คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3679/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์คือโจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งซึ่งถูกรางวัลแล้วสลากกินแบ่งดังกล่าวสูญหายไป โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในคำฟ้องว่าโจทก์ได้ซื้อสลากกินแบ่งดังกล่าวมาจากผู้ใด เมื่อใด เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา อีกทั้งจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสลากกินแบ่งซึ่งถูกรางวัลมาแสดง สำเนาภาพถ่ายสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลซึ่งแนบมาท้ายฟ้องเป็นภาพถ่ายจากสลากปลอมดังนี้ จำเลยมิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวสะเรียง อัศววุฒิพงษ์เป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์เป็นผู้ค้าและรับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ได้รับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2528 จากผู้ถูกรางวัล ต่อมาโจทก์ส่งสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลดังกล่าวโดยทางเครื่องบินมาให้นางสาวสะเรียง อัศววุฒิพงษ์ ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปขึ้นรางวัลจากจำเลย แต่ปรากฏว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวได้สูญหายไม่ถึงมือผู้รับ ในจำนวนสลากกินแบ่งที่สูญหายไปมีสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลที่ 2 จำนวน 1 ฉบับ มีสิทธิรับเงินรางวัล 200,000 บาทโจทก์แสดงความจำนงขอรับเงินรางวัลจำนวนดังกล่าวหลายครั้ง แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,493.15บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า นางสาวสะเรียง อัศววุฒิพงศ์ ไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดี โจทก์ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่ถูกรางวัลที่ 2 ตามฟ้อง โจทก์ไม่ได้รับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลตามฟ้อง จำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ หากโจทก์มีสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลมาแสดงจำเลยก็จะจ่ายเงินให้ ภาพถ่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่ได้ถ่ายจากสลากที่ถูกรางวัลที่แท้จริง แต่เป็นภาพถ่ายสลากปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์รับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลจากผู้ใดเมื่อวันเดือนปีเวลาใด และรับซื้อไว้เป็นเงินเท่าใดเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กล่าวคือ หลังจากที่จำเลยประกาศผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้วโจทก์กับพวกจึงได้แจ้งความอ้างว่าโจทก์รับซื้อสลากที่ถูกรางวัลแล้วสลากสูญหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่าลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามเอกสารหมาย จ.1มีลักษณะแตกต่างกับลายมือชื่อโจทก์ในสำเนาภาพถ่ายบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีในช่องผู้แจ้งตามเอกสารหมาย จ.6 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางสาวสะเรียงฟ้องคดีตามเอกสารหมาย จ.1ปรากฏว่าคดีนี้ตัวโจทก์ได้มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลเมื่อวันที่8 กันยายน 2530 และได้ลงลายมือชื่อในฐานะพยานและฐานะโจทก์ไว้ในคำให้การพยานต่อหน้าศาลแล้ว ศาลฎีกาได้เปรียบเทียบลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 กับลายมือชื่อโจทก์ในคำให้การพยานดังกล่าวแล้ว เห็นว่า มีลีลาการเขียนและลักษณะตัวอักษรที่เขียนหวัดจนอ่านไม่ออกเหมือนกันทั้งสองลายมือชื่อจึงน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ส่วนลายมือชื่อโจทก์ในสำเนาภาพถ่ายบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมายจ.6 