คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3953/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ จ. ลงนามในสัญญาจ้างแรงงานในฐานะรองกรรมการผู้จัดการของบริษัทลูกหนี้ แม้จะไม่มีอำนาจกระทำแทนบริษัท แต่เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ได้ยอมรับเอาผลงานที่เจ้าหนี้ทำให้และลูกหนี้ได้จ่ายค่าจ้างนับแต่เจ้าหนี้เริ่มทำงานตลอดมาจนเลิกจ้าง เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน โดยไม่ได้โต้แย้งถือว่าลูกหนี้ตัวการได้ให้สัตยาบันยอมรับโดยปริยายว่าเจ้าหนี้เป็นลูกจ้างของลูกหนี้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ลูกหนี้จะต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงาน
สัญญาจ้างไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนทั้งลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้ก่อนครบกำหนดสัญญา ซึ่งในการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้ เมื่อการบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ระบุเหตุผลในการบอกเลิกการจ้าง ถือได้ว่าลูกหนี้ไม่ติดใจหยิบยกสาเหตุใด ๆ มาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง เมื่อเจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ ลูกหนี้จะยกเหตุว่าเจ้าหนี้ได้ละทิ้งงานโดยไม่มีการลาเป็นลายลักษณ์อักษรและเจ้าหนี้ได้ร่วมกับบุคคลอื่นกระทำการฉ้อฉลกับกระทำการโดยทุจริตอันเป็นเหตุให้ลูกหนี้เสียหาย มาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายไม่ได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งบริษัท ม. เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้เกี่ยวกับค่าจ้างส่วนที่เหลือตามสัญญาจ้างแรงงาน ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินจำนวน 17,922,452.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 15,862,500 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้ว ผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มตามคำขอรับชำระหนี้
ผู้ทำแผนคนใหม่ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งแก้คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวน 15,187,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจากลูกหนี้
ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 หาได้บัญญัติว่าสัญญาจ้างแรงงานจะต้องทำเป็นหนังสือประการใดไม่เพียงแต่ตกลงจ้างและตกลงให้สินจ้างกัน สัญญาจ้างแรงงานย่อมเกิดแล้ว ดังนั้น การที่นายจอห์นลงนามในสัญญาจ้างแรงงานในฐานะรองกรรมการผู้จัดการแม้จะไม่มีอำนาจกระทำแทนบริษัทแต่เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ได้ยอมรับเอาผลงานที่เจ้าหนี้ทำให้และลูกหนี้ได้จ่ายค่าจ้างนับแต่เจ้าหนี้เริ่มทำงานตลอดมาจนเลิกจ้างเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน โดยไม่ได้โต้แย้งถือว่าลูกหนี้ตัวการได้ให้สัตยาบันยอมรับโดยปริยายว่าเจ้าหนี้เป็นลูกจ้างของลูกหนี้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ลูกหนี้จะต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงาน และอัตราค่าจ้างไม่เป็นการเอาเปรียบลูกหนี้ อุทธรณ์ของผู้บริหารแผนข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้บริหารแผนในประการต่อไปว่า ลูกหนี้มีอำนาจเลิกจ้างเจ้าหนี้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ หรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 วรรคสาม นั้น จะต้องเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาเอาไว้แน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลงและจะต้องเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นด้วย ประกอบกับกฎหมายเรื่องค่าชดเชยเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนคู่สัญญาไม่อาจตกลงเป็นประการอื่นได้ เมื่อสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 4 เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงว่า “เฉพาะผู้จัดการทั่วไปหรือผู้จัดการโครงการของ NSM (ลูกหนี้) เท่านั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ก่อนครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ดังกล่าว NSM ตกลงจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างสำหรับระยะเวลาการจ้างส่วนที่เหลือ ผู้จัดการทั่วไปหรือผู้จัดการโครงการของ NSM สงวนสิทธิในการบอกเลิกสัญญาได้ทุกเวลาโดยความเห็นของผู้จัดการฝ่ายพาณิชย์และการวางแผนธุรกิจ หากปรากฏว่าลูกจ้างไม่ได้แสดงความสามารถหรือใช้ความชำนาญทางเทคนิคหรือทางธุรกิจในการปฏิบัติงานนี้ หากลูกจ้างถูกปลดออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด NSM จะจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างสำหรับระยะเวลาส่วนที่เหลือของปีที่ปลดออกจากงาน ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 90 วัน หากจะมีการเลิกสัญญาหรือหากลูกจ้างจะลาออก NSM จะไม่จ่ายค่าปรับหรือเงินอื่นใดให้แก่ลูกจ้างหากลูกจ้างบอกเลิกสัญญาหรือลาออก” สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ทั้งลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้ก่อนครบกำหนดสัญญา ซึ่งในการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้นั้น เมื่อการบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ระบุเหตุผลในการบอกเลิกการจ้างถือได้ว่าลูกหนี้ไม่ติดใจหยิบยกสาเหตุใด ๆ มาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ ลูกหนี้จะยกเหตุว่าเจ้าหนี้ได้ละทิ้งงานโดยไม่มีการลาเป็นลายลักษณ์อักษร และเจ้าหนี้ได้ร่วมกับบุคคลอื่นกระทำการฉ้อฉลกับกระทำการโดยทุจริตอันเป็นเหตุให้ลูกหนี้เสียหาย มาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายไม่ได้ อุทธรณ์ของผู้บริหารแผนข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
เมื่อเจ้าหนี้ทำงานกับลูกหนี้คิดถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2541 ตามใบจ่ายเงินเดือนเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน เจ้าหนี้จะได้รับค่าชดเชยในกรณีถูกเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 (2) “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย” จึงได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 937,500.30 บาท และค่าเสียหายเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ลูกหนี้ตกลงจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างสำหรับระยะเวลาการจ้างส่วนที่เหลือ เป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน รวมเป็นเงิน 6,562,502.10 บาท สำหรับสินจ้างแทนการบอกล่วงหน้าเป็นเงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 บัญญัติให้คู่สัญญาฝ่ายที่บอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต้องรับผิดจ่ายแก่อีกฝ่ายหนึ่ง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่เงินค่าชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงาน เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ลูกหนี้จะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 90 วัน เป็นเงิน 937,500.30 บาท
สำหรับสิทธิในการได้รับชำระดอกเบี้ยตามคำขอรับชำระหนี้นั้น เมื่อลูกหนี้ยังมิได้จ่ายค่าชดเชย ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างแล้วโดยไม่จำต้องมีการทวงถามก่อน เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง ส่วนดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายอื่น มิใช่หนี้เงินที่กฎหมายกำหนดให้จ่ายทันทีที่เลิกจ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้มีการทวงถามก่อนเห็นควรกำหนดดอกเบี้ยให้นับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไป ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้บริหารแผนฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าชดเชยจำนวน 937,500.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และได้รับชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายอื่นจำนวนรวม 7,500,002.40 บาท พร้อมด้วยเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share