แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 กับเพื่อนได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์เพื่อใช้เป็นทุนในการเปิดคลินิกทันตแพทย์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ต่อสู้คดีเพราะเห็นว่าเป็นหนี้โจทก์จริง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ติดต่อชำระหนี้แก่โจทก์อีกหลายครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย จำเลยที่ 1 ก็ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์อีกเพื่อขอผ่อนชำระหนี้ ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ได้ทำงานประจำที่คลินิกทันตกรรม มีรายได้ประมาณไม่ต่ำกว่าเดือนละ 60,000 บาท กรณีเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์มาเพื่อลงทุนในการประกอบอาชีพโดยสุจริต แม้ไม่ประสบความสำเร็จก็ยังพยายามติดต่อขวนขวายชำระหนี้แก่โจทก์เรื่อยมา การกระทำดังกล่าวย่อมแสดงถึงความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในภาระหนี้ที่มีต่อโจทก์ เมื่อพิจารณาถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบอาชีพทันตแพทย์และมีรายได้ในการประกอบอาชีพที่แน่นอน ประกอบกับความพยายามโดยสุจริตในการที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้บุคคลอื่นอีก จำเลยที่ 1 ยังอยู่ในวิสัยที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงถือเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้คืนบางส่วนแล้ว นอกจากนี้ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพทันตแพทย์มีรายได้เพียงพอจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้จำเลยจึงไม่ควรถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยที่ 2 ไม่ให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายหรือไม่ จำเลยที่ 1 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจริง โดยจำเลยที่ 1 กับเพื่อนได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์เพื่อใช้เป็นทุนในการเปิดคลินิกทันตแพทย์ส่วนตัว แต่เนื่องจากคลินิกทันตแพทย์ของจำเลยที่ 1 ไม่ประสบความสำเร็จจึงต้องปิดกิจการในเวลาต่อมา การกู้ยืมในระยะแรกจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เจ้าหน้าที่ของโจทก์แจ้งว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัด จะต้องชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นภายในคราวเดียวและเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ต่อสู้คดี เพราะเห็นว่าเป็นหนี้โจทก์จริง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังติดต่อชำระหนี้แก่โจทก์อีกหลายครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์อีกเพื่อขอผ่อนชำระหนี้ เจ้าหน้าที่ของโจทก์แจ้งว่าไม่สามารถให้ผ่อนชำระหนี้ได้เพราะมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายฟ้องคดีล้มละลายแล้ว ถ้าหากว่าจะให้คดียุติจะต้องชำระหนี้ทั้งหมดทีเดียว และขณะนี้จำเลยที่ 1 ได้ทำงานประจำที่คลินิกทันตกรรมชื่อบ้านหมอฟัน มีรายได้ประมาณไม่ต่ำกว่าเดือนละ 60,000 บาท กรณีจึงเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์มาเพื่อเป็นเงินลงทุนในการประกอบอาชีพโดยสุจริตและเมื่ออาชีพดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ จำเลยที่ 1 ก็พยายามติดต่อขวนขวายชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยติดต่อขอผ่อนชำระหนี้เรื่อยมา การกระทำดังกล่าวย่อมแสดงถึงความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในภาระหนี้ที่มีต่อโจทก์ มิใช่จำเลยที่ 1 ไม่สนใจละเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าโจทก์ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดเสียทีเดียว จึงเป็นเหตุให้มิได้มีการผ่อนชำระหนี้ในเวลาต่อไป เมื่อพิจารณาถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบอาชีพและมีรายได้ในการประกอบอาชีพที่แน่นอน ประกอบกับความพยายามโดยสุจริตในการที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้บุคคลอื่นอีก จำเลยที่ 1 ยังอยู่ในวิสัยที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงถือเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย”
พิพากษายืน