เป็นลายมือเขียนหวัดแกมบรรจง อ่านได้ความว่า นายศรียุทธตัณมุขยกุล ซึ่งมีลักษณะการเขียนคนละแบบกับลายมือชื่อดังกล่าวข้างต้น แม้จะไม่เหมือนกับลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจแต่ลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจมีลักษณะเหมือนกับลายมือชื่ออันแท้จริงของโจทก์ที่ลงไว้ในบันทึกคำให้การพยานต่อหน้าศาล ประกอบกับนางสาวสะเรียงได้เบิกความยืนยันว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้พยานฟ้องคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 จำเลยมิได้สืบพยานหักล้างในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสาวสะเรียงฟ้องคดีแทนตามเอกสารหมาย จ.1 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสองว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลที่ 2 ตามฟ้องจากผู้ใด วันใด ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเพราะไม่ทราบว่าผู้ใดนำสลากกินแบ่งฉบับดังกล่าวมาขายให้โจทก์ เป็นฟ้องเคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งถูกรางวัลที่ 2จำนวน 1 ฉบับ จากผู้ถูกรางวัล ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 แต่สลากกินแบ่งดังกล่าวสูญหายไปในระหว่างส่งทางเครื่องบินมารับเงินรางวัลจากจำเลย จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลแก่โจทก์ สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์คือโจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งถูกรางวัลที่ 2 จำนวน 1 ฉบับ แล้วสลากกินแบ่งดังกล่าวสูญหายไป โดยไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อสลากกินแบ่งดังกล่าวจากผู้ใด เมื่อใดอีก เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา อีกทั้งจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลมาแสดง สำเนาภาพถ่ายสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลของโจทก์ท้ายฟ้องไม่ได้ถ่ายจากสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลที่แท้จริงเป็นภาพถ่ายจากสลากปลอม จำเลยไม่ได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดีแต่ประการใด ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยข้อสามมีปัญหาว่า โจทก์ได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับหมายเลข 6757954 หมวด ก และ ข ที่ถูกรางวัลที่ 2งวดวันที่ 16 มิถุนายน 2528 ฉบับที่แท้จริง และโจทก์มีสิทธิรับเงินรางวัลจากจำเลยหรือไม่โจทก์มี ตัวโจทก์ นางสาวสะเรียง อัศววุฒิพงษ์นายสมเกียรติ อัศววุฒิพงษ์ ตัวแทนของโจทก์ นายเสน่ห์ มาเนียมหัวหน้าแผนกสินค้าภายในประเทศบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด สำเนาภาพถ่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลหมายเลข 6757954 หมวด ก และ ขงวดประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2528 เอกสารหมาย จ.4 และใบรับส่งพัสดุภายในประเทศ เอกสารหมาย จ.5 เป็นพยานหลักฐานได้ความว่าโจทก์ได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับที่ถูกรางวัลที่ 2 จำนวน 1 ฉบับจากนายดวงจิตร ขันแก้ว ตามชื่อและที่อยู่ด้านหลังสลากโดยโจทก์ได้ถ่ายภาพสลากกินแบ่งฉบับนั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลังไว้ ดังปรากฏตามเอกสาร จ.4 แล้วโจทก์ได้ส่งสลากกินแบ่งฉบับดังกล่าวพร้อมกับสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลที่ 5 และสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลเลขท้าย 2ตัว 3 ตัว รวมหลายร้อยฉบับ ซึ่งโจทก์รับซื้อไว้ในคราวเดียวกันจากจังหวัดเชียงใหม่ ทางเครื่องบินของบริษัทเดินอากาศไทย จำกัดตามใบรับส่งพัสดุเอกสารหมาย จ.5 มาให้นางสาวสะเรียงตัวแทนโจทก์ที่กรุงเทพมหานคร นำไปขึ้นเงินรางวัลกับจำเลย แล้วพัสดุดังกล่าวหายไปตามหนังสือรับรองของบริษัทเอกสารหมาย จ.14 โจทก์จึงไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งตามบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.6 โดยระบุหมายเลขสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลที่ 2 และที่ 5 พนักงานสอบสวนได้แจ้งการอายัดไปยังจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 จำเลยมิได้สืบพยานหักล้างหลักฐานโจทก์ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบปัญหาต่อไปมีว่าสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลที่ 2 ฉบับดังกล่าวเป็นสลากกินแบ่งปลอมหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ตอนโจทก์ขอรับเงินรางวัลจากจำเลย จำเลยปฏิเสธอ้างว่าโจทก์ไม่มีสลากกินแบ่งฉบับที่ถูกรางวัลมาขอรับเงิน ตามเอกสารหมาย จ.12 มิได้อ้างว่าเป็นสลากปลอมแต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดี จำเลยนำสืบอ้างว่า นางสาวอัจฉราญาโณทัย ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสลากกินแบ่งของจำเลยและพันตำรวจโทศรีวิทย์ เจียมเจริญ ผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์เอกสารของศาลได้ตรวจสำเนาภาพถ่ายสลากกินแบ่ง เอกสารหมาย จ.4 แล้วเห็นว่า เป็นภาพถ่ายจากสลากกินแบ่งปลอมโดยมีการแก้ไขหมายเลขของสลากหลายหลักและเดือนกับลายเส้นประจำต่อของสำเนาภาพถ่ายสลากกินแบ่งเอกสารหมาย จ.4 ไม่มี จึงไม่อาจตรวจสอบกับลายเส้นประจำต่อที่ต้นขั้วสลากได้ตามรายงานการตรวจเอกสารหมาย ล.5 และ ล.9 โดยนางสาวอัจฉราเบิกความว่าสำเนาภาพถ่ายไม่ชัดเจน และในรายงานของนางสาวอัจฉราเอกสารหมาย ล.5 ระบุว่าตัวเลขบางตัวคล้ายถูกแก้ไข ส่วนรายงานของพันตำรวจโทศรีวิทย์ได้ระบุว่าหมายเลข 6757954 ในสำเนาภาพถ่ายเอกสารของกลางมีการแก้ไขตัวเลขหลายหลักให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิมและเดือน “มิถุนายน” ไม่ใช่ตัวอักษรที่พิมพ์จากแม่พิมพ์นั้น เห็นว่าการตรวจพิสูจน์ว่ามีการแก้ไขหมายเลขและเดือนในสลากกินแบ่งหรือไม่ น่าจะตรวจพิสูจน์จากสลากกินแบ่งฉบับที่แท้จริงเพราะร่องรอยการแก้ไขอาจปรากฏเด่นชัด แต่ถ้าตรวจพิสูจน์จากสำเนาภาพถ่ายที่มีการถ่ายซ้ำกันหลายครั้ง ตัวเลขและตัวอักษรในสลากจากภาพถ่ายอาจจะเลอะเลือนและเป็นสีดำ ไม่มีสีสันและคมชัดเหมือนตัวเลขและตัวอักษรในสลากที่แท้จริง การตรวจดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่าสำเนาภาพถ่ายสลากกินแบ่งเอกสารหมาย จ.4 ได้ถ่ายจากสลากปลอมหรือไม่ ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ตั้งใจถ่ายภาพสลากกินแบ่ง เอกสารหมาย จ.4 ไม่ให้ติดลายเส้นประจำต่อ เพื่อไม่ให้ตรวจสอบกับลายเส้นประจำต่อที่ต้นขั้วสลากกินแบ่งนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าสลากกินแบ่งฉบับดังกล่าวหายไป โดยได้ระบุหมายเลขไว้ด้วย ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6หากคำแจ้งความของโจทก์ไม่เป็นความจริง เพราะมีผู้นำสลากกินแบ่งฉบับที่ถูกรางวัลมาขอรับเงินรางวัลและพิสูจน์ได้ว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริง โจทก์อาจจะต้องเสี่ยงต่อความผิดทางอาญาประกอบกับจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2530 ตาม เอกสารหมายจ.8 หลังจากโจทก์แจ้งอายัดเกือบ 2 ปี ว่า ยังไม่มีผู้ใดนำสลากกินแบ่งฉบับดังกล่าวมาขอรับเงินรางวัล ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้ซื้อสลากกินแบ่งหมายเลข 6757954 หมวด ก และ ข ซึ่งถูกรางวัลที่ 2 ไว้จากผู้ถูกรางวัล แล้วสลากกินแบ่งฉบับดังกล่าวหายไปโจทก์จึงมีสิทธิรับเงินรางวัลจากจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้เงินโจทก์ จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share