คำวินิจฉัยที่ 4/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๕๕

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ นางอุไร ชาลีมุ้ย โจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมรักษ์ ชาลีมุ้ย ที่ ๑ นางอรทัย กองโชค ที่ ๒ นางสุทธาทิพย์ อิฐกาญจนา ที่ ๓ นายอุทัยหรือสันต์ชัย แก้วหมาย ที่ ๔ นายสมพงษ์ มาตย์วิเศษ ที่ ๕ นายวิชัย สุภาพ ที่ ๖ นายหรือพันเอก เอกชัย ล้อมพงศ์ ที่ ๗ กรมที่ดิน ที่ ๘ นายศิลป์ชัย สถิตเสถียร ที่ ๙ นายกัณฐศักย์ สุคนธมาน ที่ ๑๐ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ส. ๑๓๓๗/๒๕๕๑ ความว่า เมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน ๒๕๔๐ โจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ดำเนินการจดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๒๘๙ และเลขที่ ๕๗๒๙๐ ตำบลเสาธงหิน (บางกระบือ) อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากจำเลยที่ ๓ ต่อมาวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจและกรอกรายละเอียดโดยโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอม แล้วนำสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้านและสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ที่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับรองและมอบให้กับจำเลยที่ ๒ ไว้ มาประกอบกับหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวเพื่อใช้อ้างต่อจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินให้รับจดทะเบียนขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจปลอมกับลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ในสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้านและสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน อีกทั้งเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระค่ารับซื้อฝากแก่จำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๒,๐๔๐,๐๐๐ บาท การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ จึงเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ นิติกรรมการขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงเป็นโมฆะ ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้นำโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นเอกสารปลอมมามอบให้แก่โจทก์ และเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ได้ร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่ใช้เฉพาะสำนักงานที่ดินและกรอกรายละเอียดโดยโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอม และร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านและภาพถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ ได้นำเอกสารปลอมทั้งสามฉบับดังกล่าวอ้างต่อจำเลยที่ ๙ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้รับจดทะเบียนการให้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ยืนยันต่อจำเลยที่ ๙ ว่า ลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจปลอมเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงและโจทก์ได้ลงชื่อต่อหน้าตน โดยเฉพาะจำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ได้ลงบันทึกยืนยันด้านหลังในหนังสือมอบอำนาจปลอมว่าเป็นญาติกับโจทก์ ทั้งที่ไม่ใช่ความจริง จำเลยที่ ๙ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยเปรียบเทียบลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจในเอกสารปลอมทั้งสามฉบับดังกล่าวกับลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจในสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้านและสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ที่เคยใช้ประกอบในการจดทะเบียนนิติกรรมขายฝากเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ แล้วเห็นว่าลายมือชื่อแตกต่างกัน แต่จำเลยที่ ๙ ไม่ได้ให้โจทก์มายืนยันลายมือชื่อในเอกสาร เพียงแต่โทรศัพท์มาสอบถามและมีผู้อื่นรับสายแจ้งว่าโจทก์มีการยกให้ที่ดินจริง ก็รับจดทะเบียนการให้แก่จำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๙ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๕ ถึงที่ ๗ และที่ ๙ จึงเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย นิติกรรมการให้เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๐ จึงตกเป็นโมฆะ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งสองแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองและขึ้นเงินจำนองกับบุคคลอื่นและในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ได้จดทะเบียนจำนองและขึ้นเงินจำนองกับจำเลยที่ ๑๐ หลายครั้ง นิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑๐ ย่อมเป็นโมฆะด้วย โจทก์ทราบว่าโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มอบให้เป็นโฉนดที่ดินปลอม เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๒๘๙ ตำบลเสาธงหิน (บางกระบือ) อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง นิติกรรมการให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ดังกล่าว นิติกรรมจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และนิติกรรมขึ้นเงินจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ดังกล่าวทั้งหมด ให้จำเลยที่ ๓ จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๒๘๙ และเลขที่ ๕๗๒๙๐ ตำบลเสาธงหิน (บางกระบือ) อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เลขที่ ๕๒/๓๗ เลขที่ ๕๒/๓๘ ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยมีกำหนดระยะเวลาขายฝาก ๑ ปี ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางใหญ่ หากจำเลยที่ ๓ ไม่อาจมาดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๙ ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๖ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมรับซื้อฝากแต่เพียงผู้เดียว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นความเท็จ จึงเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ การที่โจทก์ได้รับโฉนดที่ดินจากจำเลยที่ ๑ แล้วไม่ตรวจสอบว่าเป็นโฉนดที่ดินฉบับจริงหรือฉบับปลอม จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๗ ให้การว่า จำเลยที่ ๗ ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๐ จริง แต่มิได้ร่วมและรู้เห็นเกี่ยวกับการปลอมเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด หากจำเลยที่ ๗ รู้ว่ามีการปลอมเอกสารดังกล่าวก็จะไม่ลงชื่อรับรอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ที่ ๘ และที่ ๙ ให้การว่า เหตุละเมิดของจำเลยที่ ๔ และที่ ๙ ตามที่โจทก์ฟ้องได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ ๘ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นต้นสังกัดของจำเลยที่ ๔ และที่ ๙ ได้โดยตรงตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๔ และที่ ๙ จำเลยที่ ๔ ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๓ กับโจทก์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นกรณีที่ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์ในสารบบที่ดินที่จะถือเป็นตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่จะนำมาเปรียบเทียบเพื่อทำการตรวจสอบได้ แต่คู่กรณีได้บันทึกความรับผิดกันเองไว้เป็นหลักฐานแล้ว และเมื่อตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเทียบเคียงกับลายมือชื่อของโจทก์ในสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนแล้วปรากฏว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน ประกอบกับเป็นการทำนิติกรรมที่โจทก์ได้มาซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ไป อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งกรมที่ดินที่ ๑๐/๒๕๐๑ เรื่องหนังสือมอบอำนาจ ข้อ ๓ (จ) และจำเลยที่ ๙ ได้จดทะเบียนนิติกรรมประเภทให้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เป็นกรณีโจทก์ (มารดา) มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ (บุตร) ทำนิติกรรมประเภทให้โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับ และลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๐ เปรียบเทียบกับลายมือชื่อเดิมของโจทก์ที่ปรากฏในสารบบที่ดินทั้งสองแปลงแล้วมีลักษณะคล้ายคลึงกัน สามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ตามระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการมอบอำนาจให้ทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือกิจการอื่นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๐ (๔) แต่จำเลยที่ ๙ ได้ใช้ความระมัดระวังมากกว่าที่ระเบียบฯ กำหนด โดยให้จำเลยที่ ๑ นำบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องการมอบอำนาจมายืนยันและให้บุคคลดังกล่าวบันทึกความรับผิดชอบกันเองไว้เป็นหลักฐาน อีกทั้งได้โทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงในรายละเอียดกับโจทก์แล้ว เมื่อได้ข้อมูลถูกต้องตรงกับความจริง จำเลยที่ ๙ เชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับมอบอำนาจจริงและโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงจริง มีอำนาจโอนกรรมสิทธิ์ให้กับบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๙ จึงจดทะเบียนนิติกรรมประเภทให้ตามความประสงค์ของคู่สัญญา การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๔ และที่ ๙ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ตามอำนาจหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ไม่ได้กระทำละเมิดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อโจทก์แต่อย่างใด คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๐ ให้การว่า จำเลยที่ ๑๐ เป็นบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ การรับจำนองของจำเลยที่ ๑๐ เป็นไปโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ ๑๐ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และไม่เสียสิทธิในฐานะผู้รับจำนอง สัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑๐ ไม่เป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ที่ ๘ และที่ ๙ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของจำเลยที่ ๔ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งกรมที่ดินที่ ๑๐/๒๕๐๑ เรื่องหนังสือมอบอำนาจ ข้อ ๓ (จ) และจำเลยที่ ๙ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการมอบอำนาจให้ทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือกิจการอื่นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๐ (๔) จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๔ และที่ ๙ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดของจำเลยที่ ๘ ร่วมกับเอกชนโดยยกข้อกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๙ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ตรวจสอบลายมือชื่อในเอกสารตามที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นต่อจำเลยที่ ๔ และที่ ๙ ซึ่งเป็นเอกสารปลอม โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอม ซึ่งจำเลยที่ ๔ ได้ดำเนินการรับจดทะเบียนนิติกรรมการขายฝากและจำเลยที่ ๙ รับจดทะเบียนนิติกรรมการให้เป็นการไม่ชอบ ตกเป็นโมฆะ ซึ่งในคดีนี้โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก นิติกรรมการยกให้และนิติกรรมการจำนองและขึ้นเงินจำนองตามคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ ๔ ว่าด้วยนิติกรรม และกรณีที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๙ ชดใช้ค่าเสียหายมาด้วย ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำโดยละเมิดหรือไม่ ซึ่งต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด ดังนั้น แม้ข้อพิพาทในคดีนี้โจทก์จะกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานของรัฐสังกัดกรมที่ดินกระทำการโดยประมาทเลินเล่อและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการรับจดทะเบียนนิติกรรมการขายฝาก นิติกรรมยกให้ ก็เป็นเรื่องของการกล่าวอ้างว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบให้ถูกต้องตามหน้าที่ จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีเป็นการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการซื้อฝาก ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ โดยอ้างว่า จำเลยที่ ๔ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดิน กระทำการโดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ในสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้าน และสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน เปรียบเทียบกับลายมือชื่อปลอมในหนังสือมอบอำนาจให้ทำการซื้อฝาก แล้วจำเลยที่ ๔ ได้จดทะเบียนการซื้อฝาก (ขายฝาก) ไปตามหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ต้องชำระค่ารับซื้อฝากแก่จำเลยที่ ๓ เป็นเงินจำนวน ๒,๐๔๐,๐๐๐ บาท และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้และนิติกรรมจำนองอีกหลายครั้ง อันเนื่องมาจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๙ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดิน และเรียกให้จำเลยที่ ๘ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจำเลยที่ ๔ และที่ ๙ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายแก่โจทก์ คดีจึงมีประเด็นหลักที่จะต้องวินิจฉัยว่า การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทเป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามคำฟ้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ก่อนที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามคำขอของคู่กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องทำการสอบสวนคู่กรณีและมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็นเพื่อพิสูจน์ถึงสิทธิและความสามารถของบุคคลรวมทั้งความสมบูรณ์ของนิติกรรม ตามนัยมาตรา ๗๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และข้อ ๒ (๑) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุคคลใดแล้ว ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวย่อมได้รับการรับรองและคุ้มครองตราบเท่าที่ยังไม่ถูกเพิกถอนจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีพิพาทตามคำฟ้องนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทและให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ส่วนประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า โจทก์ได้มอบให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำนิติกรรมในที่ดินที่พิพาทหรือไม่ เป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่งในหลายประเด็นของประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาว่าการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของจำเลยที่ ๔ และที่ ๙ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งแม้การพิจารณาในประเด็นย่อยดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การพิจารณาดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ห้ามมิให้ศาลปกครองนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาคดีได้ ดังนั้น ประเด็นย่อยดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกัน เมื่อคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามนัยมาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ที่ ๕ ถึงที่ ๗ และที่ ๑๐ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน จำเลยที่ ๔ ที่ ๘ และที่ ๙ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๒๘๙ และเลขที่ ๕๗๒๙๐ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากจำเลยที่ ๓ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้านและสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ที่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้มาประกอบกับหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวเพื่อใช้อ้างต่อจำเลยที่ ๔ ซึ่งจำเลยที่ ๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อรับจดทะเบียนขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวโดยไม่ตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ จึงเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ นิติกรรมการขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงเป็นโมฆะ ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้นำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารปลอมมามอบให้แก่โจทก์ และต่อมาจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ได้ร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจ ภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านและภาพถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ และจำเลยที่ ๑ ได้นำเอกสารปลอมทั้งสามฉบับดังกล่าวอ้างต่อจำเลยที่ ๙ เพื่อให้รับจดทะเบียนการให้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ยืนยันต่อจำเลยที่ ๙ ว่า ลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจปลอมเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงและโจทก์ได้ลงชื่อต่อหน้าตน ซึ่งจำเลยที่ ๙ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ได้ให้โจทก์มายืนยันลายมือชื่อในเอกสารเพียงแต่โทรศัพท์มาสอบถามและมีผู้อื่นรับสายแจ้งว่าโจทก์มีการยกให้ที่ดินจริง ก็รับจดทะเบียนการให้แก่จำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๙ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๕ ถึงที่ ๗ และที่ ๙ จึงเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย นิติกรรมการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงตกเป็นโมฆะ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งสองแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองและขึ้นเงินจำนองกับบุคคลอื่นและนำมาจำนองและขึ้นเงินจำนองกับจำเลยที่ ๑๐ นิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑๐ ย่อมเป็นโมฆะด้วย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการขายฝาก การให้ การจำนองและไถ่ถอนจำนองที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๒๘๙ และเลขที่ ๕๗๒๙๐ ทั้งหมด ให้จำเลยที่ ๓ จดทะเบียนขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ โดยมีกำหนดระยะเวลาขายฝาก ๑ ปี หากจำเลยที่ ๓ ไม่อาจมาดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๓ และให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๙ ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับจดทะเบียนนิติกรรมการขายฝากและการโอนที่ดินพิพาทมาด้วยก็ตาม แต่การรับจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวก็จะต้องพิจารณาสิทธิของบุคคลผู้เป็นคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ถึงที่ ๗ ได้ร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจเพื่อใช้ในการจดทะเบียนซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ ๓ และจดทะเบียนการให้ที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๑ อันเป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ซึ่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ที่ ๘ และที่ ๙ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก็เป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากการปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงว่าหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ รับซื้อฝากที่ดินพิพาท และหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นหลัก หากได้ความว่าการมอบอำนาจถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทก็ย่อมจะชอบด้วยกฎหมายมีผลให้สิทธิในที่ดินพิพาทโอนไปเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่หากการมอบอำนาจไม่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทก็ย่อมจะไม่ชอบด้วยกฎหมายมีผลให้สิทธิในที่ดินยังเป็นของจำเลยที่ ๓ อยู่ ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางอุไร ชาลีมุ้ย โจทก์ นายสมรักษ์ ชาลีมุ้ย ที่๑ นางอรทัย กองโชค ที่ ๒ นางสุทธาทิพย์ อิฐกาญจนา ที่ ๓ นายอุทัยหรือสันต์ชัย แก้วหมาย ที่ ๔ นายสมพงษ์ มาตย์วิเศษ ที่ ๕ นายวิชัย สุภาพ ที่ ๖ นายหรือพันเอก เอกชัย ล้อมพงศ์ ที่ ๗ กรมที่ดิน ที่ ๘ นายศิลป์ชัย สถิตเสถียร ที่ ๙ นายกัณฐศักย์ สุคนธมาน ที่ ๑๐ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share