แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์แจ้งย้ายที่อยู่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินไปส่งให้แก่โจทก์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2538 จึงเป็นวันที่โจทก์ย้ายออกจากที่อยู่เดิมแล้วจึงเชื่อว่าโจทก์มิได้รับหนังสือดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องการย้ายที่อยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ เป็นหน้าที่ของฝ่ายจำเลยที่จะต้องตรวจหาที่อยู่ของโจทก์เอง เมื่อยังถือไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่
เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 3 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวคือ ภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2542 แต่เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ โจทก์จึงสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลวันที่ 24 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการวันแรกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6389 เลขที่ดิน 476 ตำบลถนนเพชรบุรี (ประแจจีน) อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 9 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 573,750 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 540,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ขอเชิญไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยชอบแล้วมิได้มาทำสัญญารับเงินค่าทดแทนที่ดิน จำเลยที่ 1 จึงนำเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไปวางไว้กับธนาคารออมสิน โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อจำเลยที่ 3 เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ นอกจากนั้นหากจะฟังว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย โจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 540,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6389 ตำบลถนนเพชรบุรี (ประแจจีน) อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 9 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ อันเนื่องจากการดำเนินการของฝ่ายจำเลยตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตคลองเตย เขตประเวศ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2534 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในอัตราตารางวาละ 60,000 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนด 60 วัน ตามกฎหมายจึงไม่รับไว้พิจารณา โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อแรกมีว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายและนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 2 ระบุชัดว่าโจทก์ได้แจ้งย้ายที่อยู่จากบ้านเลขที่ 382 ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 164/5 ถนนเทพโยธี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2536 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำส่งเอกสารหมาย ล.1 ไปส่งให้แก่โจทก์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2538 ที่บ้านเลขที่ 382 ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นวันที่โจทก์ย้ายออกจากบ้านดังกล่าวแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบลายมือชื่อที่ลงชื่อรับเอกสารดังกล่าวว่าเป็นตัวโจทก์ก็ไม่เหมือนกับลายมือชื่อโจทก์ที่ลงในใบแต่งทนายความ ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และในคำเบิกความของโจทก์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 พยานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 เชื่อว่าโจทก์มิได้รับหนังสือดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องแจ้งเรื่องการย้ายที่อยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ เมื่อไม่แจ้งจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ส่งเอกสารหมาย ล.1 ให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว เห็นว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายจำเลยที่จะต้องตรวจหาที่อยู่ของโจทก์เอง มิใช่หน้าที่ของโจทก์จะต้องแจ้งให้ฝ่ายจำเลยทราบจึงต้องถือว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนยังมิได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามกฎหมาย ดังนั้น จึงถือมิได้ว่าโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ แต่ต้องถือว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่งแล้ว ซึ่งตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้จำเลยที่ 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2541 คือวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2542 แต่เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ โจทก์จึงสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลวันที่ 24 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการวันแรกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน