2478 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2478ซึ่งมีผลบังคับโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการหวงห้ามที่ดินที่มีอยู่ก่อนพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ใช้บังคับทั้งพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้การรับรองการหวงห้ามดังกล่าวด้วยแล้วโจทก์ทั้งสองบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินตามฟ้องหลังจากที่มีประกาศหวงห้ามดังกล่าวจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่จำเลยที่ 2และที่ 4 ยื่นคำร้องคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบขอให้ยกฟ้อง
ก่อนที่สืบพยานศาลชั้นต้นสั่งเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอทำแผนที่พิพาท โดยให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยนำชี้แนวเขตที่ดินของตนโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นำชี้แนวเขตที่ดินตามเส้นสีแดงเนื้อที่ 62 ไร่เศษและ 33 ไร่เศษ ตามลำดับส่วนจำเลยนำชี้ที่ดินตามเส้นสีเขียวเนื้อที่ 10,302 ไร่เศษตามแผนที่พิพาทคดีนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยทั้งสองสำนวนนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2478 ทางราชการอำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศสงวนที่ดินสำหรับเตรียมดำเนินการเป็นทัณฑนิคมคลองไผ่ ของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย เอกสารหมาย ล.5โดยห้ามราษฎรมิให้เข้าไปบุกรุกถากถาง จับจองตามประกาศอำเภอจันทึกที่ 2349/2478 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2478 เอกสารหมาย ล.2 ที่พิพาททั้งสองแปลงที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 นำชี้อยู่ในเขตที่ดินที่ประกาศสงวนไว้ดังกล่าว เห็นว่า การที่ทางราชการอำเภอจันทึกได้ประกาศสงวนหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้เพื่อใช้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประกาศลงวันที่ 30 ตุลาคม 2478 นั้น แม้ภายหลังได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ซึ่งมาตรา 4 และ 5 บัญญัติว่าการหวงห้ามที่ดินดังกล่าวต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาก็ดี ก็หามีผลลบล้างถึงที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประกาศดังกล่าวอยู่ก่อนแล้วไม่ ปัญหาว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้สิทธิในที่พิพาททั้งสองแปลงหรือไม่ ประกาศของอำเภอจันทึก ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2478เอกสารหมาย ล.2 มีข้อความตอนท้ายของประกาศว่า “ฉะนั้น ตามเหตุที่กล่าวนี้ห้ามไม่ให้ราษฎรคนใดเข้าไปบุกรุกถากถาง จับจองเป็นอันขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานส่วนที่ดินเฉพาะที่เป็นสิทธิของราษฎรมีมาแต่ก่อนแล้วก็ให้เป็นสิทธิคงเดิม ห้ามไม่ให้ถากถาง จับจองบุกรุกออกไปอีก” อันเป็นข้อยกเว้นมิให้ที่ดินที่เป็นสิทธิของราษฎร อยู่ ก่อนกลายสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประกาศดังกล่าว ที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า เดิมที่พิพาททั้งสองแปลงหลวงแพ่ง นายอำเภอจันทึกในสมัยก่อนได้จับจองไว้ก่อนที่ทางราชการอำเภอจันทึกได้ประกาศสงวนที่ดินใน พ.ศ. 2478 ต่อมาหลวงแพ่งได้ยกที่พิพาทให้นายอ๊อด และนางกองบุตรคนละแปลง นายอ๊อดยกที่พิพาทแปลงของตนให้นายจันทร์นายจันทร์ขายที่พิพาทให้โจทก์ที่ 1 ส่วนที่พิพาทแปลงของนางกองได้ยกให้โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรนางกอง โดยมีนายไพโรจน์เพชรมะโนสัจจะ สามีโจทก์ที่ 1 และนางถนอม เพชรมโนสัจจะนายสุควร แพ่งจันทึก นายมา ดวงตาทิพย์ ญาติพี่น้องของโจทก์ที่ 1ที่ 2 มาเบิกความสนับสนุน นั้น นายจันทร์ผู้โอนขายที่พิพาทแก่โจทก์ที่ 1 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าได้ที่พิพาทมาโดยการจับจองและก่อสร้างเองเมื่อ พ.ศ. 2493 ตามเอกสารหมาย จ.ล.1ส่วนโจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าได้แจ้งการครอบครองที่พิพาทเมื่อวันที่ 5เมษายน 2498 ตามเอกสารหมาย จ.8 และยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2528 ตามเอกสารหมาย จ.9 โดยระบุว่าได้ที่พิพาทมาโดยการจับจองเมื่อ พ.ศ. 2497 ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้สอบสวนทำขึ้นโดยนายจันทร์และโจทก์ที่ 2 ได้ลงชื่อรับรองไว้ในเอกสารดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่านายจันทร์และโจทก์ที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามที่ปรากฏในเอกสารพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงขัดแย้งกันไม่อาจรับฟังได้ว่าที่พิพาททั้งสองแปลงเดิมเป็นสิทธิของราษฎรซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนทางราชการได้ประกาศสงวนที่ดินใน พ.ศ. 2478ที่พิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 โจทก์ที่ 1 และที่ 2จึงไม่มีสิทธิในที่พิพาท
พิพากษายืน

Share