แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 14 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด… เป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษ…” ต่างจากมาตรา 14 วรรคสาม เดิม ที่บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด… เป็นเจ้าพนักงาน ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษ…” จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใหญ่บ้านเป็นเพียงเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ไม่ใช่เจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4 อันจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ กฎหมายใหม่ส่วนนี้จึงเป็นคุณมากกว่า และนอกจากนั้นความผิดฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตาม มาตรา 14 (2) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีระวางโทษน้อยกว่ามาตรา 14 (1) เดิม ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องรวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 267
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 267 ประกอบ มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 5 มีกำหนดคนละ 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) วรรคสอง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 5 คนละ 4 เดือน 15 วัน และจำเลยที่ 3 คงจำคุก 9 เดือน ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ชอบหรือไม่ และฟ้องโจทก์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในเรื่องความผิดต่อพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) (6) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแยกกันชัดเจนเป็น 2 กระทง กระทงแรกตามฟ้องข้อ ก. เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และนายนัดสรี ร่วมกันกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และฐานทำ ใช้ หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ ส่วนกระทงที่ 2 ตามฟ้องข้อ ข. เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน กับจำเลยที่ 2 ที่ 5 และนายนัดสรี ร่วมกันแจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการที่นายนัดสรีแสดงตัวเป็นนายอนุชายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่อ้างว่าบัตรเดิมสูญหาย โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นผู้รับรอง โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และ นายนัดสรี กระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในสำเนาทะเบียนบ้าน และฐานแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้านโดยมิชอบตามฟ้องข้อ ก. ด้วยแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง กับฟ้องโจทก์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ตามฟ้องข้อ ข. เป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) วรรคหนึ่ง และมาตรา 14 (1) วรรคสาม โจทก์ไม่จำต้องระบุอนุมาตราหรือวรรคของบทมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) มิได้บังคับไว้เช่นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) วรรคหนึ่ง ตรงตามโจทก์บรรยายฟ้อง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามนั้น มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ฎีกาของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 รู้ว่านายนัดสรีผู้ขอมีบัตรตามแบบ บ.ป.1 ไม่ใช่นายอนุชา ตามสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 60/303 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กับนายนัดสรีต่างพบกันโดยบังเอิญที่ที่ว่าการอำเภอบ้านฉาง และสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 60/303 ของจำเลยที่ 1 ก็มีชื่อนายอนุชาเป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ดังกล่าว รวมทั้งนายนัดสรีมีสูติบัตรและบอกต่อพวกตนว่ามีชื่อจริงว่านายอนุชา นั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ต่างไม่มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารมาแสดงยืนยันว่าจำเลยที่ 5 ไปขายของ จำเลยที่ 2 ไปตีตั๋วโค กระบือ จำเลยที่ 3 ไปทำธุระเกี่ยวกับหนังสือทะเบียนราษฎรให้แก่ลูกบ้านที่ที่ว่าการอำเภอบ้านฉางตามที่กล่าวอ้างว่าจริงหรือไม่ นอกจากคำกล่าวอ้างของพวกจำเลยเอง โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มิได้ถามค้านพยานโจทก์ปากนางปริยากรให้เห็นแตกต่างเป็นอย่างอื่นว่าหลังจากนายนัดสรีได้รับคำแนะนำจากนางปริยากรแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และ ที่ 5 มิได้เดินทางไปพบนางปริยากรพร้อมกับนายนัดสรี และนายนัดสรีมีสูติบัตรมาแสดงพร้อมสำเนาทะเบียนบ้านด้วย จึงเชื่อว่านายนัดสรีเดินทางไปพบนางปริยากรอีกครั้งพร้อมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และ ที่ 5 มิใช่เป็นการพบกันโดยบังเอิญ และนายนัดสรีไม่มีสูติบัตรเป็นหลักฐาน ดังนั้น เมื่อผู้ขอมีบัตรไม่ใช่นายอนุชา แต่เป็นนายนัดสรีผู้ไม่มีสัญชาติไทย ลำพังการที่นายนัดสรีมีสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 60/303 ของจำเลยที่ 1 ที่มีชื่อนายอนุชาเป็นผู้อาศัยมาแสดง โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 3 รู้จักกับจำเลยที่ 1 เจ้าบ้านและจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 3 ช่วยลงชื่อรับรองและบอกว่าผู้ขอมีบัตรเป็นญาติของจำเลยที่ 4 และที่ 5 แม้จำเลยที่ 3 จะไม่รู้จักจำเลยที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใหญ่บ้านก็รับรองให้ทั้งที่ไม่เคยรู้จักผู้ขอมีบัตรมาก่อน รวมทั้งจำเลยที่ 3 ก็ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การต่อพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกัน ตามบันทึกถ้อยคำ บันทึกคำให้การ เมื่อบันทึกคำให้การรับรองบุคคล ด้านหลังมีข้อความชัด จำเลยที่ 3 ต้องทราบข้อความในบันทึกคำให้การรับรองบุคคลดีเพราะเคยให้การรับรองลูกบ้านมาหลายครั้งแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำไปโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ขอมีบัตรต้องได้บัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่จากการรับรองของตน จึงเป็นการแจ้งความเท็จโดยเจตนา ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 5 ก็รู้จักคุ้นเคยกับนายนัดสรีมาก่อน แม้จำเลยที่ 5 จะเบิกความว่าไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกับนายนัดสรี แต่นายนัดสรีเคยแจ้งว่าเป็นญาติกับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 2 เคยสอบถามเรื่องดังกล่าวจากจำเลยที่ 4 ซึ่งรู้จักนายอนุชามาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 เคยค้าขายผ้ากับนายนัดสรีมาประมาณ 10 ปี ย่อมต้องรู้ประวัติส่วนตัวกัน พยานหลักฐานจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงมีพิรุธไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 รู้ว่านายนัดสรีผู้ขอมีบัตรตามแบบ บ.ป.1 ไม่ใช่นายอนุชาตามสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 60/303 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับรอง โดยจำเลยที่ 2 และที่ 5 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในการขอมีบัตรใหม่ จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เป็นการร่วมกันกับนายนัดสรีแจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 14 วรรคสามที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด… เป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษ…” ต่างจากมาตรา 14 วรรคสาม เดิม ที่บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด… เป็นเจ้าพนักงาน ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษ…” จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใหญ่บ้านเป็นเพียงเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ไม่ใช่เจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 4 อันจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ กฎหมายใหม่ส่วนนี้จึงเป็นคุณมากกว่า และนอกจากนั้นความผิดฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตาม มาตรา 14 (2) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีระวางโทษน้อยกว่ามาตรา 14 (1) เดิม ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการที่ออกให้โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งเพื่อให้เป็นพยาน หลักฐานในการแสดงตนของบุคคล การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 นับว่าก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ และอาจสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้สุจริตทั่วไปที่นายนัดสรีอาจนำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ไปใช้แอบอ้างอีกด้วย แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ประกอบอาชีพสุจริต มีความประพฤติดี ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชอบช่วยเหลือทางราชการและทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม มีหนังสือรับรองของนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ จำเลยที่ 2 มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว จำเลยที่ 3 มีอายุมาก จำเลยที่ 5 ต้องพบแพทย์ทุกเดือน ก็ไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 แต่เนื่องจากขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไม่เคยต้องโทษจำคุก เห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกระยะสั้นและเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14(2) วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีกำหนดคนละ 3 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2