แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปนกในลักษณะประดิษฐ์คล้ายรูปนกอินทรีซึ่งเป็นนกประเภทเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยรูปนกดังกล่าวเป็นรูปนกในลักษณะกางปีกหงายลำตัวด้านท้องออกหันหัวไปทางด้านซ้ายมือมีหงอนที่หัวและขาทั้งสองข้างถือเกรียงโบกปูนอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมและมีอักษรไทยกำกับภายใต้รูปนกว่า”ตรานกถือเกรียง”ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะสำคัญเป็นรูปนกอินทรีกางปีกหันข้างและขาทั้งสองข้างมิได้ถือเกรียงโบกปูนและอยู่ภายในกรอบวงกลมโดยมีอักษรไทยคำว่าบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัดและอักษรโรมันคำว่าSIAMCITYCEMENTCO.,LTD. วางอยู่ระหว่างวงกลมชั้นนอกและชั้นในและในอีกลักษณะหนึ่งวางอยู่ในกรอบวงกลมชั้นเดียวเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยคือรูปนกอินทรีมีลักษณะเด่นคือรูปนกอินทรีที่กางปีกอยู่ในกรอบคล้ายคลึงกันประชาชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานว่าตรานกอินทรีแม้จะมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างตรงที่รูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปนกอินทรีหันหน้าไปทางด้านซ้ายหงายลำตัวด้านท้องออกและขาทั้งสองข้างถือเกรียงโบกปูนและมีอักษรไทยคำว่าตรานกถือเกรียงอยู่ใต้รูปนกก็ตามก็เป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้นทั้งรูปเกรียงและอักษรไทยดังกล่าวก็มีขนาดเล็กไม่ใช่ลักษณะเด่นไม่เป็นสาระสำคัญแก่การสังเกตประกอบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ปรากฏข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าของจำเลยจำเลยขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าน้ำยาเคมีผสมซีเมนต์แม้จะเป็นสินค้าในจำพวกที่1ต่างจำพวกกับสินค้าปูนซีเมนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นสินค้าในจำพวกที่17แต่ก็เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าปูนซีเมนต์ของโจทก์โจทก์ได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีมานานและได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์วิทยุและโทรทัศน์เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปจำเลยเพิ่งจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทภายหลังโจทก์20ปีจำเลยเคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีหันข้างและกางปีกเช่นเดียวกับรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้จำเลยเคยถูกฟ้องในข้อหาเสียลนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีและถูกศาลลงโทษไปแล้วเมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในรูปของมงกุฎรูปเพชรและรูปสิงโตใช้กับปูนซีเมนต์ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยในรูปเพชรมีปีกมงกุฏมีปีกและสิงโตคู่เหยียบลูกโลกใช้กับสินค้าน้ำยาเคมีผสมปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับโจทก์เป็นคู่ๆโดยมุ่งหมายที่จะอาศัยแอบอ้างชื่อเสียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตจำเลยจึงไม่มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตรา”นกอินทรี” ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว โดยใช้กับสินค้าปูนซีเมนต์วัสดุก่อสร้างและตกแต่งอื่น ๆ ของโจทก์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม2534 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีมีตัวอักษรกำกับใต้รูปดังกล่าวว่า “ตรานกถือเกรียง” โดยไม่สุจริตประสงค์ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ มีเจตนาลวงให้สาธารณชนสำคัญผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้วแต่นายทะเบียนได้วินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยถอนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 212971 จากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยกับบริวารใช้เครื่องหมายการค้าตรา “นกอินทรี” ไม่ว่ารูปแบบหรือลักษณะใดอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพราะลักษณะของเครื่องหมายการค้ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการเรียกขานของเครื่องหมายการค้าก็ต่างกัน ไม่ทำให้สาธารณชนหลงผิด โจทก์ยื่นฟ้องเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 212971 จากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตรานกอินทรีดังกล่าว
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีในสินค้าจำพวกที่ 17 ชนิดสินค้าปูนซีเมนต์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2513 ตามคำขอจดทะเบียนที่69044 ทะเบียนที่ 40965 เอกสารหมาย จ.3 ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีอีกลักษณะหนึ่ง โดยใช้กับสินค้าจำพวกที่ 17 ทั้งจำพวก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2513 ตามคำขอจดทะเบียนที่ 70399 ทะเบียนที่ 41664 เอกสารหมาย จ.4 และต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีอีกลักษณะหนึ่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2531 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวกยกเว้นสีทาบ้าน สีพ่น น้ำมันผสมสี น้ำมันทินเนอร์ หมึก(สำหรับใช้ในการอุตสาหกรรม) ตามคำขอจดทะเบียนที่ 175254ทะเบียนที่ 124839 เอกสารหมาย จ.5 โจทก์ผลิตสินค้าปูนซีเมนต์ออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีตั้งแต่ปี 2513นกจากนี้โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีในรูปลักษณะต่าง ๆ และคำว่านกอินทรี โดยใช้กับสินค้าจำพวกและอื่น ๆตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งมีรูปลักษณะต่าง ๆ กันออกไปแต่ยังคงลักษณะเป็นนกอินทรี สินค้าของโจทก์ที่ผลิตออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีได้แก่ปูนซีเมนต์ และได้มีการโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าการค้ารูปนกอินทรีทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อโฆษณาต่าง ๆ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2534 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนก มีอักษรคำว่า “ตรานกถือเกรียง” อยู่ใต้รูปนกตามเอกสารหมาย จ.21 โดยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ 1 และจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกน้ำยาเคมีใช้ผสมซีเมนต์ซึ่งอยู่ในสินค้าจำพวกที่ 1 หลังจากที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้วโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านโดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากอาจทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าสินค้าที่จำเลยวางจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2535 นายทะเบียนได้วินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โดยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำเนียงเรียกขานและรูปลักษณะต่างกันไม่ทำให้สาธารณชนหลงผิด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้หรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนที่ 212971 เป็นรูปนกในลักษณะประดิษฐ์ในท่ากางปีกหันหน้าไปทางด้านซ้ายโดยมีอักษรไทย คำว่า”ตรานกถือเกรียง” วางอยู่ด้านล่างของรูปนก ทั้งภาพและอักษรอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสสองชั้น ยื่นขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวกที่ 1 รายการสินค้าน้ำยาเคมีใช้ผสมซีเมนต์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 69044 ทะเบียนเลขที่40965 เป็นรูปนกอินทรีกางปีกอยู่ในกรอบวงกลมสองชั้นโดยมีอักษรไทยคำว่า บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงจำกัด และอักษรโรมันคำว่า SIAN CITY CEMENT CO.,LTD. วางอยู่ระหว่างวงกลมชั้นนอกและชั้นในยื่นขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 17 ชนิดสินค้าปูนซีเมนต์ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามคำขอจดทะเบียนเลขทะเบียนที่ 70399 ทะเบียนที่ 41664 เป็นรูปนกอินทรีกางปีกยืนอยู่บนโขดหินอยู่ในกรอบวงกลมสองชั้นโดยมีอักษรไทย คำว่าบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด และอักษรโรมันคำว่าSIAM CITY CEMENT CO.,LTD. วางอยู่ในกรอบวงกลมชั้นนอกและชั้นใน ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนที่175254 ทะเบียนเลขที่ 124839 เป็นรูปนกอินทรีกางปีกยืนอยู่บนโขดหินอยู่ในกรอบวงกลมโดยมีอักษรไทยกับอักษรโรมันเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าสองลักษณะข้างต้น แต่อักษรไทยและอักษรโรมันวางอยู่ในกรอบวงกลมชั้นเดียว นอกจากนี้โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีในลักษณะต่าง ๆ และคำว่านกอินทรีใช้กับสินค้าจำพวกอื่น ๆ ตามเอกสารหมาย จ.9 เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่มีรูปนกนั้นมีลักษณะเป็นรูปนกประดิษฐ์คล้ายรูปนกอินทรี ซึ่งเป็นนกประเภทเดียวกับนกอินทรีของโจทก์โดยรูปนกดังกล่าวเป็นรูปนกในลักษณะกางปีกหงายลำตัวด้านท้องออก หันหัวไปทางด้านซ้าย มีหงอนที่หัวและขาทั้งสองข้างถือเกรียงโบกปูนอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมและมีอักษรไทยกำกับภายใต้รูปนกว่า “ตรานกถือเกรียง” ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะสำคัญเป็นรูปนกอินทรีกางปีกหันข้างและขาทั้งสองข้างมิได้ถือเกรียงโบกปูนและอยู่ภายในกรอบวงกลมโดยมีอักษรไทยคำว่าบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงจำกัด และอักษรโรมันคำว่า SISM CITY CO., LTD.วางอยู่ระหว่างวงกลมชั้นนอกและชั้นใน และในอีกลักษณะหนึ่งวางอยู่ในกรอบวงกลมชั้นเดียว เมื่อได้พิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยแล้วเห็นว่า สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยคือรูปนกอินทรี และเครื่องหมายการค้าของทั้งโจทก์และจำเลยมีลักษณะเด่นคือรูปนกอินทรีที่กางปีกอยู่ในกรอบคล้ายคลึงกันประชาชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานว่าตรานกอินทรี แม้จะมีข้อแตกต่างอยู่บ้างตรงที่รูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปอินทรีหันหน้าไปทางด้านซ้าย หงายลำตัวด้านท้องออกและขาทั้งสองข้างถือเกรียงโบกปูนและมีอักษรไทยคำว่าตรานกถือเกรียงอยู่ใต้รูปนกก็ตาม ก็เป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้นและรูปเกรียงโบกปูนกับอักษรไทยคำว่าตรานกถือเกรียงก็มีขนาดเล็ก ไม่ใช่ลักษณะเด่นไม่เป็นสาระสำคัญแก่การสังเกต ประกอบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ปรากฏข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงให้เป็นเด่นชัดว่าสินค้าน้ำยาเคมีใช้ผสมซีเมนต์นั้นเป็นของจำเลย ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าขึ้นมาเองโดยมิได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยอ้างว่ามีแรงจูงใจจากปานแดงซึ่งมีลักษณะคล้ายนกซึ่งติดตัวมาแต่กำเนินก็เป็นคำเบิกความลอย ๆและไม่มีเหตุผลอันควรแก่การรับฟัง และจำเลยขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าน้ำยาเคมีผสมซีเมนต์ แม้จะเป็นสินค้าในจำพวกที่ 1 ต่างกับสินค้าปูนซีเมนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นสินค้าในจำพวกที่ 17 แต่ก็เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าปูนซีเมนต์ของโจทก์ และโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีกับสินค้าจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวกยกเว้นสีทาบ้าน สีพ่น น้ำมันผสมสี น้ำมันทินเนอร์ หมึก (สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม) ไว้แล้วด้วย นอกจากนี้โจทก์ได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีนี้ตั้งแต่ปี 2513 และได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป จำเลยเพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยหลังจากที่โจทก์ได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์20 ปี และตามที่โจทก์นำสืบประกอบเอกสารหมาย จ.16 ก็ปรากฏว่าจำเลยเคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีหันข้างและกางปีกเช่นเดียวกับรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนตามคำขอของจำเลยและจำเลยเคยใช้เครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีหันข้างและกางปีกเช่นเดียวกับรูปนกอินทรีของโจทก์กับสินค้าของจำเลยและถูกฟ้องในข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าและถูกศาลลงโทษไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้ความอีกว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในรูปของมงกุฎรูปเพชรและรูปสิงโต ใช้กับสินค้าปูนซีเมนต์ของโจทก์ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยในรูปของเพชรมีปีก มงกุฎมีปีก และสิงโตคู่เหยียบลูกโลก ใช้กับสินค้าน้ำยาเคมีใช้ผสมปูนซีเมนต์ของจำเลยซึ่งเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับของโจทก์เป็นคู่ ๆโดยมุ่งหมายที่จะอาศัยแอบอ้างชื่อเสียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ศาลชอบที่จะเพิกถอนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ บังคับคดี ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น