แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตามอุทธรณ์ของโจทก์กับความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษไปแล้วนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวกันอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทั้งสองฐานนี้หรือไม่จึงต้องพิจารณาพิพากษาไปพร้อมกัน ดังนั้น แม้ว่าโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นควรวินิจฉัยความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายไปพร้อมกับความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตามอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย แม้จะแปลความหมายตอนท้ายของคำพิพากษาที่ระบุว่า “คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” ได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานนี้ด้วย แต่คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงต้องระบุถึงเหตุผลในการพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้พิพากษาให้ครบถ้วนตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำความผิดต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อน แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดังกล่าว คงบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องนำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังกล่าวไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องย่อมไม่อาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 78 และมาตรา 81 ได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษในความผิดทั้งสองฐานนี้ได้
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 (1) ว่า จำเลยเพื่อประสงค์แห่งการค้าได้บังอาจมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีอันเป็นภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง และภาพอันลามกที่แสดงการร่วมประเวณีระหว่างชายกับหญิงในลักษณะยั่วยุกามารมณ์จำนวน 30 แผ่น ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และบรรยายฟ้องข้อ 3 ว่า เจ้าพนักงานยึดได้แผ่นวีซีดีและดีวีดีอันเป็นภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง และภาพอันลามกจำนวน 30 แผ่น อันมีไว้เป็นความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามกฎหมายกับขอให้ริบของกลางดังกล่าว แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนคำขอให้ริบของกลางดังกล่าวว่า คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยไม่ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการริบของกลาง จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (9) เมื่อคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์อันลามกจำนวน 30 แผ่น ไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันควรริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ลามกตาม ป.อ. มาตรา 287 (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลย 2,000 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โทษปรับในข้อหาความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ลามกที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดมานั้นสูงเกินไป จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 (4) (เดิม) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 25, 31, 38, 47, 54, 78, 79, 81 และ 82 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 31, 70, 75, 76 และ 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 และ 287 ริบแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์จำนวน 1,100 แผ่น ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์จำนวน 30 แผ่น อันเป็นภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียงและภาพอันลามกของกลาง ให้แผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์รวมจำนวน 33 แผ่น ของกลาง ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 25, 31, 38, 47, 78, 79, 54 และ 81 (ที่ถูก มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่ง มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานนำแผ่นภาพยนตร์ซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นออกเสนอขายหรือเสนอให้เช่าเพื่อการค้า ลงโทษปรับ 50,000 บาท ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ลงโทษปรับ 20,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษปรับ 200,000 บาท และฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์อันลามก ลงโทษปรับ 2,000 บาท รวมปรับ 272,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 136,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ของกลางที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้องให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ด้วยนั้น เห็นว่า ความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตามอุทธรณ์ของโจทก์กับความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษไปแล้วนั้น ความผิดทั้งสองฐานนี้เป็นการกระทำกรรมเดียวกันอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทั้งสองฐานนี้หรือไม่จึงต้องพิจารณาพิพากษาไปพร้อมกัน ดังนั้น แม้ว่าโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นควรวินิจฉัยความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายไปพร้อมกับความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย แม้จะแปลความหมายตอนท้ายของคำพิพากษาที่ระบุว่า “คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” ได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานนี้ด้วย แต่คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงต้องระบุถึงเหตุผลในการพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้พิพากษาให้ครบถ้วนตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1)
เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์ในฟ้องข้อ 2 (ค) โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยได้บังอาจมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์และไม่ปรากฏหมายเลขรหัสและประทับตราเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสลงบนภาพยนตร์จำนวน 1,100 แผ่น อันเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นวีซีดีและดีวีดีดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 (ข) ไว้ในความครอบครองเพื่อที่จะใช้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” แล้วเห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำความผิดต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อน แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดังกล่าว คงบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องนำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังกล่าวไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องย่อมไม่อาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 78 และมาตรา 81 ได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษในความผิดทั้งสองฐานนี้ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์อันลามกจำนวน 30 แผ่น ของกลางนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 (1) ว่า จำเลยเพื่อประสงค์แห่งการค้าได้บังอาจมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีอันเป็นภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง และภาพอันลามกที่แสดงการร่วมประเวณีระหว่างชายกับหญิงในลักษณะยั่วยุกามารมณ์จำนวน 30 แผ่น ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และบรรยายฟ้องข้อ 3 ว่า เจ้าพนักงานยึดได้แผ่นวีซีดีและดีวีดีอันเป็นภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง และภาพอันลามกจำนวน 30 แผ่น อันมีไว้เป็นความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามกฎหมายกับขอให้ริบของกลางดังกล่าว แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนคำขอให้ริบของกลางดังกล่าวว่า คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกโดยไม่ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการริบของกลาง จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) (9) เมื่อคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์อันลามกจำนวน 30 แผ่น ไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันควรริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ริบของกลางในส่วนนี้โดยไม่ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการริบของกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โทษปรับในข้อหาความผิดฐานเสนอขายงานภาพยนตร์ที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่ ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ลามก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดมานั้นสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า สำหรับความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ลามกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลย 2,000 บาท อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 (4) (เดิม) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย สำหรับความผิดฐานเสนอขายงานภาพยนตร์ที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์และฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งปรับ 50,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ นั้น เป็นโทษขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจแก้ไขโทษดังกล่าวที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้เบาลง อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งในข้อหาความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง รวมปรับ 252,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 126,000 บาท ริบแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์อันลามกจำนวน 30 แผ่น ของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง