แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วจึงถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่บอกเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแทนการบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญากรณีไม่อาจบังคับให้โจทก์ชำระค่าปรับได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าปรับในการทำงานเกินกำหนดจากจำนวนเงินที่จำเลยยังค้างชำระต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2543 จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโกดังในที่ดินโฉนดเลขที่ 8846 ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในราคาค่าจ้าง 308,000 บาท ตกลงแบ่งชำระ 3 งวด กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 45 วัน ในการว่าจ้างจำเลยมอบอำนาจให้นางอารีย์ เป็นตัวแทนในการตรวจงานก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้างจำเลยสั่งให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมคิดเป็นเงิน 44,000 บาท โดยขยายระยะเวลาทำงานออกไปถึงเดือนมษายน 2543 และจำเลยขอยืมวัสดุก่อสร้างไปจากโจทก์คิดเป็นเงิน 1,156 บาท ต่อมาจำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์บางส่วนตามงวดเป็นเงิน 227,500 บาท โดยโจทก์ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาและตามที่จำเลยสั่งงานเพิ่มเติมเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2543 คงเหลือเฉพาะการติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ซึ่งต้องรอให้จำเลยว่าจ้างผู้อื่นปูกระเบื้องห้องน้ำเสร็จก่อนจึงดำเนินการต่อได้ แต่จำเลยกลับไม่ให้โจทก์เข้าทำต่อและจำเลยอ้างว่าโจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา และไม่ยอมชำระค่าจ้างที่ค้างชำระเงินจำนวน 125,656 บาท โจทก์บอกกล่าวทวงถามจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 125,656 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2543 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,110 บาท รวมเป็นเงิน 134,766 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 125,656 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 71,156 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จากคำเบิกความของโจทก์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยดังกล่าวเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของตัวจำเลย นายสัมฤทธิ์และนายวันชัยว่า โจทก์ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบก่อสร้าง และการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จอีกหลายรายการโดยมีภาพถ่ายมาแสดง ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้สั่งให้แก้ไข เช่น จากเสาคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นเสาเหล็กกลวง การก่ออิฐเปลี่ยนเป็นยิบซั่ม ก็มีแต่คำเบิกความของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีเอกสารสนับสนุน และเป็นการผิดปกติวิสัยของวิญญูชนที่จะเปลี่ยนการก่อสร้างจากวัสดุที่แข็งแรงและมีราคาแพงกว่ามาเป็นวัสดุที่ไม่แข็งแรงและมีราคาถูกกว่าโดยไม่มีการลดราคาค่าก่อสร้าง ทั้งเป็นการผิดแบบก่อสร้างอย่างชัดแจ้งจนต้องถูกองค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียงระงับการก่อสร้าง ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ก่อสร้างตามแบบก่อสร้างทุกประการ เมื่อก่อสร้างเสร็จบางรายการนางอารีย์ได้ลงนามไว้ในแบบก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2 และตามใบรายงานขั้นตอนการก่อสร้างเอกสารหมาย จ.5 ก็ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 แต่เพียงว่ามีคำว่าตรวจแล้วในแต่ละหน้าเท่านั้น โดยไม่มีคำว่าก่อสร้างครบถ้วนสมบูรณ์ตามแบบหรือไม่ แม้ในหน้าที่ 2 จะมีข้อความว่า ประตูม้วน 3 บาน จะใส่เองโดยตัดยอดเงินจากคุณปรีชารวม 3 บาน เป็นเงิน 19,500 บาท จะหักเงินงวดสุดท้ายแต่ก็มีความชัดเจนแต่เพียงว่าการก่อสร้างอาจไม่รวมประตู 3 บานนี้เท่านั้น ส่วนรายการอื่นที่ยังไม่แล้วเสร็จไม่มีการระบุไว้ ส่วนเอกสารหมาย จ.5 มี 4 รายการ ที่ระบุว่าทำถูกต้อง คือ งานตอกเสาเข็ม งานระบบฐานรากและคานคอดิน งานเทพื้น ค.ส.ล.รอบนอกพื้นที่อาคารและงานโครงหลังคา เท่านั้น ส่วนรายการอื่นๆ ตามแบบก่อสร้างไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกไว้ ส่วนเรื่องค่าปรับโจทก์เบิกความยอมรับว่า หากก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาโจทก์ยอมให้ปรับวันละ 3,000 บาท สอดคล้องกับบันทึกข้อความในตอนท้ายของสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.2 ทั้งในบันทึกส่วนนี้ระบุข้อความให้เข้าใจได้ว่า ให้มีการขยายเวลาส่งมอบงานให้เรียบร้อยถึงวันที่ 1 เมษายน 2543 แต่โจทก์มิได้ดำเนินการใดๆ หลังจากนี้จำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.6 แจ้งให้โจทก์ทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หากพ้นกำหนดแล้วโจทก์ยังไม่สามารถส่งมอบงานได้ให้ถือเอาหนังสือฉบับนี้เป็นการบอกเลิกสัญญา แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับในวันใด คงมีแต่ใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษว่า นำจ่ายให้ผู้รับภายในวันที่ 25 เมษายน 2543 ถือได้ว่าโจทก์ได้รับในวันดังกล่าวแต่โจทก์เพิกเฉย พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ก่อสร้างโกดังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา แต่เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วจึงถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2543 เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ส่วนการงานอันได้กระทำให้ก็ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ ซึ่งโจทก์นำสืบว่า จำเลยยังค้างชำระค้าจ้าง 80,500 บาท ค่าก่อสร้างเพิ่มเติม 44,000 บาท ค่าวัสดุที่จำเลยยืมไปใช้ในงานส่วนตัว 1,156 บาท รวมเป็นเงิน 125,656 บาท ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ส่วนจำเลยได้ทำรายการตามเอกสารหมาย ล.7 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2543 หักเงินงวดสุดท้ายที่โจทก์ยังทำงานไม่แล้วเสร็จเป็นเงิน 82,134 บาท ค่าปรับในการทำงานเกิน 10 วัน เป็นเงิน 30,000 บาท ถนนเข้าออกยังไม่เสร็จแต่จำเลยจ่ายเงินไปแล้ว 8,000 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องหักในงวดสุดท้าย 120,134 บาท แม้โจทก์จะฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้ทำเอกสารหมาย ล.7 แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้รู้เห็นด้วย แต่โจทก์ก็มิได้คัดค้านว่ารายการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จและจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้อง ทั้งจำเลยเป็นฝ่ายนำสืบเอกสารนี้ในชั้นพิจารณาโดยชอบแต่โจทก์มิได้ถามค้านในเรื่องรายการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จให้เห็นเป็นอย่างอื่น จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินเฉพาะรายการที่โจทก์ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จออกไปเท่านั้น ส่วนค่าปรับนั้นเมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแทนการบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา กรณีไม่อาจบังคับให้โจทก์ชำระค่าปรับได้ โดยจำเลยมีสิทธิหักเงินค่าก่อสร้างได้ 90,134 บาท จากจำนวนเงินที่จำเลยยังค้างชำระต่อโจทก์ จำเลยจึงยังคงต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ 35,522 บาท เมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินและโจทก์มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 ตามใบตอบไปรษณีย์ แต่ไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2543 เป็นต้นไป ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 35,522 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์