แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 บัญญัติถึงสิทธิเลิกสัญญาของคู่สัญญาว่าอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ เกิดจากข้อสัญญาหรือเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งใช้บังคับได้แก่สัญญาทุกประเภทรวมถึงสัญญาซื้อขาย
แม้ตามสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะได้โอนไปเป็นของผู้ซื้อโดยผลแห่งสัญญาแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังมีภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาแล้วไม่ปฏิบัติ ย่อมถือเป็นการผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
สัญญาซื้อขายมิได้ระบุถึงข้อตกลงในการเลิกสัญญาไว้ และตามข้อความในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาประสงค์จะไม่ให้มีการบอกเลิกสัญญาต่อกันในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น สิทธิบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคือมาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายในงวดแรกและงวดที่สองโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 15 วัน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนดให้ โจทก์จึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ซื้อขายได้โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่
ผลของการเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 คือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยในกรณีคืนเงินให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ ส่วนในกรณีที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ให้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ นอกจากนี้มาตราดังกล่าวยังได้บัญญัติรับรองถึงการใช้สิทธิเลิกสัญญาว่าไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบเครื่องจักรตามสัญญาซื้อขายคืนแก่โจทก์ และต้องชดใช้ค่าที่ได้ใช้สอยเครื่องจักรดังกล่าวในขณะที่ตนได้ครอบครองอยู่จนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ รวมทั้งต้องชำระค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของเครื่องจักรด้วย ส่วนโจทก์ก็ต้องคืนเงินค่าเครื่องจักรและเงินดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจำนวนนั้นไว้
เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ตามคำพิพากษาที่จะต้องส่งมอบเครื่องจักรแก่โจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเข้าไปรื้อถอนเครื่องจักรและขนส่งเครื่องจักรไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ด้วยตนเองได้ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมส่งมอบเครื่องจักร โจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการบังคับตามกฎหมายหรือเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาเครื่องจักรแก่ตน ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดให้อำนาจแก่โจทก์ในการเข้าไปรื้อถอนและขนส่งเครื่องจักรแทนจำเลยทั้งสามด้วยตนเองโดยขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามให้ออกค่าใช้จ่าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามส่งคืนเครื่องจักรที่ซื้อขายแก่โจทก์ในสภาพที่สมบูรณ์และใช้งานได้ดี และให้จำเลยทั้งสามชำระค่าใช้เครื่องจักร ค่ารื้อถอนและค่าขนส่งเครื่องจักรที่ซื้อขายกลับคืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถส่งมอบเครื่องจักรคืนในสภาพที่สมบูรณ์และใช้งานได้ดี ให้จำเลยทั้งสามใช้ราคาเครื่องจักรพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบเครื่องจักรตามคำฟ้องคืนแก่โจทก์ในสภาพที่ใช้การได้ดี และชำระเงินจำนวน 201,102,794 เยน กับค่าใช้ทรัพย์เดือนละ 2,400,000 เยน นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป และค่าเสื่อมราคาปีละ 21,296,000 เยน นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ แต่สำหรับค่าเสื่อมราคาให้คิดได้ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันส่งมอบ หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถส่งมอบเครื่องจักรคืนในสภาพที่ใช้การได้ดีได้ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 191,664,400 เยน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2542 และในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องจักรจำนวนหลายรายการจากนายโนบูฮิโร ทากาโนะ ผู้แทนผู้ขายเพื่อใช้ในกิจการทอผ้าของจำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขการซื้อขายแบบซีไอเอฟ ในราคา 212,960,000 เยน จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระราคาสินค้าครั้งแรกจำนวนร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้าทุกครั้งที่มีการส่งมอบสินค้า ส่วนราคาสินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 90 ตกลงแบ่งชำระเป็น 10 งวด เท่า ๆ กัน งวดแรกจะชำระภายในกำหนด 18 เดือน นับจากวันที่ระบุในใบตราส่ง ส่วนอีก 9 งวด จะชำระทุก 6 เดือน หลังจากวันชำระเงินงวดแรก และตกลงชำระดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินคงค้างในอัตราร้อยละ 1.85 ต่อปี บวกอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสกุลเงินเยนของธนาคารแห่งโตเกียว สำนักงานฮ่องกง ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ณ ตลาดลอนดอน (LIBOR) โดยจำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายค่าสินค้าและดอกเบี้ยเป็นเงินเยน งวดแรกมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยภายใน 6 เดือน นับจากวันส่งสินค้า และงวดต่อ ๆ ไปทุกครึ่งปีจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินค่าสินค้าครบถ้วน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินจำนวนร้อยละ 10 ของราคาสินค้าจำนวน 21,296,000 เยน ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 แต่เมื่อครบกำหนด 18 เดือน ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าสินค้าที่เหลืองวดแรก จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ คงชำระเฉพาะดอกเบี้ยของต้นเงินที่ค้างชำระจำนวน 2,730,000 เยน ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระค่าสินค้างวดที่สองในวันที่ 4 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าสินค้างวดที่สองอีกคงชำระเฉพาะดอกเบี้ยของต้นเงินค่าสินค้าที่ค้างชำระบางส่วนจำนวน 1,302,526 เยน ผู้ขายได้บอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ที่ค้างชำระ แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ผู้ขายจึงมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ที่ค้างชำระจำนวน 191,664,000 เยน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถาม หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ผู้ขายก็ถือว่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามนั้นเป็นการบอกเลิกสัญญาซื้อขาย และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเครื่องจักรที่ซื้อขายคืนผู้ขายทันที จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่เมื่อครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 28 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ยังคงเพิกเฉย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์มีข้อความทำนองเดียวกันว่าการซื้อขายเครื่องจักรตามสัญญาซื้อขายตามคำฟ้องเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ซื้อขายได้โอนไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว และตามข้อตกลงที่ปรากฏในสัญญาซื้อขายมีใจความว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาอย่างชัดแจ้งว่า คู่สัญญาประสงค์จะบังคับชำระหนี้ที่ค้างชำระ โดยไม่ประสงค์บังคับเอาแก่ตัวทรัพย์ที่ซื้อขายกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 บัญญัติถึงสิทธิเลิกสัญญาของคู่สัญญาว่าอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือเกิดจากข้อสัญญาหรือเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับได้แก่สัญญาทุกประเภทรวมถึงสัญญาซื้อขายสำหรับสัญญาซื้อขายกรณีนี้ แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะได้โอนไปเป็นของผู้ซื้อโดยผลแห่งสัญญาแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังมีภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาแล้วไม่ปฏิบัติ ย่อมถือเป็นการผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตามสัญญาซื้อขายมิได้ระบุถึงข้อตกลงในการเลิกสัญญาไว้ และตามข้อความในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาประสงค์จะไม่ให้มีการบอกเลิกสัญญาต่อกันในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น สิทธิบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ คดีนี้จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาในงวดแรกและงวดที่สอง โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 15 วัน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนดให้ โจทก์จึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ซื้อขายได้โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และผลของการเลิกสัญญาก็ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 คือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยในกรณีคืนเงินให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ ส่วนในกรณีที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ให้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ นอกจากนี้มาตราดังกล่าวยังได้บัญญัติรับรองถึงการใช้สิทธิเลิกสัญญาว่าไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบเครื่องจักรตามสัญญาซื้อขายคืนแก่โจทก์ และต้องชดใช้เงินค่าที่ได้ใช้สอยเครื่องจักรดังกล่าวในขณะที่ตนได้ครอบครองอยู่จนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ รวมทั้งต้องชำระค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของเครื่องจักรด้วย ส่วนโจทก์ก็ต้องคืนเงินค่าเครื่องจักรและเงินดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจำนวนนั้นไว้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้คิดดอกเบี้ยจากเงินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ เนื่องจากคู่สัญญามิได้มีข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ต้องคืนเงินแก่กันไว้ จึงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงินจำนวนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าเครื่องจักรจำนวน 21,296,000 เยน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 ชำระดอกเบี้ยจำนวน 2,730,680 เยน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2539 และชำระดอกเบี้ยจำนวน 1,302,526 เยน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540 ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงต้องเสียดอกเบี้ยในเงินทั้งสามจำนวนดังกล่าวนับแต่วันได้รับเงินแต่ละจำนวนให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อคำนวณต้นเงินกับดอกเบี้ยของเงินทั้งสามจำนวนดังกล่าวจนถึงวันที่สัญญาเลิกกัน คือวันที่ 28 สิงหาคม 2542 แล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 33,415,779.74 เยน สำหรับการที่จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์นั้นตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่ารื้อถอนเครื่องจักรและค่าขนส่งเครื่องจักรจำนวน 1,000,000 เยน ให้แก่โจทก์นั้นพอตีความได้ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบเครื่องจักรคืนโจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์โต้เถียงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่ารื้อถอนและค่าขนส่งเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ กรณีจึงต้องฟังว่าหนี้การคืนเครื่องจักรเกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษา และคำพิพากษาได้กำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบเครื่องจักรคืนโจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ ปัญหาว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่ารื้อถอนและค่าขนส่งเครื่องจักรจำนวน 1,000,000 เยน เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ตามคำพิพากษาที่จะต้องส่งมอบเครื่องจักรแก่โจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเข้าไปรื้อถอนเครื่องจักรและขนส่งเครื่องจักรไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ด้วยตนเองได้ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมส่งมอบเครื่องจักร โจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการบังคับตามกฎหมายหรือเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาเครื่องจักรแก่ตน ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดให้อำนาจแก่โจทก์ในการเข้าไปรื้อถอนและขนส่งเครื่องจักรแทนจำเลยทั้งสามด้วยตนเองโดยขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามให้ออกค่าใช้จ่าย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่ารื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรจำนวน 1,000,000 เยน ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบเครื่องจักรตามฟ้องในสภาพใช้การได้ดีคืนโจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบได้ก็ให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน 120,000,000 เยน แทน และร่วมกันชำระเงินจำนวน 159,616,220.26 เยน กับค่าใช้เครื่องจักรเดือนละ 1,800,000 เยน นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2542 จนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรตามฟ้องคืนโจทก์หรือชำระเงินแทนดังกล่าว