คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4164/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อสัญญาจ้างว่าความที่ตกลงให้ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างส่วนที่ 2 อีกร้อยละ 10 ของยอดหนี้ทุนทรัพย์ที่ฟ้องและจากทุกจำนวนที่ผู้รับจ้างได้ดำเนินการจนผู้ว่าจ้างได้รับชำระหนี้ เป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาในการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าทนายความในส่วนที่ 2 ตามเจตนาของคู่สัญญา โดยกำหนดหน้าที่ของผู้รับจ้างที่จะต้องดำเนินการให้ผู้ว่าจ้างได้รับชำระหนี้ก่อน จึงจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 10 จากจำนวนเงินที่ผู้ว่าจ้างได้รับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนทรัพย์ที่ฟ้องแต่ละคดี ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ทนายความฯ และประกาศข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ทั้งไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 21,212,203.08 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้รายละเอียดตามบัญชีท้ายคำรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 แล้ว ผู้ชำระบัญชีของลูกหนี้โต้แย้งว่า ข้อตกลงว่าจ้างเจ้าหนี้เป็นทนายความไม่มีลายมือชื่อของผู้แทนลูกหนี้เซ็นรับทราบสัญญา ขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ลูกหนี้กับเจ้าหนี้ตกลงกันด้วยวาจาให้เจ้าหนี้ดำเนินคดีต่าง ๆ ให้ เมื่อเจ้าหนี้ดำเนินการแล้วก็มีหนังสือแจ้งค่าทนายความและค่าใช้จ่ายตลอดมา และลูกหนี้ชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายบางส่วนให้แก่เจ้าหนี้แล้ว จึงเป็นการยอมรับข้อตกลงในสัญญาค่าทนายความที่กำหนดไว้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่เป็นเงิน 70,000 บาท เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับค่าทนายความที่ค้างชำระอยู่นี้ สำหรับค่าทนายความส่วนที่ 2 นั้น เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการในคดีต่าง ๆ จนถึงขั้นตอนการบังคับคดีตามพิพากษาด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ดำเนินการบังคับคดีในคดีดังกล่าว ลูกหนี้จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าทนายความในส่วนที่ 2 เมื่อรวมค่าทนายความที่ค้างชำระในส่วนที่ 1 กับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เจ้าหนี้ทดรองจ่ายแทนลูกหนี้ไปแล้วเป็นเงินเพียง 212,320 บาท เจ้าหนี้ขอมา 21,212,203.08 บาท จึงขอมามากไป 20,999,883.08 บาท เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายจำนวน 212,320 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130 (7) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งฟังเป็นยุติว่า ลูกหนี้ว่าจ้างเจ้าหนี้ให้ดำเนินคดีหลายคดี ลูกหนี้ชำระค่าจ้างและค่าใช้จ่ายบางส่วนให้แก่เจ้าหนี้ โดยลูกหนี้ยังมิได้ชำระค่าจ้างในส่วนที่ 2 ซึ่งตกลงกันว่าลูกหนี้จะชำระค่าจ้างนอกเหนือจากส่วนที่ 1 ให้แก่เจ้าหนี้อีกในอัตราร้อยละ 10 ของยอดหนี้ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยจากทุกจำนวนที่ลูกหนี้ได้รับชำระหนี้ ไม่ว่าจะได้มาโดยวิธีใดและจำนวนเท่าใดภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ลูกหนี้ยังมิได้ชำระหนี้ค่าจ้างในส่วนที่ 2 ของคดีหมายเลขแดงที่ 758/2540 ของศาลแพ่ง จำนวน 1,145,218.89 บาท คดีหมายเลขแดงที่ 15206/2538 ของศาลแพ่ง จำนวน 349,823.29 บาท คดีหมายเลขแดงที่ 2573/2541 ของศาลแพ่ง จำนวน 8,621,746.24 บาท คดีหมายเลขแดงที่ 1171/2538 ของศาลจังหวัดภูเก็ต จำนวน 2,461,641.79 บาท คดีหมายเลขแดงที่ 6988/2540 ของศาลแพ่ง จำนวน 3,204,520.54 บาท คดีหมายเลขแดงที่ 7085/2540 ของศาลแพ่ง จำนวน 2,563,616.43 บาท คดีหมายเลขแดงที่ 14202/2541 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำนวน 1,586,507.40 บาท และคดีหมายเลขแดงที่ 16808/2540 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำนวน 381,618.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,314,693.08 บาท ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในค่าจ้างส่วนที่ 2 ตกลงให้ค่าจ้างร้อยละ 10 ของยอดหนี้ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยจากทุกจำนวนที่ลูกหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ข้อสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่ตกลงให้ลูกหนี้ชำระค่าจ้างส่วนที่ 2 อีกร้อยละ 10 ของยอดหนี้ทุนทรัพย์ที่ฟ้องและจากทุกจำนวนที่เจ้าหนี้ได้ดำเนินการจนลูกหนี้ได้รับชำระหนี้ เป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาในการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าทนายความในส่วนที่ 2 ตามเจตนาของคู่สัญญา โดยกำหนดหน้าที่ของเจ้าหนี้ที่จะต้องดำเนินการให้ลูกหนี้ได้รับชำระหนี้ก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 10 จากจำนวนเงินที่ลูกหนี้ได้รับชำระหนี้ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนทรัพย์ที่ฟ้องแต่ละคดี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 และประกาศข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ทั้งไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ข้อสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ ฎีกาของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ในประการต่อไปมีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ข้อตกลงค่าทนายความในส่วนที่ 2 ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ตามข้อตกลงค่าทนายความเอกสารหมาย จ.5 จ.11 จ.18 จ.24 จ.28 จ.31 จ.34 และ จ.36 ที่ตกลงว่า ลูกหนี้จะชำระค่าทนายความส่วนที่ 2 ให้แก่เจ้าหนี้อีกในอัตราร้อยละ 10 ของยอดหนี้ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยจากทุกจำนวนที่ลูกหนี้ได้รับชำระหนี้ ไม่ว่าจะได้รับมาโดยวิธีใดและจำนวนเท่าใดภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว โดยเจ้าหนี้จะดำเนินการบังคับคดีให้ลูกหนี้ด้วย เป็นการตกลงโดยชัดแจ้งแล้วว่าสิทธิในการได้รับชำระหนี้ค่าทนายความส่วนที่ 2 ในอัตราร้อยละ 10 ของยอดหนี้ตามฟ้องของเจ้าหนี้มีเงื่อนไขการชำระหนี้ว่าให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัดส่วนจากจำนวนเงินที่ลูกหนี้ได้รับชำระหนี้แล้วไม่ว่าโดยวิธีใดจากการดำเนินคดีของเจ้าหนี้ตามสัญญาว่าจ้าง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีตามข้อตกลงแล้ว มูลหนี้ตามข้อตกลงทนายความในส่วนที่ 2 ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด แม้เป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขการชำระหนี้ในอนาคตจำนวนรวม 20,314,693.08 บาท เจ้าหนี้ก็มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ค่าทนายความในส่วนที่ 2 โดยมีเงื่อนไขได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในส่วนค่าทนายความส่วนที่ 2 ของเจ้าหนี้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าทนายความส่วนที่ 2 ในอัตราร้อยละ 10 ของยอดหนี้ตามฟ้องแต่ละคดี รวมจำนวน 20,314,693.08 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) โดยมีเงื่อนไขว่าให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวตามสัดส่วนก็ต่อเมื่อกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีต่าง ๆ แล้วไม่ว่าโดยวิธีใดจากการดำเนินคดีของเจ้าหนี้ตามสัญญาว่าจ้าง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share